หากพูดถึงเซียนพระหนุ่ม คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่น่าจับตามอง ในเวลานี้ก็คงจะไม่มีใครไม่รู้จักเซียนพระท่านนี้ อีกทั้งยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงความมีน้ำใจ เดินสายช่วยงานเพื่อนพ้องวงการพระเครื่องมาโดยตลอด… ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้พบเจอกันเกร็ดชีวิตคนดังจึงไม่พลาด ขอสัมภาษณ์เพื่อนำเรื่องราวเกร็ดชีวิตคนดังท่านนี้มาเล่าสู่ทุกท่านฟัง …
อาทิตย์ นวลมีศรี
เจ้าของตลาดนัดพระเครื่องภาคตะวันตก(ตลาดกอบกุล) จ.ราชบุรี
หรือในวงการรู้จักกันในชื่อ โอ๊ต บางแพ
“ศึกษาพระเครื่องโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์
ควบคู่กับการสืบค้นวิธีการสร้างจากตัวเหรียญ จนมีความชำนาญ”
หากพูดถึงเรื่องก่อนจะมาสนใจพระเครื่องนั้น โอ๊ต บางแพ เล่าย้อนให้ฟังว่า “ผม ขายอาหารทะเลมาก่อน ส่วนสาเหตุที่ทำให้หันมาสนใจในพระเครื่องมาจากประสบการณ์ เนื่องจาก ผมเคยโดนรถตู้ชนที่หน้า ม.รามคำแหง ซึ่งนับว่าเป็นการชนที่รุนแรงมากแต่ปรากฏว่าไม่เป็นอะไรเลย ก็คิดว่าอาจจะเป็นเพราะพระกริ่งที่แขวนอยู่เพียงองค์เดียว ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นของวัดไหน จึงเกิดความเชื่อและศรัทธาว่าพุทธคุณของพระเครื่องนั้นมีอยู่จริงและก็เริ่มชื่นชอบในพระเครื่อง
หลังจากนั้นจึงหันมาเริ่มศึกษาและเก็บสะสมพระเครื่องเรื่อยมาจนกระทั่งได้รู้ว่าพระเครื่องที่เก็บสะสมอยู่นั้นขึ้นราคา เพราะมีคนมาขอซื้อ ก็รู้สึกดีกับพระที่เราเก็บสะสมอยู่ ยิ่งด้วยความที่พระเครื่องเราแท้เวลาเราไปไหนคนก็จะให้ความสนใจและขอซื้อ ก็หลงเสน่ห์พระเครื่องและสะสมพระเครื่องเรื่อยมา
“ด้วยความที่ ขายอาหารทะเลก็ต้องขับรถตอนกลางคืน ซึ่งมีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุ ชนบ้าง จะตกคลองบ้างบ่อยครั้งเข้าก็เลยคิดเปลี่ยนอาชีพ พอรู้สึกอยากเปลี่ยนอาชีพก็เกิดความคิดว่าพระที่เรามีจำนวนมาก คนก็ชอบมาติดต่อขอเช่าซื้อ ก็อยากจะปล่อยเพื่อเอามาทำทุน ซึ่งตอนนั้นมันเหมือนกับดวงเราจะได้เป็นเซียนพระหรือยังไงไม่ทราบ ผมไปซื้อพระที่บ้านหลังหนึ่งเขาขายให้ผมในราคา 1,500 บาท จำนวน 10 องค์ แล้วจากนั้นผมก็แบ่งออกไป 9 องค์ได้เงินมา 7 หมื่นกว่าบาท
มีอีกครั้งหนึ่งผมประสบปัญหาเรื่องการเงิน ผมเป็นหนี้อยู่ 3 ล้าน ผมก็ไปขอพรหลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง แล้วผมก็ซื้อพระได้องค์หนึ่งแล้วก็เปลี่ยนมือไปได้มาล้านกว่าบาท ต่อจากนั้นก็ซื้อพระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานได้ ทั้งที่ไม่น่าจะซื้อได้ ซื้อมา 3 ล้านกว่าบาท เปลี่ยนมือไป 5 ล้านกว่า เรียกได้ว่าเราหมดหนี้หมดสินก็เพราะพระเครื่อง หลังจากนั้นมาก็เอาเวลามาสนใจแล้วก็ใช้ในการศึกษาพระเครื่องให้มากขึ้น เพราะผมซื้อพระมาเยอะมากบางอย่างไม่แท้ก็มี แท้แต่ไม่มีราคาก็มี เราก็เลยต้องเริ่มฝึก เริ่มศึกษาให้มากขึ้น พอเริ่มดูพระเป็นก็ซื้อพระแท้ได้มากขึ้น จากที่ตอนแรกๆ ซื้อเก๊มากกว่าแท้ พอมาตอนนี้เราซื้อแท้ได้และก็เอามาเปลี่ยนได้เงินมาก็เริ่มสนุก และเวลาเราไปเจอกลุ่มพระแล้วพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันแล้วเราสามารถคุยเรื่องพระได้มากกว่าคนอื่นเราก็ดูเป็นคนมีคุณค่าแล้วก็เป็นความภาคภูมิใจ
หลังจากนั้นก็ยกกิจการอาหารทะเลให้ครอบครัวดูแล แล้วก็หันมาซื้อพระขายพระเต็มตัว และด้วยความที่เราทำงานด้านพระเครื่อง ทำให้ผู้ใหญ่เล็งเห็นความสามารถจึงได้รับเลือกเป็นประธานชมรมพระเครื่องเพื่อนพ้องน้องพี่จังหวัดราชบุรี หลังจากนั้นก็เริ่มเดินสายในวงการพระเครื่องมาโดยตลอด แล้วผมก็มีโอกาสได้รู้จักกับ พี่แดง นาดูน, พี่ยุทธ ภูเก็ต และ พี่ไก่ อุดร ที่งานประกวด โรงเรียนท่าม่วง ของ จ.กาญจนบุรี พวกพี่ๆ ก็ชักชวนผมเข้าสู่วงการ ก็เลยอยู่ในวงการมาจนทุกวันนี้” นี่คือที่มาของการหันเหชีวิตมาเล่นพระเครื่องที่ โอ๊ต บางแพ เล่าให้ฟัง
ส่วนพระเครื่องที่ถนัดนั้น โอ๊ด บางแพ เล่าว่า “จริงๆ แล้วผมเล่นหลวงปู่หลิวมาก่อน แต่ด้วยความที่เราเป็นคนที่ชื่นชอบที่จะศึกษาประวัติพระ เราไม่ได้เล่นแค่ซื้อขายแต่เราชอบศึกษา ก็อ่านเจอว่าพระรูปนี้นี้เก่งด้านนี้ หรือรูปนั้นก็เก่งด้านนั้น ซึ่งพระยุคเก่าท่านต้องเดินธุดงค์ มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสจึงทำให้อยากทราบถึงพระรุ่นเก่าๆ จนชื่นชอบ จากนั้นก็หันมาศึกษาเหรียญเก่า และด้วยความที่เหรียญเก่า เหรียญโบราณ ยุคแรกๆนี้สร้างขึ้นที่จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด ผมก็เลยหาประวัติเกี่ยวกับพระเครื่องจังหวัดราชบุรี และลุ่มน้ำแม่กลองทั้งหมด”
หลักการศึกษาพระเครื่องโอ๊ด บางแพ เล่าว่า “ศึกษาพระแบบเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะผมเรียน ม.รามคำแหง สาขาวิทยาศาสตร์ จึงศึกษาพระเครื่องจากกรรมวิธีการสร้างแบบเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เลยทำให้เราค่อนข้างจะเรียนรู้พระเครื่องได้เร็ว และก็หันมาศึกษาจากวิธีการสร้างเพิ่มเติม อย่างตำหนิพระที่เขาใช้ดูนี้เราไม่ได้เพียงแค่จำตำหนิอย่างเดียวแต่เราอยากรู้ว่ามันเกิดจากอะไร ถึงได้เกิดตำหนินี้ก็เลยเริ่มศึกษาจากวิธีการสร้าง บังเอิญที่คุณตาของผมเป็นเซียนพระรุ่นเก่า คุณตาก็เลยสอนผมว่าถ้าอยากรู้ธรรมชาติพระเก่าพระใหม่แตกต่างกันอย่างไรให้เอาเหรียญ พ.ศ. เดียวกันมาวางเรียงกัน สมมุติว่าพระเหรียญ พ.ศ. 2480 เราก็เอามาวางเรียงกัน 10 เหรียญ แล้วก็ส่องเหรียญเหล่านี้กลับไปกลับมา จะทำให้เรารู้ว่าธรรมชาติเก่ากับใหม่มันแยกกันยังไง”
โอ๊ต บางแพ ฝากถึงเซียนรุ่นใหม่ที่อยากจะเข้ามาในวงการพระเครื่องว่า “อยากให้ศึกษาจากตัววัตถุมงคล ว่าตัววัตถุมงคลนั้นบ่งบอกอะไร สามารถสืบค้นอะไรได้บ้าง และศึกษาเพิ่มเติมจากตัวหลวงพ่อ จะทำให้เราศรัทธาและดูพระเป็น ซึ่งเมื่อมีความศรัทธาเราจะมีความสุขจากการสะสมพระเครื่อง แต่ถ้าเราเน้นเรื่องการซื้อ-ขายว่าอันไหนถูก ถ้าอันไหนไม่มีคุณค่าจะทำให้เรามองข้ามเรื่องพุทธคุณไป พระบางรูปท่านเก่งแต่วัตถุมงคลท่านสร้างน้อยมากก็อาจจะไม่มีให้เห็นก็มี”
ปัจจุบันนี้ โอ๊ต บางแพ ได้จัดทำหนังสือ คัมภีร์พระเครื่องเมืองราช ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออยากให้คน เรียนรู้พระเครื่องด้วยตัวเอง ซึ่งโอ๊ต บางแพ เอาประสบการณ์จากการฝึกดูพระเครื่องมาถ่ายทอดลงในหนังสือเล่มนี้
นอกจากนี้ โอ๊ต บางแพ ยังเน้นอีกว่า “หนังสือเล่มนี้ผมพูดได้เลยว่าถ้าอ่านแล้วจะสามารถดูพระเครื่องเป็นทั่วประเทศเลย โดยหนังสือของผมมีจุดเด่นคือการให้รู้วิธีการสร้าง วัตถุมงคลแต่ละอย่าง โดยสืบค้นจากตัวเหรียญทั้งหมด และให้เราเข้าใจเกี่ยวกับหลักฐานต่างๆ ที่อยู่บนเหรียญด้วย ทั้งอักขระบาลีหรือขอมที่อยู่บนตัวเหรียญ ว่าบนเหรียญจารึกอะไรไว้ และหมายถึงอะไร และยังให้ความสำคัญกับความหมายที่อยู่ในเหรียญ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจคาถา 108 คาถา ซึ่งถ้าทราบความหมายก็จะทำให้รู้ว่าเหรียญรุ่นนี้มีพุทธคุณด้านอะไร นอกจากนี้ในหนังสือเล่มนี้ยังสอนการดูพัดยศด้วยซึ่งพัดยศเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้ทราบว่าพระรูปนี้มีสมณศักดิ์อะไรในช่วงปีนั้นๆ ในภาพถ่ายนั้นๆ ซึ่งสมณศักดิ์จะมีผลในการเรียงลำดับรุ่นของพระ เช่นถ้าเหรียญขึ้นต้นด้วยพระครูก็ต้องสร้างก่อนเรียนที่ขึ้นต้นด้วยพระราช เป็นต้น และการที่เราได้รู้วิธีการสร้าง ความหมาย และก็รู้ประวัติของท่าน จะทำให้เรารักและหวงแหน พระเครื่องจริงๆ มากกว่าการที่เอามาแค่ซื้อขาย
สำหรับท่านใดที่มีความสนใจอยากศึกษาเหรียญรุ่นเก่า สามารถติดต่อขอซื้อหนังสือ คัมภีร์พระเครื่องเมืองราช ได้ที่ ได้ที่ เพจพระเครื่องสันขวาน อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้หรือมีพระอยากเปลี่ยนเป็นเงินสดก็ไปพบโอ๊ด บางแพได้ที่ ตลาดพระเครื่องภาคตะวันตก หรือตลาดกอบกุล ที่คุณโอ๊ด บางแพ กับพี่โอ๊ต เป็นเจ้าของ ตลาดนัดพระเครื่องภาคตะวันตก(ตลาดกอบกุล) จ.ราชบุรี มีนัดทุกในวันพุธกับวันอังคาร โทรนัดล่วงหน้าได้ที่ 080-657-4141
by… จุ๋ม ศิริพร