วัดโคกอู่ทองจัดพิธีใหญ่เสกพระบูชานาคปรกยโสธโร นิมนต์สมเด็จสนิท วัดไตรมิตร เป็นประธานจุดเทียนชัย
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 เวลา 12.09 น. คณะกรรมการจัดสร้างมหามณฑปพระครูธำรงโพธิเขต(โสฬส ยโสธโร) ที่ประดิษฐานสรีระสังขารพระครูธำรงโพธิเขต หรือ หลวงปู่โสฬส ยโสธโร อดีตพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งภาคตะวันออก อดีตเจ้าอาวาสวัดโคกอู่ทอง ต.โพธิ์งาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ได้จัดพิธีมหาพุทธาภิเษกพระพุทธรูปนาคปรก ยโสธโร หลวงปู่โสฬส ขนาดหน้าตัก 7 นิ้ว และพระเครื่องขนาดห้อยคอ
พิธีมหาพุทธาภิเษกใหญ่ในครั้ง ได้กราบอาราธนานิมนต์ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญโญ น.ธ.เอก ป.ธ.9) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย และนั่งปรกปลุกเสก พร้อมพระเกจิภาวนาจารย์อีก 11 รูป เมตตานั่งปรกอธิษฐานจิต ประกอบด้วย
1.พระเทพประสิทธิมนต์ (โกศล มหาวีโร) เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม กรุงเทพฯ 2. หลวงปู่บุดดา วัดป่าพัฒนาใต้ สระแก้ว 3.หลวงปู่ทองดำ วัดถ้ำตะเพียนทอง ลพบุรี 4. หลวงปู่แก้ว วัดอัมพวัน อุบลราชธานี 5.หลวงปู่เร็ว วัดหนองโน อุบลราชธานี 6.หลวงพ่อจอน วัดบุญฤทธิ์ นครราชสีมา 7.หลวงพ่อเสือ วัดดอนยายเผื่อน สิงห์บุรี 8.หลวงพ่อสัญญา วัดกลางบางแก้ว นครปฐม 9.พระมหาเมืองอินทร์ วัดอนงคาราม กรุงเทพฯ 10.หลวงพ่อทวี วัดป่าเขาย้อย สระแก้ว 11.พระอาจารย์ไท วัดสันติธรรม สระแก้ว
พระพิธีธรรม 4 รูปจากวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ สวดพระคาถามหาพุทธาภิเษก ได้เวลาอันสมควรจึงได้อาราธนานิมนต์ พระเดชพระคุณพระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม ดับเทียนชัย หลังจากเสร็จพิธีแล้ว มีการแจกวัตถุมงคลพระผงดวงเศรษฐีมหาเฮง หลวงปู่โสฬส ยโสธโร..ฟรี.!! เพื่อเป็นทานบารมี ให้กับผู้ที่ไปร่วมพิธีในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ทุกคน วัตถุมงคลที่นำมาแจกนี้ ได้นำมวลสารหลวงปู่ที่อยู่ภายในโรงแก้ว 6 ปีและจีวรที่เปลี่ยนครั้งที่ 2 มาผสมจัดสร้าง ซึ่งหลังจากวันงานผ่านไปแล้วจะเปิดให้ผู้ร่วมทำบุญต่อไป สอบถามการทำบุญได้ที่ เดชา ศุภฤทธิ์ 088-886-8586
กล่าวถึงมหามณฑป พระครูธำรงโพธิเขต หลวงปู่โสฬส ยโสธโร เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2556 หลังจาก หลวงปู่โสฬส ยโสธโร เกจิอาจารย์ ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและยึดมั่นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยได้ละสังขารประมาณ 1 ปี คณะศิษย์จึงได้ดำเนินการจัดสร้างตามดำริของหลวงปู่โสฬสที่ต้องการให้นำร่างของท่านหลังจากละสังขารแล้วเก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์ในพระมหามณฑปแห่งนี้ตราบนานเท่านาน
มหามณฑปหลังนี้มี อาจารย์ สมชัย ยาจันทร์ทา เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และมี คุณเดชา ศุภฤทธิ์ พิมพ์พระวัตร เป็นประธานจัดหารายได้ อาจารย์สมชัย ได้นำสถาปัตยกรรมแบบโรมันมาผสมผสานกับศาสตร์และศิลป์ทางพระพุทธศาสนา ในรูปแบบงานหลุยส์จากประเทศฝรั่งเศส สร้างและออกแบบโดยช่างพื้นบ้าน เป็นมหามณฑปขนาดใหญ่ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหน้าอุโบสถวัดโคกอู่ทอง เป็นสถานที่ประดิษฐานสรีระสังขาร หลวงปู่โสฬส ยโสธโร อดีตพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีในหมู่คณะทหารและพรานเดินป่า ด้วยเหตุที่ว่าท่านเป็นผู้มีวิทยาคมเข้มขลังทางด้านคงกระพัน ป้องกันอุบัติภัย แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย โชคดีมีชัย
มหามณฑปพระครูธำรงโพธิเขต (โสฬส ยโสธโร) สังฆานุสรณ์แห่งเกจิอาจารย์สายตะวันออก
แหล่งท่องเที่ยวสุดสวยแห่งใหม่สำหรับสายบุญ
มหามณฑปพระครูธำรงโพธิเขตสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2556 หนึ่งปีให้หลังการละสังขารของหลวงปู่โสฬส ยโสธโร เกจิอาจารย์ผู้เปี่ยมด้วยความกรุณาและเป็นผู้ยึดมั่นธำรงในพระศาสนา สมดังนาม ธำรงโพธิเขต หลวงปู่โสฬส เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ทหารและพรานเดินป่า เนื่องจากเป็นผู้มีวิทยาคมทางด้านการป้องกันอุบัติภัย แคล้วคลาดปลอดภัย และเป็นเกจิอาจารย์ที่ไม่เคยทอดทิ้งศิษยานุศิษย์ ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านยังเป็นศิษย์ธรรมทายาท หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อเส็ง วัดศรีประจันตคาม, หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน อดีตพระเกจิชื่อดังแห่งเมืองปราจีน รวมถึงหลวงพ่ออวน วัดหนองพลับ จังหวัดสระบุรี
มหามณฑปแห่งนี้ กำเนิดขึ้นจากดำริของหลวงปู่ ที่ต้องการให้ความเมตตาแก่ศิษย์ แม้จะละสังขารแล้ว โดยได้ตั้งจิตาธิษฐาน มิให้ทำการเผาร่างของท่านเมื่อละสังขาร ขอให้เก็บรักษาร่างของท่านเอาไว้อยู่คู่วัดโคกอู่ทองแห่งนี้ โดยคณะศิษยานุศิษย์จากทั่วทุกมุมโลก ได้ทำการรวบรวมเงินทุนจัดสร้างเป็นอาคารสถาปัตยกรรมโรมัน สูง 32 เมตร กว้างและยาว 24 เมตร ตรงกลางมีโดมสูงประดับประดาด้วยลวดลายตะวันตกแบบโรมัน ด้านบนสุดทำขึ้นเป็นยอดด้านนอก และมีสัญลักษณ์กากบาทอยู่ตรงกลางยอดโดม อันแทนคติธรรมอิทธิบาทสี่ อันคือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งเป็นธรรมแห่งความสำเร็จทั้งปวง
ถัดลงมาเป็นชั้นระบายอากาศซึ่งมีการทำซ่อนไว้เพื่อนำเอาอากาศร้อนให้ลอยตัวขึ้นบนโดมและดันออกทางช่องดังกล่าวโดยรอบ มีกระจกแก้วใสสีฟ้าและสีเขียวแทนท้องฟ้าอันบริสุทธิ์ รายล้อมด้วยดอกไม้ทิพย์ เทวดา และชั้นมงกุฎซึ่งมีไฟฝังอยู่ด้านใน ประกอบมุมสี่ด้านของโดม ด้วยรูปอิริยาบถทั้งสี่ของหลวงปู่ที่เมตตาแก่ศิษยานุศิษย์ที่มากราบบูชา
ถัดจากโดมลงมาเป็นเสาโรมันขนาดใหญ่ 4ต้นใหญ่ 16 ต้นย่อย ทาลวดลายทองตัดด้วยสีแดงเลือดนกไล่ลวดลายพฤกษชาตินานาพรรณ ด้านล่างเป็นพื้นหินอ่อน จำหลักสลักเป็นภาษาจีน อังกฤษ และสัญลักษณ์ปีนักษัตรทั้ง12 และจุดหยินหยาง ตรงกลางพื้นโดม ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นแห่งรวมพลังจักรวาลผ่านการผูกอิทธิบาทสี่ และสะท้อนลงมาสู่วงเวียนแห่งพลังหยินและหยางกระจายออกเป็นประจุพลังในนักษัตรทั้งสิบสอง
ด้านหน้ามณฑปประดิษฐานรูปหล่อลอยองค์หลวงปู่โสฬส ยโสธโร ประดับด้วยศิลปะผสมไทยและโรมัน มีครุฑและสิงขรรายล้อมแท่นรูปหล่อ ปิดยอดด้วยฉัตรจำลองรูปโดมสีเขียวตัดทอง ด้านบนเป็นยอดตั้งขึ้นแทนสัญลักษณ์แห่งความรู้และความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลายไม่สิ้นสุด
ประตูทางเข้าและออกทั้งสองด้าน เป็นประตูกระจกประดับสีซึ่งมีความทนทาน แข็งแกร่งและสวยงาม ภายในมหามณฑปประดับด้วยกระจกสีทุกหน้าต่าง และตรงกลางกระจกสีแสดงพระที่หลวงปู่ได้ปลุกเสกไว้ให้กับศิษยานุศิษย์ ภายในมหามณฑปประกอบไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันได้แก่
1. พระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับประทานจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประดับอยู่ในซุ้มดาวจักรวาลมีโดมเปลือยครอบไว้และพันผูกไว้กับลายองุ่น
2. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดับกระจกสีพระบรมสาทิสลักษณ์ขณะทรงผนวช ล้อมรอบด้วยเลข 5
3. สรีระสังขารของพระครูธำรงโพธิเขต ประดับในซุ้มสูง 5 ขั้น
4. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ประดับด้วยกระจกสีพระบรมสาทิสลักษณ์ขณะยังทรงผนวช ล้อมรอบด้วยเลข 9
5. พระพุทธรูปปางนาคปรก ถวายเป็นพุทธบูชา ประจำองค์พระครูธำรงโพธิเขต
สำหรับ พระบรมรูปทั้งสองรัชกาลนั้น ถือเป็นจุดเชื่อมต่อเรื่องราวของหลวงปู่โสฬส พระผู้ปฏิบัติ มีสรณะเป็นพระรัตนตรัย ที่เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสิ้นสุดสัญญาแห่งตนลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพระนาคปรกเป็นสัญลักษณ์คติ แสดงถึงการน้อมนำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติอย่างถึงที่สุดแล้วก็จะบรรลุธรรมในพระบรมพุทธศาสนา
ด้านล่างนี้เป็นพื้นประดับหินอ่อนที่สะท้อนความเป็นจักรวาลอยู่โดยรอบๆ และประดับประดาด้วยเสาพุ่มดอกไม้
บรรยากาศโดยรอบของมหามณฑปได้รับการออกแบบในจุดต่างๆดังนี้
1. ถนน โสฬสมหามงคล เป็นถนนที่ทำการเปิดขึ้นภายในวัดโคกอู่ทองเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 เพื่อเป็นมงคลแก่ผู้ได้เข้ามาเดิน หรือขับขี่สัญจรเข้ามายังมหามณฑป
2.บ่อน้ำรูปไซ เป็นบ่อน้ำขุดขนาดลึก 15 เมตร เป็นทรงรูปไซโดยปากทางเข้าหันไปยังประตูฝั่งทิศตะวันออก มีศาลารายอยู่รอบๆ รั้วบ่อน้ำมีโคมไฟตุ๊กตาศิลปะโรมันอยู่โดยรอบ
3. น้ำพุมหามงคล เป็นน้ำพุหล่อปูนขนาดใหญ่ สามชั้น ประดับประดาด้วยตุ๊กตาเทพ เป็นชั้นๆ ลดหลั่นลงมา
4. ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง เป็นศาลเปิดโล่ง สร้างด้วยโครงต้นตะเคียน เป็นแกนเสาหลัก 8 ต้น ด้านในบรรจุเรือขุดโบราณ ที่เจ้าแม่ตะเคียนได้กราบขอความกรุณาจากหลวงปู่ให้นำขึ้นมาจากแม่น้ำในจุดที่ไม่มีใครทราบได้
5. บ่ออภัยทาน เป็นบ่อเลี้ยงปลานานาชนิด และหากโชคดีจะได้พบกับตะพาบที่หลวงปู่โสฬสได้นำมาเลี้ยงไว้
มหามณฑปพระครูธำรงโพธิเขตนี้ เปิดให้สาธุชนเข้าบูชาสักการะหลวงปู่โสฬส ยโสธโรได้ทุกวันนับตั้งแต่เวลา 08:00 – 17:00 น ณ วัดโคกอู่ทอง ต.โพธิ์งาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี