สังคมวงการพระ

11 มี.ค. 62 งานครบ 6 รอบ 72 ปี ท่านนายกสมาคมฯ พยัพ คำพันธุ์ หัวเรือใหญ่ของวงการพระ

11-%e0%b8%a1%e0%b8%b5-%e0%b8%84-62-%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%9a-6-%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%9a-72-%e0%b8%9b%e0%b8%b5-%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%b2

ในวันที่11 มี.ค. 62 ที่จะถึงนี้ขอเชิญคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ คณะกรรมการรับและตัดสินพระ ชมรมพระเครื่องมรดกไทย ชมรมพระเครื่อง และพี่น้องชาววงการพระเครื่องทั่วประเทศ รวมถึงแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงานนวันอายุวัฒนะมงคลครบ 6 รอบ 72 ปี ท่านนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย คุณพยัพ คำพันธุ์ ซึ่งจัดกันที่ ห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ชั้น 8 งานเริ่มเวลา 16.00 น. โดยงานคุณพยัพ คำพันธุ์ ขอความร่วมมือ “งดรับของขวัญขอเพียงมาร่วมอวยพรก็ดีใจแล้ว”

          สำหรับคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ และ คณะกรรมการรับและตัดสินพระในสังกัดสมาคมฯ ท่านใดที่มีความประสงค์เดินทางมาร่วมงานสามารถแจ้งรายชื่อและไซส์เสื้อได้ที่ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ชั้น3 ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่างามวงศ์วาน หรือสอบถามเพิ่มเติมโทร 02-952-7898, 083-076-6919, 089 – 016-1036 (วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 11.00 – 18.00 น.) สำหรับสมาชิกชมรมพระเครื่องมรดกไทย ติดต่อได้ที่ทำการชมรมฯ ชั้น3 ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่างามวงศ์วาน โทร 02-953-5472

เกร็ดชีวิตคุณพยัพ คำพันธุ์
คัดลอกมากจากนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร ฉบับที่ 3 สัมภาษณ์โดย จ่าโกวิท แย้มวงษ์ เมื่อปี 2543

          สำหรับคุณพยัพ คำพันธุ์ เกิดเมือวันที่ 11 มีนาคม 2490 เกิดและโตที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง พอขึ้นเรียนชั้นประถมปีที่ 4 จึงได้ออกกลางเทอมมาช่วยเหลือบิดาและมารดาทำไร่ และหาเลี้ยงชีพหาเงินมาจุนเจือช่วยเหลือทางบ้านโดยการเป็นนักมวย ขณะนั้นมีอายุประมาณ 15-16 ปี โตขึ้นมาเริ่มเป็นวัยรุ่นจึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพมาพร้อมกับครอบครัวมายึด อาชีพค้าขายสินค้าที่ตลาดนัดสนามหลวง ซึ่งเป็นแหล่งตลาดนัดที่จัดว่าใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

          สาเหตุที่ให้คุณพยัพฯ ชื่นชอบพระเครื่องก็มาจากคุณพ่อที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่คุณพยัพเป็นเด็กจนกระทั่งหนุ่ม ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ไปพักอยู่ที่ จ.นนทบุรี ณ ที่ตรงนี้ทำให้ชีวิตเริ่มหันเหไปสนใจเรื่องพระเครื่อง

          เมื่อคุณพยัพฯ ได้รู้จักกับปรมาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งนับได้ว่าเป็นครูบาอาจารย์คนแรกในชีวิตท่าน นั่นก็คือ คุณพ่อเหมือน สิงหานนท์ (แต่ตอนนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว) บิดาของจ่าศักดิ์ สิงหานนท์ สมัยนั้นเล่นกันตามร้านกาแฟ หรือที่เรียกกันว่า “สภากาแฟ” โดยได้ศึกษาพระเครื่องจากคุณพ่อเหมือนวันละ 1 องค์ ซึ่งเหมือนกับเป็นการให้ความรู้แก่คุณพยัพฯ ทางอ้อม เพราะพอรุ่งขึ้นวันใหม่ได้เจอแกก็จะถามว่า พระที่ให้ดูเมื่อวานเป็นพระอะไร? มีตำหนิตรงไหนบ้าง? คุณพยัพ คำพันธุ์ จึงนับถือคุณพ่อเหมือน สิงหานนท์ เป็นบรมครูด้านพระเครื่องในชีวิตของท่าน

          พระเครื่องที่คุณพยัพฯ ชื่นชอบจริงๆ ก็คือพระปิดตา ถ้าถามว่าทำไมถึงชอบ คุณพยัพ คำพันธุ์ ตอบว่า บังเอิญพ่อชม บางเขน หรือที่ผู้คนเขาเรียกกันว่า เสือชม ซึ่งแกเป็นเพื่อนกับพ่อเหมือน และในตอนนั้นเสือชมแกเพิ่งจะพ้นโทษออกมาจากเรือนจำไปอยู่บ้านที่ย่านนนทบุรี

          ตามประวัติเล่ากันว่าเสือชมผู้นี้โดดเด่นในยุคนั้น คือ ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า แต่ก็ต้องโดนพระกล้ากลางสมร (ตำรวจในยุคนั้น) ประกาศจับตาย เสือชมถูกยิงจนตกกระทะทอดกล้วยแขกที่มีน้ำมันเดือดจัดยังไม่เป็นอะไรเลย ผู้คนก็ร่ำลือกล่าวขานว่าแกใช้พระปิดตามหาอุด ก็ทำให้คุณพยัพอยากรู้ว่า พระปิดตามหาอุดมีรูปร่างเป็นอย่างไร ด้วยความอยากรู้คุณพยัพฯ จึงได้เข้าไปพูดคุยสนิทสนมให้ความเคารพนับถือเสือชม และเรียกแกว่า “พ่อชม” ซึ่งเสือชมมักจะไปนั่งกินกาแฟทุกวัน จึงมีโอกาสได้พูดคุยและสอบถามเสือชม และเสือชมก็ได้ให้คุณพยัพฯ ดูพระปิดตาหลวงพ่อทับ วัดทอง ซึ่งเสือชมได้ทำบุญที่วัดทองกับแม่แล้วหลวงพ่อท่านได้มอบพระปิดตาให้มา

          จากการที่คุณพยัพฯ ได้เห็นพระปิดตาในวันนั้น ทำให้มีความรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นยังไม่หันเหชีวิตมาอยู่ในแวดวงพระเครื่อง แต่มีความรู้สึกว่าอยากได้พระองค์นั้นเป็นอย่างมาก เลยอธิษฐานในใจว่า ถ้ามีบุญบารมีก็คงจะได้เป็นเจ้าของพระองค์นี้ คุณพยัพฯ จึงถามเสือชมว่า “พ่อครับ ถ้าผมอยากได้พระองค์นี้ ผมจะทำอย่างไรจึงจะได้พระของพ่อครับ” เสือชมแกก็พูดแบบทีเล่นทีจริงว่า “เออ…เอาไว้มีเงินค่อยมาคุยกับกู ไม่มีเงินไม่ต้องมาคุย” พูดแล้วก็หัวเราะแล้วพูดต่อว่า “ขอโทษนะอ้ายหนูพ่อพูดเล่น” คุณพยัพฯ ได้ยินแล้วก็จำคำนี้ไว้ในใจตลอดเวลา

          วันหนึ่งคุณพยัพฯ มีเงินติดตัวอยู่ในกระเป๋า 3,000 บาท (สมัยนั้นทองบาทละ 350 บาท) เพื่อนำไปทำทุนประกอบอาชีพ ณ วันนั้น คุณพยัพฯ ได้เปลี่ยนแผนกำเงิน 3,000 บาทที่เป็นทุนเดินทางไปหาเสือชมแถววัดใหม่ทางหลวงในสวนย่านบางเขน พอพบเสือชมคุณพยัพฯ ก็เข้าไปกราบและพูดว่า “พ่อครับ วันนี้ผมมาหาพ่อผมมีเงินมาแล้วครับ” เสือชมก็ถามว่า “มีเงินเรื่องอะไร?” คุณพยัพฯก็ตอบว่า “ก็พ่อบอกว่ามีเงินค่อยมาคุยกับกู ค่อยมาเอาพระองค์นี้” เสือชมก็ตอบกลับทันทีว่า “อ้ายห่า…กูบอกแล้วว่ากูพูดเล่น”

          คุณพยัพฯ ก็เลยพูดขึ้นว่า “พ่อชมเป็นผู้ที่กว้างขวาง สัจจะต้องมีครับ พ่อพูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น สมญานามพ่อคือ เสือชมเป็นคนพูดจริงทำจริง” เรียกว่าพูดแบบลูกผู้ชายกับเสือชม พอเสือชมได้ยินก็หัวเราะแล้วพูดว่า “ไม่เคยมีใครพูดกับกูคำนี้มาก่อนเลย” และแกก็พยายามพูดแบบที่แกจะไม่ขาย แต่คุณพยัพฯ ก็พยายามพูดอ่อนน้อมว่า “พ่อลองตีราคาซิเท่าไหร่ ถ้าผมมีปัญญาก็จะเช่าพ่อเอาไว้บูชา” เสือชมก็โพล่งออกมาว่า “มึงอยากได้จริงกูเอาห้าพัน” คุณพยัพฯ ตกใจคำว่า 5,000 บาท สมัยนั้นเช่าพระสมเด็จบางขุนพรหมได้หนึ่งองค์เลย

          ด้วยใจที่ชอบพระปิดตาองค์นั้นมาก คุณพยัพฯ ก็บอกไปว่า “พ่อครับผมไม่ต่อ ผมเอา แต่วันนี้เงินผมไม่พอ ผมให้ไว้ 3,000 บาทก่อน พร้อมด้วยปืน 11 มม. 1 กระบอกวางค้ำประกันไว้ก่อน อีก 7 วันผมมาไถ่คืน” เสือชมทำท่าตกใจอย่างเห็นได้ชัด ที่คุณพยัพฯรักและอยากได้จริงๆ จึงพูดขึ้นว่า “เอ้า…ถ้ามึงรักจริงก็ให้” เสือชมได้มอบประสิทธิ์พระปิดตาองค์นั้นให้คุณพยัพฯ ด้วยความเต็มใจ และบอกว่า “มึงเอาปืนคืนไป มีเงินเมื่อไหร่ค่อยมาให้กูปืนกูมีเยอะไป”

          หลังจากนั้นอีก 7 วันคุณพยัพฯ ก็นำเงินอีก 2,000 บาท ไปให้เสือชม ด้วยน้ำใจที่เต็มร้อยของอดีตเสือชื่อดัง ได้คืนเงินให้คุณพยัพฯ 1,000 บาท เป็นอันว่าแกคิดเพียง 4,000 บาทเท่านั้น นับเป็นพระองค์แรกในชีวิตของคุณพยัพฯ ที่เช่าบูชาถึง 4,000 บาท ซึ่งนับว่าแพงที่สุดในสมัยนั้น ผลสุดท้ายพระปิดตาองค์นั้นก็ถูกพี่ชายขอยืมไปใช้จนไม่ได้คืน

          ในอดีตที่ผ่านมาคุณพยัพ คำพันธุ์ ก็เป็นที่รู้จักมักคุ้นของชาวนนท์เป็นอย่างมาก ด้วยการประกอบอาชีพค้าขาย สมาชิกสภาจังหวัดนนทบุรีก็เคยเป็นมาแล้ว ชีวิตหันเหเข้าวงการพระเครื่องเต็มตัวก็สืบเนื่องมากจากพระปิดตาวัดทององค์ที่ได้เช่าบูชามานั้นเอง

          เมื่อเงิน 4,000 บาทที่เคยนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนหมดลง กลับบ้านก็ไปทะเลาะกับแม่บ้านเพราะเงินหมด จึงได้นำเอาพระที่เคยเช่าเก็บเอาไว้ออกให้บูชา เช่น พระมเหศวรหน้าใหญ่, พระวัดพลับ, พระวัดปากน้ำ, พระปิลันท์ ที่ให้เช่าออกไปเพื่อชดเชยเงินที่หมดไป 4,000 บาท พอพระที่เช่าออกไปได้กำไรดี คุณพยัพฯ จึงคิดว่าน่าจะหันมาเล่นพระจริงๆ ได้ของดีของแท้มาเราสามารถซื้อขายได้ ตอนนี้เองจึงได้บอกกับภรรยาว่า “คุณก็ขายของของคุณไป ส่วนตัวผมก็จะหันไปเล่นพระดูซิว่าจะเป็นอย่างไร”

          ในช่วงนั้นทุนรอนคุณพยัพฯ ก็ยังไม่ค่อยมี อาศัยซื้อมาขายไป ซื้อพระลำพูนองค์ละ 40-50 บาท ก็ขาย 100-120 บาท คิดว่ากำไรดีกว่าขายผักซึ่งได้กำไรวันละ 100 กว่าบาท ส่วนขายพระได้กำไรวันละ 300-400 บาท หรือบางวัน 1,000 บาทก็มี จึงได้แยกตัวเข้าวงการพระตั้งแต่นั้นมา

          ขณะนั้นได้พบอาจารย์ช่าง สะพานพุทธ หรือ คุณมนัสชัย เจริญพลนภาชัย ได้ประมูลพระด้วยกันย่านสะพานพุทธ, สะพานพระราม 6, บ้านแขก สมัยนั้นเงินก็ยังไม่ค่อยมี แต่ก็เก็บหอมรอมริบจนซื้อรถจักยาน (2 ล้อถีบ) ได้ 1 คันปั่นจากเมืองนนท์ไปเล่นพระแถวสะพานพุทธ บ้านสมเด็จ ในช่วงนั้นได้พบกับ คุณเทพ บางแค, คุณอรุณ(เหล่), อาจารย์ ช.ชวนเชย, คุณลุงสิน, คุณติ่ง บุคคโล, คุณบิ วงเวียนเล็ก ฯลฯ

ในยุคนั้นคุณพยัพฯ เล่นพระแบบหน้าเดียว จึงทำให้มีเพื่อนหนุ่มด้วยกันทั้งหมด 5 คน คือ
1.คุณต้อย เมืองนนท์ เล่นพระเนื้อดินกับเนื้อชิน
2.คุณช้าง กรมชล เล่นเหรียญคณาจารย์
3.คุณประเสริฐ ขันธ์จำนงค์ เล่นหาพระสมเด็จ
4.หม่อมธนพร นิลรัตน์ ณ อยุธยา เล่นพระเบ็ดเตล็ดทั่วไป
5.คุณพยัพ คำพันธุ์ เล่นพระปิดตา
          ทั้ง 5 คนนี้นับว่าเป็นกลุ่มที่เด็กมาก เทียบกับสมัยนี้ก็คือกลุ่มหนุ่มคนรุ่นใหม่ ไปไหนมาไหนก็โหนรถเมล์กันไป แต่คุณต้อยโชคดีหน่อยมีรถเฟียตอยู่คันหนึ่ง เลยออกลุยต่างจังหวัดด้วยกันทุกจังหวัด

          ปัจจุบันคุณพยัพ คำพันธุ์ ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ซึ่งได้เคยกล่าวถึงสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ไว้ในนิตยสารพระเครื่องอภินิหารว่า “ปัจจุบันนี้วงการพระมีสมาคมขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่สมาคมของผม แต่เป็นสมาคมของคนวงการพระทุกคน จึงขอให้ช่วยกันดูแลตรงนี้ เพื่อเป็นรากฐานให้แก่นักเล่นพระรุ่นหลังๆ และผู้ที่จะก้าวเข้ามาในอนาคต เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างกฏเกณฑ์ให้ถูกต้อง ไม่ว่าการจัดประกวดพระก็ดี หรือการเล่นพระก็ดี การให้ความรู้แก่คนทั่วไปก็ดี ขอให้ถูกต้องตรงนั้น และสมาคมผมเชื่อเหลือเกินว่าจะอยู่กับพวกเราตลอดไป”

…………………………
จ่าโกวิท แย้มวงษ์ สัมภาษณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2543

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox