พระเก่าที่น่าเก็บ

ชี้ตำหนิพระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ หลังโต๊ะกัง วัดมหาธาตุฯ โดย อ.สมาน คลองสาม

%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%95%e0%b8%b3%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b9%87%e0%b8%88%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b8%ab%e0%b8%b1%e0%b8%87

          สวัสดีครับท่านผู้อ่านพระเครื่องอภินิหารทุกท่าน และท่านผู้ที่ติดตามการเขียนที่กระผมได้นำเสนอมายังท่านผู้อ่านให้ได้รับคงามรู้กันพอสมควร ตามที่กระผมได้ศึกษามาเป็นเวลาอันยาวนานหลายสิบปีที่ผ่านมา ในฉบับนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องพระสมเด็จอรหัง หลังโต๊ะกัง พิมพ์ฐานคู่ เนื้อผสมผงอันวิเศษพร้อมด้วยว่านและมวลสารที่ท่านได้เก็บมาจากที่ต่างๆ อีกมากมายที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังเช่น กรวด ทราย และผงตะไคร่ของใบเสมาตามวัดต่างๆ พร้อมทั้งตะไคร่ของเจดีย์โบราณที่สำคัญทั่วประเทศไทย ท่านได้นำเอามาเป็นส่วนผสมพร้อมด้วยว่านชนิดต่างๆ ที่มีคุณวิเศษในว่านนั้นอีกมากมายหลายชนิดและมวลสารอีกนิดหนึ่งที่เราได้เห็นด้วยตาเปล่า คือสีแดงที่ผสมอยู่ในเนื้อของพระ ก็คืออิฐมอญตามเจดีย์เก่าที่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่สมัยโบราณแล้วชำรุดพังลงมาบ้างเป็นบางส่วนที่ท่านได้ไปเก็บนำมา เมื่อเวลาที่ท่านออกเดินธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ในสมัยอยุธยาที่เสียกรุงให้กับพม่าผู้ที่มารุกราน แล้วท่านก็จึงได้หลบมาอยู่ที่วัดพลับฝั่งธนบุรีในสมัยนั้น

          ครั้งเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชได้รวมไพร่พลและนำกำลังเท่าที่มีเข้าไปตีทัพ ไล่แม่ทัพชาวพม่าที่เฝ้าเมืองอยุธยาให้ออกไปจนสำเร็จแล้วจึงตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง ต่อมาหลังจากที่ได้ตั้งเมืองหลวงที่ธนบุรีแล้วก็ปล่อยให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองร้างมีชุมชนเก่าอยู่บ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น เมื่อท่านอยู่จำพรรษาที่วัดพลับแล้วท่านก็ยังได้เดินธุดงค์ไปยังวัดเก่าที่อยุธยา คือวัดท่าหอยอยู่ริมคลองตะเคียนอีกหลายครั้ง การที่พระเกจิอาจารย์ในสมัยโบราณ (สมัยก่อนที่เราพูดกัน) จะทำการสร้างพระแต่ละครั้งจะต้องออกเดินธุดงค์หาที่อันสงบเพื่อให้มีศีลสมาธิ และจิตต้องสงบจึงจะเกิดปัญญาเมื่อทั้งสามข้อนี้สำเร็จท่านก็จะนั่งสมาธิ เพื่อนั่งกระสินให้จิตเกิดพลังจึงจะทำการปลุกเสกพระเครื่องนั้นๆ ได้ ในการเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาและเมืองเก่าที่รกร้างนั้น

          ในระหว่างเดินธุดงค์ท่านก็จะเก็บว่านและกิ่งไม้แห้งจากต้นไม้ที่เป็นมงคลพร้อมทั้งอิฐและดินที่อยู่ในบริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นนำกลับมาด้วย นอกจากสิ่งของอันเป็นมงคลแล้วการเดินธุดงค์ของพระในสมัยเก่าก็ยังได้เก็บไม้และว่านต่างๆ ที่เป็นสมุนไพรเพื่อนำมาเป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับบรรดาญาติโยมทั้งหลายที่มีความทุกข์ทางด้านโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วยจิตอันเป็นเมตตาของท่าน เพราะฉะนั้นการที่พระเกจิอาจารย์ต่างๆ จะคิดสร้างพระหรือวัตถุมงคลแต่ละอย่างจึงต้องใช้ความมานะพยายามอดทนเป็นอย่างยิ่งกว่าจะหามวลสารให้ครบและยังต้องทำจิตใจให้สงบบริสุทธิ์อีกด้วย

          เรากลับมาเข้าเรื่องพระเครื่องเนื้อผง พิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้า (คล้ายชิ้นฟักตามคำพูดของคนจีนสมัยเก่า คือเป็นรูปของชิ้นฟักที่ชาวจีนในสมัยเก่าที่ทำการค้าขายอาหารเป็นร้านข้าวต้ม และข้าวสวยพร้อมด้วยกับข้าวอีกหลายๆ อย่าง อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือต้มจืดที่ต้มเสร็จแล้วก็จะมาใส่ถ้วยนำมาใส่ซึ้งและนึ่งให้ร้อนตลอดเวลาต้มจืดสำคัญอยู่สามอย่าง คือ 1.ดอกไม้จีน 2.มะระ 3.ที่ขาดไม่ได้คือฟักที่หั่นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากับซี่โครงหมูมีขายอยู่มากมายจนคุ้นตา เมื่อเจอพระที่เป็นรูปร่างแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับชิ้นฟักที่ต้มอยู่ในร้านขายข้าวจึงนึกถึงภาพเลยเรียกตามความคุ้นเคยว่า ชิ้นฟัก) ซึ่งเป็นรูปลักษณะโดยรวมของพระสมเด็จอรหังที่สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน)
ส่วนด้านรูปลักษณะขององค์พระด้านในของพระอรหัง พิมพ์ฐานคู่ ถ้าเราสังเกตดูลักษณะศิลปะขององค์พระพุทธปฏิมาจะมีความคล้ายกับพระบูชาในสมัยอยุธยามาเป็นแม่แบบในการแกะแม่พิมพ์ก็เป็นไปได้ เพราะรูปลักษณะของพระอรหังและพระพุทธรูปของสมัยอยุธยาตอนปลาย มีความคล้ายกันมากดูจากการประทับนั่งขัดสมาธิราบอยู่บนฐานสำเภา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระบูชาสมัยอยุธยาตอนปลาย
ต่อจากนั้นเลยขึ้นไปที่ลำพระองค์ (ลำตัว) จะเป็นทรงกระบอกตั้งตรงนั่งยืดอกจนตั้ง ส่วนลำแขนทั้งสองข้างทิ้งลงแทบจะขนานกับลำตัว ส่วนมือทั้งสองข้างมาประสานกันจนคล้ายเป็นรูปตัว (U) ส่วนลำคอจะเล็กและใบหูก็จะเล็กเช่นกัน มองดูเหมือนกับใบหูของพระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ที่ติดพอเห็นรำไรเท่านั้น

พระสมเด็จอรหัง หลังโต๊ะกังใหญ่
ส่วนพระสมเด็จอรหังที่นำมาให้ท่านผู้อ่านได้ชมองค์นี้เป็นพระสมเด็จอรหัง พิมพ์สามชั้น หรือพิมพ์สังฆาฏิตามที่เรียกกันทั้งสองอย่าง พระองค์นี้เป็นพระที่มีแม่พิมพ์เดียวกันกับพระสมเด็จอรหังเนื้อขาวทั่วไปทั้งด้านหน้าและด้านข้าง
ส่วนด้านหลังเป็นรูปปั๊มด้วยยันต์คำว่า “อรหัง” เป็นการปั๊มด้วยยันต์ตัวใหญ่กว่าพระสมเด็จอรหังทั่วไปตามภาษาเขียน หรือนักเล่นพระทั่วไปจะเรียกกันว่า “พระอรหัง พิมพ์สามชั้น หลังโต๊ะกังใหญ่” ซึ่งพระองค์นี้เป็นพระที่เป็นยันต์พิเศษที่หาชมได้ยากมีเซียนบางคนที่ได้เห็นเมื่อคราวที่กระผมไปส่งประกวดในงานชมรมพระเครื่องนครปฐมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน

          ผมเลยให้นักเล่นพระผู้อาวุโสที่สุดในด้านพระเนื้อผง คือ เฮียอ้า สุพรรณ แล้วกระผมก็ได้ถามว่าเฮียเคยเจอพระสมเด็จอรหัง พิมพ์สามชั้นที่มีหลังเป็นยันต์ตัวใหญ่แบบนี้มั้ย เฮียตอบกลับพระผมว่า พระพิมพ์นี้หลังแบบนี้หายากมากเฮียเคยเห็นองค์หนึ่งเมื่อหลายสิบปีมีมาแล้ว สมัยก่อนเขาเรียกพระสมเด็จอรหัง พิมพ์สามชั้น เนื้อขาว หลังโต๊ะกังใหญ่ แล้วเฮียก็พูดย้ำอีกว่า หาดูประวัติและความเป็นมาของพระสมเด็จอรหังเนื้อขาว พิมพ์สามชั้น หลังโต๊ะกังใหญ่องค์นี้ ที่กระผมผู้เขียนได้มาเมื่อประมาณ ปี 2525 กระผมได้ไปดูพระที่ตรอกวัดบางบัว ในวันพฤหัสบดี กระผมได้พบกับนักเล่นพระรุ่นพี่คนหนึ่งท่านผู้นี้ชอบเล่นเหรียญและพระกริ่ง รูปหล่อ ชื่อของท่านคือ เฮียกวง บางบัว ท่านเดินซื้อพระกริ่ง 7 รอบ ในราคาสมัยนั้นองค์ละ 700-800 บาท

          ส่วนพระกริ่งวัดตรีเทพฯ ก็อยู่ราคา 400-500 บาท พระชัยไพรีสวยก็อยู่ในราคา 1,200 – 1,500 บาท อยู่ประมาณนี้ กระผมเองชอบพระเนื้อผงเป็นหลักเพราะอาจารย์ของกระผมชอบพระสมเด็จและท่านก็มีพระสมเด็จทั้งสามวัด คือพระสมเด็จวัดระฆัง สมเด็จบางขุนพรหม และสมเด็จวัดเกศไชโย ให้ได้ดูและศึกษาตลอดมา

          นอกจากพระสมเด็จแล้วกระผมก็ยังชอบพระวัดปากน้ำทุกรุ่น และกระผมก็มีความชำนาญมาก ที่ชอบอย่างหนึ่งคือ พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ที่กระผมชอบพระหลวงพ่อปานก็เพราะว่าอาจารย์ของกระผมที่สอนให้ดูพระบ้านเดิมอยู่ใกล้วัดบางนมโค เตี่ยท่านเป็นคนจีนและเป็นช่างปูนที่ทำโบสถ์และศาลาหลังเก่าที่เห็นทุกวันนี้

          สมัยกระผมเล่นพระหลวงพ่อปานใหม่ๆ พระพิมพ์ทรงครุฑกลางสวยองค์ละ 250 บาท ถ้าทรงไก่หางห้าเส้นก็องค์ละ 1,200-1,500 บาท ส่วนพระหลวงพ่อปานพิมพ์ทรงไก่หางพวงในสมัยนั้นสภาพสวยก็อยู่ที่ราคา 4,000-5,000 บาท เท่านั้น อยู่มาวันหนึ่งเฮียกวงเจอผม เฮียเอ่ยบอกกับผมว่า วันอาทิตย์จะมีคนรู้จักกันเป็นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่มีอายุมากแล้วอยากจะปล่อยพระสมเด็จอรหังที่ครอบครองมาตั้งแต่บรรพบุรุษตกทอดกันมา โดยตระกูลของท่านเป็นผู้ใกล้ชิดกับสมเด็จพระสังฆราชสุก แห่งวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เป็นอย่างดีและได้ไปมาหาสู่โดยตลอดท่านได้เล่าอีกว่าตระกุลท่านได้รับพระราชทานจากพระหัตของพระสังฆราชโดยตรงตั้งแต่สมัยที่ท่านได้รับพระราชทานเป็นสมเด็จพระอริยวงษาญาณพระสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ในตอนแรกที่กระผมเห็นพระสมเด็จอรหัง พิมพ์สามชั้นเนื้อขาว ผมดูพิมพ์ด้านหน้าแล้วด้วยความที่กระผมชอบเล่นพระเนื้อผงและที่ได้ประสบการณ์มาเมื่อทำการพิจารณาแล้วว่าพระองค์นี้แท้แน่

          เมื่อกระผมพลิกมาดูด้านหลังจึงเห็นว่าเป็นยันต์อรหังตัวใหญ่ที่ไม่มีใครเหมือน เมื่อฟังประวัติที่เล่ามาแล้วจึงตัดสินใจเช่าซื้อมาในราคา 80,000 บาทพร้อมกับให้ผู้นำพระมาอีกหนึ่งหมื่นบาท จากนั้นก็เก็บเอาไว้เพื่อเป็นสิริมงคลต่อมาอีกหลายปีจึงมาพบกับลูกค้าที่มีน้ำใจและนิสัยดีผมจึงแบ่งให้ลูกค้าผู้นั้นไปจากวันนั้นจนถึงวันนี้น่าจะเป็นเวลาประมาณเกือบยี่สิบปี ก็ได้มีบุตรชายของท่านลูกค้าผู้มีพระคุณท่านนั้นได้นำพระสมเด็จอรหังองค์เดิม คือพิมพ์สามชั้นหลังโต๊ะกังใหญ่มาให้ผมเช่ากลับอีกครั้งในราคาตามท้องตลาดปัจจุบัน ตอนนี้จึงอยู่ในความครอบครองของกระผม ผู้ใดอยากชมพระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานสามชั้น เนื้อขาวหลังโต๊ะกังใหญ่ที่มีพระพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยม ทำมาค้าขายได้เจริญรุ่งเรือง ตามเจ้าของเดิมที่เป็นเศรษฐีมีเงินจนอายุใกล้จะ 100 ปี แล้วยังแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวงตลอดมาด้วยพุทธานุภาพของพระคาถาพญาไก่เถื่อนของพระสังฆราชสุก (สุกไก่เถื่อน) ตลอดมา

จุดสังเกตุและพิธีการดูจุดตำหนิ ของพระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ หลังโต๊ะกังกับเนื้อสีแดงมีดังนี้
1.ให้ดูขอบกระจกทั้งสามด้านจะยกขึ้นเป็นสันสูงและคม
2.ให้ดูที่ซุ้มครอบแก้วด้านบนจะโค้งกว้างไม่เหมือนซุ้มครอบแก้วของพระสมเด็จวัดระฆัง
3.ใบหน้ากลมเหมือนผลส้มโอ
4.ใบหูทั้งสองข้างจะไม่ชัด พอเห็นเป็นแนวเส้นเล็กๆ หูทางด้านซ้ายจะห่างจากใบหน้า ส่วนหูด้านขวาจะชิดกับใบหน้า
5.ลักษณะของพระจะนั่งยืดตัวจนอกตั้ง ถ้าพระติดพิมพ์สวยจะมีเนื้อนูนเป็นเส้นลำแขนทั้งสองข้างทิ้งตรงมือทั้งสองข้างประสานกันมองดูคล้ายรูปตัว (U)
6.ตรงกลางลำตัวจะเป็นร่องถ้าองค์ที่ติดพิมพ์ชัดจะมีเส้นสังฆาฏิอยู่ในร่องที่ลงมาจากด้านบนของหน้าอกตรงกลางของลำตัวจะมีเส้นสองเส้นเฉียงออกมาทางด้านซ้ายมือเราเวลาดูพระเส้นนี้น่าจะเป็นเส้นของจีวรของพระที่มีลักษณะของการห่มเฉียง (คือห่มแบบเปิดไหล่ขวา)
7.ส่วนเข่าของพระจะมีลักษณะโค้งคล้ายเรือสำเภาเข่าซ้ายมีเส้นไปติดกับข้อศอก
8.หัวฐานของฐานคมขวานชั้นล่าง หัวฐานจะชิดกับขอบซุ้มด้านซ้ายของพระคือขวามือเราเวลาดูพระ
9.ฐานคู่ชั้นล่างจะเป็นเส้นคู่ หัวฐานติดซุ้มครอบแก้วทั้งสองข้าง

         ถ้าท่านอยากเรียนรู้เรื่องของพระเครื่องมีอีกหลายช่องทางคือ อ่านในคอลัมน์บรรยายใต้ภาพ ของผมที่นิตยสารพระเครื่องอภินิหาร และทางโทรศัพท์มือถือของท่านในยูทูป พิมพ์คำว่า ตามเซียนส่องพระแล้วจะพบกับผม สมาน คลองสาม อย่างแน่นอนสวัสดีครับ

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox