“
เกิดในที่ ที่ดี นั้นดีแน่
เกิดในที่ ที่แย่ ก็ดีได้
เกิดที่ดี แล้วแย่ มีถมไป
เกิดที่ไหน ก็ดีได้ ถ้าใฝ่ดี
”
พลเรือเอก ปรีชาญ จามเจริญ
จากคนงานกรมอู่ทหารเรือ สานฝันมาเป็นเจ้ากรมพระธรรมนูญ
พลเรือเอก ปรีชาญ จามเจริญ เกิดที่บ้านคุณยายที่อำเภอเมืองจังหวัดชุมพร และกลับมาเติบโต ที่ภูมิลำเนาของคุณพ่อ – คุณแม่ ที่บ้านกลางอ่าวบ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นบุตรของนายทั่ง – นางแจ๋ว จามเจริญ ด้านครอบครัวสมรสกับนางดุลยลัคน์ จามเจริญ มีบุตรธิดารวม ๓ คน
ด้านการศึกษาสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดดอนยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนศรียาภัย จังหวัดชุมพร ต่อมาได้ย้ายมาศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ – ๓ ที่โรงเรียนบางสะพานวิทยา ในปีการศึกษา ๒๕๑๖ (จบปี ๒๕๑๗) และได้สอบเทียบการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.๕) ของกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) สาขาวิชาการบริหารการพัฒนาแขนงวิชาการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ชีวิตในการเข้ารับราชการของท่านเริ่มต้นจากเมื่อจบการศึกษาระดับ ม.ศ.๓ จากโรงเรียน บางสะพานวิทยาแล้ว ได้มาสอบเข้าที่โรงเรียนช่างกรมอู่ทหารเรือ โดยใช้ระยะเวลาการศึกษาอบรม ๑ ปี จึงได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ (คนงาน) ในตำแหน่งช่างปรับภายใน แผนกช่างปรับ กรมอู่ทหารเรือ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้เข้ารับการศึกษาอบรมวิชาทหาร โรงเรียนพลทหาร กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จึงได้รับการแต่งตั้งยศเป็นจ่าตรี ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การอู่กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ ระหว่างรับราชการได้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรในโรงเรียนทหาร และหลักสูตรอื่น ดังนี้
– หลักสูตรการฝึกอบรมวิชาทหาร โรงเรียนพลทหาร กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
– หลักสูตรอาชีพเลื่อนฐานะชั้นจ่าเอก โรงเรียนช่างกรมอู่ทหารเรือ
– หลักสูตรนักเรียนพันจ่า โรงเรียนพันจ่า กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
– หลักสูตรนายทหารสัญญาบัตรชั้นต้น รุ่นที่ ๑๔ โรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ
– หลักสูตรส่งทางอากาศนาวิกโยธิน รุ่นที่ ๑๔ โรงเรียนทหารนาวิกโยธิน
– หลักสูตรสืบสวนสอบสวน รุ่นที่ ๖๒ กรมตำรวจ
– หลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ รุ่นที่ ๕๔ โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ
– หลักสูตรตุลาการพระธรรมนูญ รุ่นที่ ๗ ปี โรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ
– หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง รุ่นที่ ๔
สถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
– หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ ๕๗ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
– หลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ ๔ ศาลรัฐธรรมนูญ
ประวัติการรับราชการโดยได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สำคัญ ดังนี้
– เจ้าหน้าที่การอู่ กองซ่อมบำรุง กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ
– นายทหารพระธรรมนูญของกองทัพเรือในหลายตำแหน่ง
– นายทหารกิจการพลเรือน กองกิจการพลเรือน กองเรือภาคที่ ๒ กองเรือยุทธการ และนายทหาร กิจการพลเรือน กองกิจการพลเรือน กองเรือภาคที่ ๓ กองเรือยุทธการ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ นายทหารพระธรรมนูญและนายทหารประชาสัมพันธ์
– รองผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน กองเรือภาคที่ ๓ กองเรือยุทธการ
– ฝ่ายเสนาธิการประจำ รองปลัดกระทรวงกลาโหม
– หัวหน้าสำนักงานสงเคราะห์ทางกฎหมาย กรมพระธรรมนูญ
– รองผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ
– อัยการฝ่ายอุทธรณ์และฎีกา สำนักงานอัยการทหาร กรมพระธรรมนูญ
– ตุลาการพระธรรมนูญประจำสำนักตุลาการทหาร
– ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ
– ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง
– หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร/ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารสูงสุด
– เจ้ากรมพระธรรมนูญ และกรรมการกฤษฎีกา
นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการของกรมพระธรรมนูญแล้ว ท่านยังปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการที่สำคัญ ดังนี้ กรรมการตุลาการทหาร กรรมการในคณะกรรมการข้าราชการทหาร กรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ กรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กรรมการติดตามคดีปกครอง กรรมการควบคุมยาเสพติด กรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการติดตามแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีสำคัญ กรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น กรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต อีกทั้งท่านยังได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ช่วยเหลืองานด้านสังคม ได้แก่ ประธานมูลนิธิกรมพระธรรมนูญ และรองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย เป็นต้น
ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เจ้ากรมพระธรรมนูญได้มุ่งเน้นสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขับในคดีอาญา โดยดำเนินการปรับปรุงห้องคุมขังของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มาศาลทหารให้เป็นมาตรฐานตามหลัก สิทธิมนุษยชนและให้นโยบายหลายประการ เช่น ให้มีการปรับปรุงหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตรชั้นสูงของโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ ให้มีการศึกษาอบรมวิชากฎหมายที่ทันสมัย ให้ใช้ระยะเวลาน้อยลงเพื่อให้นายทหารเหล่าพระธรรมนูญได้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของผู้บังคับบัญชามากที่สุด นอกจากนี้ยังได้ สั่งการกำชับติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่จนทำให้นโยบายของผู้แทนพิเศษของรัฐบาลที่มี พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นรองผู้แทนพิเศษของรัฐบาลซึ่งให้นโยบายว่าจะมีการคุ้มครองพยานในคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรในจังหวัดชายแดนใต้ที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีด้วยการดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒ และร่วมกับสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดทำบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการปฏิบัติและประสานงาน การให้ความคุ้มครองพยาน ในคดีอาญา แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) ระหว่างกระทรวงยุติธรรม และ กระทรวงกลาโหม มี พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมลงนามกับ นายวิศิษฐ์ วิศิษฐ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นำไป สู่การคุ้มครองพยานเพื่อให้มีการพิสูจน์ความจริงในกระบวนการยุติธรรม ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งได้สั่งการและติดตามให้มีการดำเนินการตามโครงการศาลทหารต้นแบบที่ พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ให้นโยบายไว้เพื่อให้ศาลทหารมีกระบวนการพิจารณาคดีตามหลักการมาตรฐานสากล ก่อให้เกิดความยุติธรรมอันเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาและจำเลยนับเป็นผลงานที่ได้ปฏิบัติขึ้นในระหว่างการทำหน้าที่เจ้ากรมพระธรรมนูญในฐานะที่เป็นหัวหน้า สายวิทยาการของเหล่าทหารพระธรรมนูญ โดยยึดถือหลักธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและข้อคิด เตือนตัวเองว่า “มีพระเครื่องอยู่ในตัว แต่ต้องมีพระธรรมอยู่ในใจ และอุปสรรควัดความแกร่ง ความเข้มแข็งวัดกำลังใจ ปัญหามีไว้วัดสติปัญญา”