เกร็ดชีวิตคนดัง

โอเล่ กุยบุรี สร้างพระตั้งแต่ประถม กรรมการตัดสินพระพุทธพระคณาจารย์ทั่วไป

%e0%b9%82%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b9%88-%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b8%a2%e0%b8%9a%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b8%b5-%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%95%e0%b8%b1

        อรรตภูมิ สร้อยทอง หรือ โอเล่ กุยบุรี พื้นเพเป็นคนอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เด็กจนโตมีความใกล้ชิดกับพระเกจิอาจารย์ดังของอำเภอกุยบุรีมาโดยตลอด อาทิ หลวงพ่อทองเบิ้ม วัดวังยาว, หลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง, หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก 

หลวงพ่อในกุฏิรุ่นแรก วัดกุยบุรี พระคู่บ้านคู่เมืองกุยบุรี

          โอเล่ กุยบุรี เล่าว่า “ทุกวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือมีเวลาว่างก็จะไปที่วัด และได้เห็นคนเข้ามาหาหลวงพ่ออยู่ตลอด บางคนมาไกลมากก็เกิดความสงสัยว่าทำไมถึงเจาะจงมาหาหลวงพ่อ ก็เลียบๆ เคียงๆ เข้าไปดูเลยมีโอกาสเห็นวัตถุมงคลที่ท่านสร้าง รวมถึงพิธีต่างๆ ก็เริ่มเกิดความศรัทธาและชื่นชอบพระเครื่องมาตั้งแต่เด็กๆ บางครั้งที่เห็นท่านทำเหรียญ หรือเสกเครื่องรางให้คนที่มาหา ก็อยากได้บ้างเลยขอให้หลวงพ่อทำให้ใช้เองบ้าง” นับได้ว่าเพราะความใกล้ชิดพระเกจิทำให้ โอเล่ กุยบุรี หันมาสนใจพระเครื่องพร้อมกับเริ่มสร้างพระเองมาตั้งแต่เด็ก แม้จะเป็นเพียงการสร้างพระไว้ใช้เองก็ตาม

          หลังจากนั้น โอเล่ กุยบุรี ก็เริ่มศึกษาพระเครื่องของพระเกจิดัง ในอำเภอกุยบุรีเพิ่มขึ้น โดยเล่าเพิ่มเติมว่า “ยุคนั้นมีพระเกจิของอำเภอกุยบุรีเป็นที่รู้จักมาก ผมเองนับว่ามีบุญที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับเกจิหลายท่าน โดยเฉพาะหลวงพ่อทองเบิ้ม วัดวังยาว กับหลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง ที่ผมจะเข้าไปหาท่านมากหน่อยเรียกว่าแทบจะกินนอนอยู่ที่วัดเลย และหลวงพ่อทองเบิ้ม วัดวังยาว ท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์บวชเณรให้ผมตั้งแต่ตอนอายุ 7 ปีด้วย ส่วนหลวงพ่อยิด วัดหนองจอกนั้น ข่วงนั้นท่านมีลูกศิษย์ลูกหานิมนต์บ่อยมากๆ แต่ถ้าหากท่านว่างเว้นกิจนิมนต์ผมก็จะเข้าไปกราบไหว้ท่านอยู่เสมอ รวมถึงหลวงพ่อในกุฏิ กุยบุรี พระเกจิที่พระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองกุยบุรีถ้ามีเวลาก็จะไปไหว้ขอพรท่านอยู่เสมอ ทำให้พระเกจิทั้ง 4 รูปนี้เป็นเกจิที่ผมมีความเคารพและศรัทธามาตั้งเด็กๆ เลย”

หลวงพ่อทองเบิ้ม วัดวังยาว พระอุปัชฌาย์และพระเกจิเมืองกุยบุรี

          “ผมอยู่กับพระเกจิของอำเภอกุยบุรีมาจนจบ ป.6 ก็มาเรียนต่อที่วัดบวรนิเวศฯ ก็ได้มาเจออาจารย์ฝ่ายปกครองที่โรงเรียนวัดบวรฯ ชื่อ ครูมนตรี นัยพรและครูสมพร ภู่อิ่ม ทั้งสองท่านนี้ชอบพระเหมือนกัน และท่านเห็นว่าเรามาจากอำเภอกุยบุรี ซึ่งตอนนั้นประมาณปี 2533 หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก ท่านดังมาก อาจารย์เห็นว่าเรามาจากประจวบฯ ก็ถามว่ารู้จักหลวงพ่อยิดไหม พออาจารย์รู้ว่าหลวงพ่อยิดกับที่บ้านคุ้นเคยและสนิทกัน อาจารย์ก็เลยฝากขอปลัดขิก หลวงพ่อยิด

         พอผมกลับมาบ้านก็เข้าไปหาหลวงพ่อยิด และบอกหลวงพ่อว่า “ผมจะขึ้นมาสอบ ม.1 ที่วัดบวรฯ นะ อาจารย์ฝากขอปลัดขิกจากหลวงพ่อด้วย” หลวงพ่อท่านก็จารปลัดขิกให้ถุงหนึ่ง แล้วก็ให้เหรียญ กับพระสมเด็จมาเพิ่มให้อีกด้วย พร้อมกำชับว่าครูเขาอยากได้ก็เอาไปฝากครูเขาด้วยละกัน”

หลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง พระเกจิอาจารย์เมืองกุยบุรีที่เคารพศรัทธา

          พออาจารย์รู้ว่าเราสนิทสนมกับเกจิหลายรูปในอำเภอกุยบุรี โดยเฉพาะ หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก, หลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง, หลวงพ่อทองเบิ้ม วัดวังยาว ทีนี้อาจารย์ก็มักจะไหว้วานให้ไปขอทำเหรียญบ้าง หรือบางทีก็ทำล็อกเก็ตบ้าง โดยให้พระที่ผมสนิทนั้นปลุกเสกให้แล้วถวายท่าน และอาจารย์ทั้งสองท่านก็ที่ให้คำชี้แนะเรื่องพระเครื่องสายวัดบวรนิเวศ และยังเป็นต้นแบบในการสร้างพระใหม่ ให้กับผมตั้งแต่นั้นมา
พอเราโตขึ้นจากที่เริ่มช่วยสร้างพระถวายให้กับพระเกจิ ก็เริ่มที่จะเช่าบูชาพระเพิ่มเติมด้วย ก็มีโอกาสได้ไปตามตลาดพระ ตามงานประกวดพระบ้าง แล้วตอนนั้นผมสร้างหลวงพ่อตัด วัดชายนา กับอีกหลายเกจิ ก็อยากที่จะเผยแพร่วัตถุมงคล และประวัติของหลวงพ่อให้เป็นที่แพร่หลาย ช่วงนั้นก็มีโอกาสได้รุ้จักกับพี่ นี สะพานใหม่ จุดนี้ล่ะถือเป็นก้าวสำคัญเลยที่ทำให้ผมมีโอกาสได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการรับและตัดสินพระ
พี่นี สะพนใหม่ เห็นว่าผมมีความชำนาญพระเกจิสายอำเภอกุยบุรี ด้วยความที่เราก็คลุกคลีตามงานประกวดบ่อยๆ และยิ่งเป็นคนพื้นที่มีโอกาสได้เห็นพระของเกจิในจังหวัดประจวบฯ มาตั้งแต่เด็ก พี่เขาก็เล็งเห็นความสามรถ จึงชักนำให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการรับและตัดสินพระ ชุดพระพุทธพระคณาจารย์ทั่วไป โดยพระเครื่องที่ถนัดก็จะเป็นพระเกจิของอำเภอกุยบุรีทั้งหมด และพระจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รองลงมาก็จะเป็นพระเกจิทั่วไป

หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก พระเกจิแห่งเมืองกุยบุรี

          สำหรับใครที่สนใจจะเข้ามาศึกษาพระเครื่อง โอเล่ กุยบุรี ชี้แนะว่า “จะเล่นพระนั้นต้องไม่สะเปะสะปะ เราต้องศึกษาทีละหลวงพ่อ และต้องศึกษาให้ลึกถึงประวัติหลวงพ่อ ประวัติการสร้างด้วย อย่างเช่น หลวงพ่อตัด วัดชายนา เราก็ต้องศึกษาด้วยนะว่าหลวงพ่อตัด ท่านเป็นลูกศิษย์ใคร เรียนจากหลวงพ่อไหน คือศึกษาลึกไปถึงประวัติด้วย ท่านทำพระอะไรบ้าง มีกี่แบบ กี่พิมพ์ แล้วพอเราถนัดในหลวงพ่อตัดจนชำนาญแล้ว เราจะไปศึกษาหลวงพ่ออื่นด้วยก็ค่อยขยับไป แต่ก็ศึกษาในแนวทางเดียวกัน นอกจากดูว่าเก๊แท้แล้วให้ศึกษาประวัติความเป็นมาด้วยประกอบกันจะทำให้ชำนาญได้เร็วและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น”

          “และในการเล่นพระนั้นปัจจุบันมีทั้งสายพระเก่า พระใหม่ ถ้าเรายังไม่มีความรู้ความชำนาญในพระเก่า เริ่มแรกก่อนก็ลองเล่นพระใหม่ที่เพิ่งสร้างไปก่อน พระที่เปิดจองตามวัด แล้วก็เป็นหลวงพ่อที่มีชื่อเสียงมีความศรัทธาอยู่แล้ว พอเก็บไว้ก็มีอนาคต และเชื่อได้ว่าจะไม่ค่อยมีเก๊ เมื่อเราถนัดตรงนี้แล้ว ค่อยขยับไปเล่นพระที่เก่ามากขึ้นก็ได้ เป็นเสต็ปๆ ไปไม่ต้องรีบ”

ถ้าใครสนใจจะพูดคุย ศึกษาพระเครื่องจังหวัดประจวบฯ หรือการส้รางพระ สามารถเข้ามาพูดคุยกับ โอเล่ กุยบุรีได้ โดยส่วนมากก็นัดเจอกันตามงานประกวดพระ หรือโทรนัดกันได้ 089-159-0224

          โอเล่ กุยบุรี ฝากแจ้งประชาสัมพันธ์ว่า เร็วๆ นี้จะมีงานประกวดพระ จัดโดยชมรมหลวงพ่อพาน วัดโป่งกระสัง โดย โอเล่ กุยบุรี เป็นฝ่ายประสานงานหลัก วันที่ 19-20 ตุลาคม 2562 ที่วัดหนองตาแต้ม อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานประกวดก็เพื่อเผยแพร่บารมีหลวงพ่อพาน วัดโป่งกระสัง ซึ่งเป็นพระเกจิที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และพระเกจิอาจารย์ต่างๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันให้มีคนรู้จักกว้างมากขึ้น ซึ่งงานประกวดครั้งนี้เราจะเน้นไปที่วัตถุมงคลของหลวงพ่อพานที่มีอยู่หลายโต๊ะตัดสิน และจะมีพระจากส่วนกลางด้วย ของรางวัลงานประกวดฯ จะเป็นหนังสือที่รวบรวมวัตถุมงคลของหลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง ซึ่งนับเป็นเล่มแรกที่มีความสมบูรณ์ชัดเจนมากที่สุด และเชื่อว่าถ้าใครมีหนังสือเล่มนี้จะสามารถดูพระของหลวงพ่อพานเป็นได้เลย

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox