เหรียญเจริญพรล่าง-เจริญพรบน หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ เขานิยมบล็อกไหน? เพราะอะไร? ของเก๊มีไหม? ดูอย่างไร?
โดย…จ่าโกวิท แย้มวงษ์ (เขียนในนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร ฉบับ 122)
พูดถึงเรื่องเหรียญเจริญพรหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ระยอง ต้องบอกว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะตอนนี้กำลังมาแรง สนนราคาถีบตัวขึ้นสูงมาก ทั้งเจริญพรล่างและเจริญพรบน ผู้คนที่กำลังสนใจเรื่องวัตถุมงคลของหลวงปู่ทิมต่างยอมรับว่า สนนราคาที่สูงขึ้นมานั้นไม่ใช่การปั่นราคา แต่เป็นค่าของความนิยมที่ผู้คนเสาะแสวงหาของดีที่มีประสบการณ์ แต่ไม่มีของดีจะให้หา สนนราคาย่อมถีบตัวสูงขึ้นเพื่อเรียกความสนใจ ใครที่มีเก็บไว้จะได้เอาออกมาให้ผู้คนที่สนใจได้บูชาบ้าง
เหรียญเจริญพรเป็นเหรียญที่หลวงปู่ทิมตั้งชื่อให้ “เจริญพร” ท่านบอกว่าคนที่มีไว้ใช้จะได้ “เจริญรุ่งเรือง” ผู้ที่ดำเนินการจัดสร้างคือ คุณชินพร สุขสถิตย์ ศิษย์เอกหลวงปู่ทิมที่ท่านรู้ล่วงหน้าด้วยญาณสมาธิของท่าน เขาคนนี้แหละที่จะมาสร้างพระให้ท่านเพียงผู้เดียว หลังจากที่หลวงปู่ทิมตั้งชื่อเหรียญให้แล้ว พี่ชินพรได้มอบหมายให้ช่างยิ้ม ยอดเมืองเป็นผู้ออกแบบและแกะแม่พิมพ์ โดยหลวงปู่ทิมท่านได้กำหนดเวลาไว้ให้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันเสาร์สิ้นเดือนเมษายน 2517 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายทุกอย่างต้องเสร็จก่อนตะวันตกดิน คำว่าตะวันตกดินพี่ชินพรผู้รับคำสั่งหลวงปู่จึงกำหนดเวลา 6 โมงเย็น
การทำเหรียญเจริญพรตอนเริ่มแรกที่คิดทำไม่เคยกำหนดว่าจะต้องมีเจริญพรล่างและเจริญพรบน ตั้งแต่เริ่มต้นแกะบล็อกก็แกะเจริญพรล่างอย่างเดียวโดยมีหลวงปู่ทิมนั่งเต็มองค์อยู่บนอาสนะ เหนือคำว่า “เจริญพร” ด้านหลังเป็นยันต์ห้าภายในยันต์บรรจุพระคาถาคำว่า “นะโมพุทธายะ” แกะบล็อกเสร็จก็เริ่มทำการปั๊ม ปั๊มเนื้อทองคำออกมา 16 เหรียญ เลข 16 คือเลขโสฬสมงคล ความหมายคือมีความสุขอย่างยิ่งเทียบเท่า 16 ชั้นฟ้าหรือชั้นพรหมโลก เหรียญทองคำจะตอกเลขไทย 1-16 และทุกเหรียญต้องหูเชื่อมไม่ใช่หูปั๊มในตัว ปั๊มเหรียญเงินอีก 271 เหรียญเนื้อเงินนี้จะตอกโค้ดตัว “ท” ตัวเล็กๆไว้ใต้อาสนะด้านขวาตอกหมายเลขไทย 1-271 อยู่ใต้ยันต์ห้าด้านหลังเหรียญ ปั๊มเหรียญทองแดงรมดำได้หมื่นกว่าเหรียญบล็อกด้านหน้าก็แตกชำรุดปั๊มต่อไม่ได้ จึงได้นำบล็อกที่ถอดเตรียมไว้นำมาปั๊มต่อ แต่พี่ชินพรเห็นว่าไหนๆก็จะใช้บล็อกตัวใหม่แล้วขอปรับเปลี่ยนหน่อยก็แล้วกัน โดยเอาคำว่า “เจริญพร” ไปไว้ด้านบนของหลวงปู่ทิมบ้างเพื่อเป็นการสื่อให้รู้ว่าบล็อกไหนปั๊มก่อนบล็อกไหนปั๊มที่หลัง
ย้อนกลับมาที่เหรียญเจริญพรล่าง (บล็อกแรก) เนื้อทองแดงรมดำกันอีกนิดนึง เนื้อทองแดงรมดำนี้ได้ตอกโค้ดตัว “ท” ไว้ 400 เหรียญ ตอกโค้ดเลข “๙” ไว้ 800 เหรียญเพื่อแจกกรรมการ และที่ไม่ได้ตอกอะไรประมาณ 9,000 เหรียญ การปั๊มเหรียญเจริญพรบน (บล็อกหลัง) ดำเนินไปอย่างเร่งรีบ สาเหตุเพราะต้องการปั๊มให้มากที่สุดก่อนตะวันตกดิน (6 โมงเย็น) ของวันเสาร์สิ้นเดือนเมษายน 2517 หลังจากนั้นหลวงปู่ทิมจะเสกให้เลย เพราะเป็นฤกษ์ดีเวลาดีจึงได้มีเหรียญที่ปั๊มแล้วไม่ได้ตัดปีกทั้งเนื้อทองแดงและเนื้อชินตะกั่วเข้าพิธีเสกพอสมควร แล้วนำมาตัดปีกทีหลังเมื่อเสกเสร็จแล้ว
เหรียญเจริญพรบน (บล็อกหลัง) ปั๊มได้จำนวนดังนี้…. เนื้อเงิน 72 เหรียญ ตอกโค้ดเหมือนเหรียญเจริญพรล่าง ตอกหมายเลขไทยต่อจากเหรียญเจริญพรล่างตั้งแต่ 272-343 เนื้อนวโลหะ 1,166 เหรียญ ตอกโค้ดตัว “ท” เล็กๆไว้ที่สังฆาฏิหลวงปู่ทิม และตอกหมายเลขไทยไว้ใต้อาสนะ เนื้อทองแดง 6,895 เหรียญ มีตอกหมายเลขไทยจำนวน 70 เหรียญ เพราะหยิบถุงผิดคิดว่าเป็นเนื้อนวโลหะ ตอกตั้งแต่หมายเลข 1040-1110 เนื้อชินตะกั่ว 400 เหรียญ ทำแจกกรรมการตอกเลข ๙ ไทยไว้ใต้อาสนะและตอกโค้ดตัว “ท” ไว้ที่ปลายสังฆาฏิตรงหน้าตักหลวงปู่ทิม จะเห็นว่าเหรียญเจริญพรหลวงปู่ทิมทั้งล่างและบนนั้น ผิดกันก็เพียงบล็อกด้านหน้าเท่านั้น ส่วนบล็อกหลังเป็นบล็อกตัวเดียวกันทั้งสองพิมพ์ ผู้ที่เพิ่งจะเริ่มศึกษาหาความรู้เรื่องเหรียญเจริญพรโปรดได้สังเกตเรื่องนี้ให้ถ่องแท้ด้วย
เหรียญเจริญพรนี้ปั๊มที่โรงงานช่างยิ้ม ยอดเมือง ทำพร้อมกับพระปรกใบมะขามองค์จ้อย ทำเสร็จแล้วหลวงปู่ทิมท่านเสกให้พร้อมกัน ในช่วงนั้นกำลังระดมทุนสร้างศาลาการเปรียญภาวนาภิรัต และเป็นการหาทุนมาสร้างวัตถุมงคลรุ่นชินบัญชรด้วย (วัตถุมงคลรุ่นชินบัญชรประกอบด้วย พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระสังกัจจายน์ พระปิดตาปุ้มปุ้ย) หลวงปู่ทิมเสกเสร็จมีผู้นำเหรียญเจริญพรไปทดลองยิงที่หลังวัด ยิงอยู่สองสามนัดไม่ออกบ้างไม่ถูกบ้าง จึงมาบอกหลวงปู่ทิมว่าหลวงปู่ครับเหรียญเจริญพรหลวงปู่ยิงไม่ออกครับ หลวงปู่ทิมฟังแล้วยิ้มแล้วตอบมาว่า “เหรียญเจริญพรมันใหญ่เอาปรกจ้อยไปลองสิ” ปรกจ้อยคือพระปรกใบมะขามองค์เล็กที่เสกพร้อมกันจึงเป็นที่มาของคำว่า “ปรกจ้อย” มาจนถึงปัจจุบันนี้
มีผู้สงสัยอีกว่าด้านหน้าของบล็อกเจริญพรบนนั้นมี 2 พิมพ์จริงหรือเปล่า?… ผมย้อนถามไปว่าตรงหางเลข ๗ ใช่ไหมคือมี ๗ หางสั้น และ ๗ หางยาว… ขอตอบตรงนี้เลยว่าจริงๆ แล้วมีบล็อกเดียวนั่นแหละปั๊มไปนานๆ เข้าบล็อกอาจจะเริ่มชำรุดแตกตรงโน้นปริตรงนี้ จึงทำให้มีขนแมวมีเส้นวิ่งให้เห็น อย่างเช่นปรกจ้อยพิมพ์หูมีขีดจริงๆแล้วไม่มีใครขีดเลย แต่เป็นเพราะบล็อกแตกนั่นเอง และต้องขอเรียนย้ำให้ทราบว่าเหรียญเจริญพรเนื้อทองคำมีเฉพาะเจริญพรล่างเพียง 16 เหรียญเท่านั้น และต้องหูเชื่อม ส่วนเนื้อนวโลหะมีแต่เฉพาะเจริญพรบนเหรียญเจริญพรล่างเนื้อนวโลหะไม่มี
ที่ถามว่าเขานิยมบล็อกไหนกันนั้น ขอตอบว่าอยู่ที่คนขายมีบล็อกไหน… ถ้าคนขายมีเหรียญเจริญพรล่างก็บอกว่าเจริญพรล่างนิยมเพราะปั๊มก่อน… ถ้าคนขายที่มีเหรียญเจริญพรบนก็บอกว่าเจริญพรบนนิยมเพราะมีน้อยกว่า เอาเป็นว่าขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเอาเองว่าบล็อกไหนนิยม แต่ผมว่านิยมทั้งล่างและบนไม่เห็นจะต่างกันตรงไหนเลย เวลาปั๊มก็ใกล้เคียงกันเสกก็พร้อมกันพิธีเดียวกัน อยู่ที่ท่านผู้ซื้อนั่นแหละอย่าไปเต้นตามคนขายเลยครับ
มีคนไปเห็นเหรียญเจริญพรหลังเรียบ (เจริญพร 3) ก็เลยโทรมาถามผมว่ามีไหม ตอบตรงนี้ได้เลยว่ามีแน่นอน พี่ชินพรแกทำไว้ก่อนหลวงปู่ทิมสิ้น เอาไว้แจกเอาไว้ใช้กันเอง ตอนก่อนก็หาว่าเก๊ว่าเสริม แต่ตอนนี้เหรียญเจริญพรหลังเรียบหากันแล้วเพราะมีประสบการณ์ไม่น้อย แล้วจะเอารายละเอียดมาเล่ากันอีกครั้ง
เหรียญเจริญพรเก๊มีมานานแล้วครับทั้งล่างและบน คนที่เก่งและชำนานจริงๆ ถึงจะดูออก ไม่รู้จะบอกวิธีการดูอย่างไรเพราะเก๊ฝีมือเฉียบมากประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ คนที่ดูเป็นงูๆ ปลาๆ ก็อย่าชะล่าใจ มีวางขายพอให้ได้เล่นกันจากต้นตอเหรียญละ 100 บาทเอามาขายรวมๆกับวัตถุมงคลของอาจารย์อื่นบอกว่าเหมาตามบ้านมา พอคนซื้อเลือกหาเจอเหรียญเจริญพรเก๊ซึ่งตัวเองไม่ชำนาญก็นึกว่าฟลุ๊คถามว่าเท่าไหร่ เจ้าของบอกว่าเก๊แท้ไม่รู้เพราะดูไม่เป็นคิด 3,000 ก็แล้วกันโอ้โฮ!!…ราคาทั่วไปเขาเล่นกัน 5-6 หมื่นนี่ 3,000 เองรีบควักตังจ่ายทันที หันหลังเดินหนีกลัวเจ้าของเอาคืน แต่ที่ไหนได้เขาไม่รู้หร็อกว่าพอลับหลังเจ้าของพระก็รีบเก็บพระที่กองอยู่ทั้งหมดใส่กระเป๋าโกยอ้าวไปเหมือนกัน เพราะกลัวคนซื้อเอามาคืน ก็เขารู้อยู่เต็มอกว่าเป็นเหรียญเก๊
หมายเหตุ… ท่านผู้อ่านที่ต้องการศึกษาวัตถุมงคลหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ผมขอแนะนำหนังสือ อมตวัตถุมงคลยอดนิยมหลวงปู่ทิม พิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านครู (เครือคเณศ์พร) ออกมาหลายปีแล้ว