เกร็ดชีวิตคนดัง

ประพันธ์ พงษ์ภู่ เจ้าของฉายา ลุงเตี้ย โอ่งวิเศษ เซียนพระเครื่องประจำโต๊ะพระเนื้อชินยอดนิยม

%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b9%8c-%e0%b8%9e%e0%b8%87%e0%b8%a9%e0%b9%8c%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b9%88-%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87

          ประพันธ์ พงษ์ภู่ เจ้าของฉายา ลุงเตี้ย โอ่งวิเศษ เซียนพระเครื่องประจำโต๊ะพระเนื้อชินยอดนิยม อีกทั้งยังเป็นผู้ช่วยประจำโต๊ะเบญจภาคี ช่วยรับพระ คืนพระอีกด้วย ในบทบาทหน้าที่ของแวดวงพระเครื่อง ซึ่งเราจะทราบกันดีว่าลุงเตี้ยนั้นเป็นเซียนพระที่มีความสามารถคนหนึ่งที่ผู้ใหญ่ในวงการพระหลายท่านเมตตา ด้วยบุคลิกที่อารมณ์ดี ยิ้มง่าย เข้าได้กับทุกคน แต่มีอีกบทบาทหนึ่งที่เราไม่เคยรู้ และลุงเตี้ยก็ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนให้ทราบ นั่นคือบทบาทของการเป็นข้าราชการของแผ่นดิน หนึ่งอาชีพที่ลุงเตี้ยสุดภาคภูมิใจ วันนี้เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกันจึงอดไม่ได้ที่จะมาแบ่งปัน ให้ทุกคนได้รู้จักเซียนพระคนนี้ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์นี้

ลุงเตี้ย โอ่งวิเศษ เล่าถึงบทบาทการทำงานรับราชการให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า พื้นเพผมเป็นคนอำเภอบางมูลนาก จ.พิจิตร เมื่อปี 2534 ก็มารับราชการอยู่ที่ จ.สุโขทัย ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งนายช่างไฟฟ้าชำนาญงาน ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุโขทัย กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมชอบประดิษฐ์เครื่องมือการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเคยได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย เคยได้ไปร่วมแข่งขันและออกรายการโทรทัศน์มาแล้วหลายช่อง แต่เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งที่ผมจำไม่เคยลืม คือผมเคยได้มีโอกาสถวายงานกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับเป็นความภาคภูมิในในอาชีพรับราชการของผมเลยครับ

ส่วนที่ว่าผมสนใจพระเครื่องและเริ่มเล่นพระเครื่องได้ยังไงนั้น ผมก็เริ่มพร้อมๆ กับที่ผมรับราชการเลยคับคือปี 34 ซึ่งจริงๆ แล้วผมเองก็มีความสนใจพระเครื่องอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่รู้ว่าพระเครื่องจะมีการเล่นหาซื้อขายได้

พอมาอยู่ที่สุโขทัย ที่นี่ก็รู้ๆกันอยู่ว่าเป็นเมืองพระเครื่องพระกรุ ตอนนั้นก็เอาพระที่พ่อให้มาแขวนขึ้นคอ ด้วยสายงานด้านราชการของผมเกี่ยวกับทางด้านเกษตรจึงได้พบกับคนในท้องถิ่นชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา และบางครั้งก็ผมไปเป็นวิทยากร ก็มักจะมีคนเข้ามาขอดูพระที่ผมแขวนอยู่เป็นประจำ บางคนมาขอซื้อบูชาก็มี ได้มีโอกาสไปเดินตลาดพระ จึงทำให้รู้ว่าพระเครื่องก็สามารถซื้อแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้

จุดประสงค์แรกที่ศึกษาพระเครื่องไม่ได้นึกถึงการซื้อขายหรอกครับ ผมเพียงแค่อยากศึกษาและอยากมีความรู้ไว้บ้าง เพราะเวลาไปเป็นวิทยากรบางครั้งเห็นชาวบ้านแขวนพระ พอเขาเห็นผมแขวนพระเขาก็มักจะเอาพระเครื่องมาให้ดู บางคนก็เอาพระมาให้ผม ทีนี้ผมก็เริ่มเปิดดูตำราการดูพระเครื่อง และได้รู้จักกับนักขุดพระเขาก็เล่าเรื่องการขุดพระ เอาพระเครื่องมาให้ผมศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นพระกรุ เรื่องไหนผมไม่เข้าใจก็สอบถามเขา ไปๆ มาๆ ก็พลอยมีความรู้ไปด้วย

ต่อมาผมได้รู้จักกับเซียนพระท่านหนึ่งเขาซื้อพระขายพระอยู่เขาก็แนะนำและสอนผมให้ดูพระ และบางครั้งผมได้พระที่บ้านให้มาก็เอาไปให้เซียนพระดูเขาก็ขอซื้อ แต่ตอนนั้นผมยังไม่ได้ปล่อยให้บูชาก็เก็บเอาไว้ก่อน แล้วมานั่งยิ้มนึกในใจว่าเรามีพระดีพระแท้มีคนถามซื้อด้วย ทำให้ผมเช่าบูชาพระใหญ่ เจอทั้งพระเก๊ พระแท้ เพราะยังไม่เก่ง ยังไม่เป็นพระ มีความรู้แค่พื้นฐานก็โดนเก๊สิครับ

พอพูดถึงตรงนี้ลุงเตี้ยก็หัวเราะลั่นแล้วเล่าต่อด้วยใบหน้าประดับยิ้มว่า “แต่พอองค์ไหนเซียนพระที่รู้จักบอกแท้ก็เก็บไว้ดูเอาไว้ส่อง แล้วก็เริ่มซื้อขายแรกๆ ก็เอาพระที่พ่อให้มานั่นล่ะขายไปจนหมด” ถึงตรงนี้เสียงหัวเราะก็ระเบิดทั้งผู้ถูกสัมภาษณ์ และผู้สัมภาษณ์

 

ด้วยความที่เราก็อยากจะเรียนรู้พระเครื่อง ผมเลยเอาพระไปส่งประกวดและได้รู้จักกับเซียนพระ นักข่าว คนวงการพระหลายท่าน อะไรไม่รู้ถามก็ถาม บางครั้งที่เอาพระไปส่งประกวดก็เนียนๆ เข้าสอบถามพูดคุยทำความคุ้นเคยขอเบอร์ให้เบอร์โทรกันบ้าง อาศัยที่ว่าผมเป็นคนไม่มีอะไรกับใคร เฮฮากับเขาไปเรื่อย ไปขอดูพระไปขอเรียนรู้พระกับหลายคนไปเรื่อย จนได้รู้จักกับเฮียอ้า สุพรรณ พี่น้อยอุตรดิตถ์ พี่ป๋อง สุพรรณ เวลาท่านเดินทางผ่านไปทางเหนือ ไปเชียงใหม่หรืออุตรดิตถ์ ท่านก็จะโทรมา ”อาเตี้ยอยู่บ้านป่าว”คำนี้ประจำ(555)

ท่านแวะมาทานข้าวที่สุโขทัย ผมก็จะหาพระ นัดคนเอาพระมาให้ดู แล้วถ้าเฮียอ้า หรือพี่ป๋องมีพระอะไรก็เอาให้ผมศึกษา ผู้ใหญ่เหล่านี้เป็นครูผมทั้งนั้นเลย สมัยก่อนยังไม่มีเฟสบุ๊ค ยังไม่มีไลน์ ถ้ามีพระกรุที่สวยๆ ผมก็จะโทรศัพท์หากันแล้วส่งรูปไปให้ดูทางจดหมาย

ผมเล่นพระมาเรื่อยๆ จนผู้ใหญ่ไว้วางใจให้ผมมาเป็นกรรมการรับและตัดสินพระอยู่โต๊ะเนื้อชินยอดนิยม และจับพลัดจับผลูมาช่วยที่โต๊ะเบญจภาคี ซึ่งพระชุดนี้ในแต่ละงานมีมีมูลค่าเป็น 100 ล้าน แต่ทางผู้ใหญ่ให้เรามาช่วยดูตรงนี้ ผู้ใหญ่อาจจะเห็นว่าเราซื่อสัตย์เป็นคนตรง จึงให้เรารับผิดชอบคืนพระ ทวนพระ คอยเช็คพระ ดูแล ตรงนี้ ทำให้ผมมีโอกาสได้ศึกษาพระเบญจภาคี ได้เห็นของแท้ ได้ใกล้ชิดเซียนพระเบญจภาคี อย่างตอนเขาตัดสินเขาก็จะพูดขึ้นมาเราก็จะฟังว่าเนื้อแบบนี้ พิมพ์นี้ผิดตรงไหน แล้วเราก็อนุญาตเขาดูศึกษาไปในตัว เรียกว่ามีโอกาสแล้วก็หาความรู้ให้เต็มที่คับ

เมื่อถามว่าพระที่ลุงเตี้ยถนัดคือสายไหน ลุงเตี้ยหัวเราะก่อนจะบอกว่า ผมเป็นกรรมการประจำโต๊ะเนื้อชินยอดนิยมก็ต้องพระเนื้อชิน และก็มีพระเนื้อดิน พระกรุสายภาคเหนือ และตอนนี้ก็เริ่มศึกษาพระเบญจภาคีด้วย

ส่วนวิธีศึกษาพระเครื่องแบบฉบับลุงเตี้ยคือ เริ่มจากการศึกษาด้วยตัวเองก่อน ก็ดูจากหนังสือ อย่างเราอยากศึกษาพระอะไรเราศึกษาไปก่อนเลย ว่าพิมพ์เป็นยังไง เนื้อหาเป็นแบบไหน สมัยนี้ง่ายครับจากหนังสือก็ได้ หรือดูจากยูทูป ค้นหาในเว็ปแปปเดียวก็เจอ ถ้าไม่เข้าใจติดขัดตรงไหนก็เข้าหาเซียนพระ ไปถามเขาไปขอความรู้จากเขาเลย แต่ก่อนจะไปก็ดูก่อนว่าคนไหนเก่งพระอะไรก็ดูจากนิตยสารพระนั่นล่ะ พอเรามีองค์ความรู้แล้วก็ออกภาคปฏิบัติ คือซื้อขายแลกเปลี่ยน พออยู่ในสนามหรือวงการแล้วทีนี้ก็หาความรู้ไปได้ตลอดเลย เพราะวงการพระมันกว้างมีความรู้ให้เราได้ศึกษาไม่สิ้นสุด อย่างผมทุกวันนี้ก็ยังคงศึกษาอยู่ความรู้ยิ่งหาก็ยิ่งเพิ่มพูนความรู้ มันไม่มีที่สิ้นสุดหรอกครับ

สำหรับนักสะสมพระเครื่องที่อยากจะเข้าสู่วงการพระ ลุงเตี้ย โอ่งวิเศษ แนะนำว่า จากประสบการณ์ผ่านมา บางคนเข้ามาก็ท้อ บางคนก็สนุก เพราะจุดประสงค์แตกต่างกัน ผมอยากเล่นพระกันให้สนุก อย่าไปซีเรียส อย่าไปเครียดมากเพราะเดี๋ยวจะท้อ ต้องศึกษาให้เป็นให้เข้าใจและต้องถูกหลักมาตรฐานสากลก่อนค่อยลงสนาม ไม่ใช่ทฤษฎียังไม่เป็นแต่จะไปปฏิบัติเลยมันไม่ได้ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปอย่าไปรีบ และก็อยากให้เอาพระออกมาให้คนอื่นดูด้วย เพราะบางทีถ้าเราไม่เอาออกมาถ้าพระที่เราเก็บเป็นพระเก๊อยู่เราก็เชื่อตามแนวนั้นเก็บแต่พระเก๊ไปตลอด แบบนี้ไม่ได้คับต้องเอาออกมา ไม่ขายก็เอาให้ให้เซียนพระที่ชำนาญดูก็ได้ แล้วรับฟังเขาด้วยนะ ไม่ใช่ว่าพอเขาบอกเก๊ก็ไม่รับฟังแบบนี้เมื่อไรจะได้ความรู้ ต้องเปิดหูเปิดตาเปิดให้กว้างๆ จะอยู่ในวงการพระได้นานจ้า

ก่อนจะจบบทสัมภาษณ์ลุงเตี้ย โอ่งวิเศษ ได้บอกว่า การทำงานทุกอย่างไม่ว่าจะในบทบาทไหนเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด อย่างเช่นผมตอนเป็นข้าราชการก็ต้องทำหน้าที่ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ทำงานตามที่มอบหมายให้ดี เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และในบทบาทหน้าที่ของเซียนพระและคณะกรรมการรับและตัดสินพระก็ต้องทำให้ดีเช่นกัน ซื่อสัตย์ต่อตนเองและต่อคนอื่น ถ้าทำแบบนี้ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนก็จะมีคนรักเมตตา และเอ็นดูเราครับ

สำหรับใครสนใจที่จะศึกษาพระเครื่องเนื้อชินยอดนิยม พระกรุ หรือแม้แต่เบญจภาคี ลุงเตี้ย โอ่งวิเศษ สามารถโทรนัดสอบถามได้ที่ 085-049-9620 ในวันธรรมดาจะประจำการอยู่จังหวัดสุโขทัย โทรนัดได้นอกเวลาราชการ เพราะลุงเตี้ยบอกว่ายังรับราชการอยู่ ส่วน เสาร์-อาทิตย์ก็สามารถพบกันได้ตามงานประกวดพระฯ หรือจะแอดเฟสบุ๊คก็ได้ที่ FB : Prapan Pongpu แอดมาหา เข้ามาทักกันได้เพราะลุงเตี้ย โอ่งวิเศษใจดี…จริงใจ รับใช้ทุกคน

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox