พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง สุพรรณบุรี ถูกขุดกรุ ราวปี พ.ศ. 2447 บริเวณ วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เดิมทีพระชุดนี้ที่มีการขุดค้นพบ เกิดจากการลักลอบขุดจากพวกที่ชอบขโมย ขุดหาของมีค่า ตามเจดีย์ ตามฐานพระต่างๆ เพื่อหวังจะได้ของมีค่า เช่น ทองคำ เครื่องประดับ อัญมณีต่าง ๆ ที่คนโบราณมักจะฝังใส่รวมปะปนไว้กับพระเครื่อง แต่ที่กรุวัดบ้านกร่างนี้กลับไม่พบ มีเพียงแต่พระเครื่องพิมพ์พระพุทธซุ้มชินราชเท่านั้น
พระเครื่องที่ถูกลักลอบขุด ขึ้นมาจากกรุวัดบ้านกร่างนี้มีเป็นจำนวนมาก ได้ถูกนำมากองรวมกันไว้ บริเวณใต้ต้นโพธิ์หน้าวัด ในยุคนั้นพระเครื่องยังไม่เฟื่องฟูไม่มีค่ามีราคาอะไร และความเชื่อในสมัยนั้น ไม่นิยมนำพระจากวัดที่ไม่ใช่ของตัวเองเข้ามาบูชา ในบ้านเนื่องจากพระเครื่องมีพุทธคุณ เป็นของสูง สมควรไว้ที่จะเก็บไว้ที่วัดมากกว่า
หลังจากพวกที่ลักลอบขุดพระไม่ได้สมบัติมีค่าอะไร พระเครื่องที่กองไว้บริเวณต้นโพธิ์อย่างไร้ค่าก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นเป็นเวลานานหลายปี เด็ก ๆ บ้านใกล้เรือนเคียงบริเวณวัด บางคนได้นำพระที่กองไว้อย่างไร้ค่านี้ มาเล่นทอยเส้น โยนกองกันตามปะสาเด็กๆ หรือบางคนก็ขว้างปาเล่นไปลงแม่น้ำท่าจีนหน้าวัดบ้านกร่างอย่างไร้ความหมาย
ระยะหลังเรื่องของความเชื่อของการที่ไม่นำพระเข้าบ้านก็เปลี่ยนไป อีกทั้ง มีชาวบ้านบริเวณนั้นได้นำพระขุนแผนบ้านกร่างที่กองไว้ อาราธนาติดตัวไปไหนมาไหนและได้พบเจอปาฏิหาริย์ มีโชคมีลาภ คงกระพันชาตรี แคล้วคลาดอันตราย ประสบการณ์ต่างๆ อย่างเหลือเชื่อเหล่านี้ ทำให้พวกเขามั่นใจว่าเป็นเพราะบารมีพระขุนแผนบ้านกร่างที่พวกเขาได้พกพาอาราธนาติดตัวไปอย่างแน่นอน
จากนั้นมาพระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง จึงเริ่มเป็นที่เสาะหาของผู้ที่ชื่นชอบพระเครื่องในยุคนั้น พระเครื่องที่เคยทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ถูกชาวบ้านหยิบนำติดตัวไปไหนมาไหนแล้วเอากลับไปบ้านด้วย พระที่กองอยู่มากมายก็เริ่มน้อยลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดวัด จนมีชาวบ้านบางคนนึกได้ว่าเคยได้มีคนขว้างลงไปในแม่น้ำ ถึงกับไปลงงมหาในแม่น้ำกันเลยก็มี และสุดท้ายพระที่เคยกองเรี่ยราดตามพื้นก็ไม่มีเหลือแม้แต่เศษหักหรือชำรุด เหลือเพียงเรื่องราวที่เล่าขานให้ได้ทราบกันเท่านั้น
พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง ไม่ได้มีบันทึกที่แน่ชัดว่า ผู้ใดเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐาน กันว่า ผู้ที่สร้างพระเครื่องชุดนี้ น่าจะเป็น สมเด็จพระนเรศวร มหาราช เนื่องด้วยพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง สุพรรณบุรี และพระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา เป็นพระที่ มีพุทธลักษณะแทบจะเหมือนกันทุกประการ พูดง่ายๆ ว่าบางพิมพ์แทบจะเป็นพิมพ์เดียวกันซะด้วยซ้ำไป
พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล เชื่อกันว่า ผู้สร้าง คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยสร้างไว้ เพื่อเฉลิมฉลอง หลังได้รับชัยชนะจากการทำยุทธหัตถี กับสมเด็จพระมหาอุปราช ของประเทศพม่า ด้วยเหตุนี้เอง จึงสันนิษฐานว่า คนที่แกะแม่พิมพ์ถวาย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช น่าจะเป็นคนเดียวกันกับที่ทำแม่พิมพ์ พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง
พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง มีด้วยกัน หลายสิบพิมพ์ สามารถแยกหลัก ๆ ได้ดังนี้ 1.พระขุนแผนทรงพลใหญ่ 2.พระขุนแผนทรงพลเล็ก 3.พระขุนแผนห้าเหลี่ยมอกใหญ่ 4.พระขุนแผนห้าเหลี่ยมอกเล็ก 5.พระขุนแผนพิมพ์เถาวัลย์เลื้อย 6.พระขุนแผนพิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว 7.พระขุนแผนพิมพ์พลายเดี่ยว (มีพิมพ์แยกย่อยหลายสิบพิมพ์) 8.พระขุนแผนพิมพ์พลายคู่ (เป็นพระสององค์ติดกันมีพิมพ์แยกย่อยหลายสิบพิมพ์) โดยพิมพ์ที่เป็นปางสมาธิจะมีเพียงแค่ พระขุนแผนทรงพลใหญ่ พระขุนแผนทรงพลเล็ก พระขุนแผนพิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว และ ขุนแผนพิมพ์พลายคู่อีกหนึ่งพิมพ์คือพิมพ์สองปาง ซึ่งจะเป็นองค์หนึ่งจะเป็น ปางมารวิชัย และอีกองค์จะเป็น ปางสมาธิ
เรื่องโดย : จ่าโกวิท แย้มวงษ์