พระอาจารย์ภูรินท์ ฐิตธมฺโม หรือญาครูภูวัดทุ่งสว่างอารมณ์ บ้านเมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
โดย… จุ๋ม อภินิหาร
ญาครูภูนามเดิมว่า ภู เกิด 17 พฤศขจิกายน พ.ศ. 2542 ในครอบครัวฐานะปานกลาง เครือญาติธรรมกับพระเดชพระคุณ พระเทพวชิรวิมล, ดร. เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด
ในสมัยเด็กนั้น เด็กชายภูถูกปลูกฝังบ่มเพาะให้เป็นผู้ฝักใฝ่ในธรรม โยมย่าและโยมยาย มักจะพาไปวัดฟังธรรมอยู่เสมอ และในทุกเช้าตื่นมาก็จะใส่บาตร ก่อนไปโรงเรียนจะต้องเข้าวัดถวายภัตตาหารเช้า ตกเย็นเลิกเรียนก็ไปวัดฟังพระท่านทำวัตรเย็นโดยตลอด ทั้งพ่อก็เป็นศิษย์รุ่นแรกของพระอาจารย์ต้อม วัดท่าสะแบง เวลามีงานวัดต่างๆ ภายในตำบลครอบครัวของท่านก็มักจะไปช่วยงานจนทำให้ เด็กชายภูในช่วง ป.4-ป.6 ได้เข้ากราบพระเถราจารย์อยู่เสมอๆ ทั้งได้ขานอ่านหนังสือธรรมะจนกระทั่งจดจำได้หมดก่อนวัยอันควร และรู้สึกอยากบวชเพื่อหันเข้าทางธรรม แต่ได้ถูกโยมแม่ขอร้องไว้เนื่องจากอยากให้ท่านได้เรียนรู้ทางโลกตามแบบเด็กๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันก่อน
ทว่าในช่วงอายุ 12 ปีที่จบชั้น ป.6 จะต้องร่ำเรียนชั้นมัธยมศึกษา เด็กชายภูไม่อยากเรียนก็มาขอแม่บวช แรกนั้นโยมแม่ไม่อนุญาต เด็กชายภูจึงได้ไปลองสอบ โดยมีข้อแม้ว่า หากตนสอบไม่ติดจะขอบวชเณร ซึ่งแม่ตอบตกลง กระทั่งผลสอบออกมา ปรากฏว่าเด็กชายภูสอบไม่ติด ซึ่งโยมแม่จึงต้องยอมให้บวชเณร
หลังจากรู้ว่าตนเองสอบไม่ติดเด็กชายภูก็ไปหาพระเดชพระคุณ พระเทพวชิรวิมล, ดร. เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นผู้บวชให้ เมื่อท่านทราบความประสงค์ก็ให้กลับมาขออนุญาตพ่อ-แม่อีกครั้ง แล้วเมื่อเด็กชายภูกลับมาบ้านก็ได้บอกกล่าวพ่อแม่ จากนั้นจึงหยิบมีดโกนของแม่ เนื่องแม่ทำอาชีพช่างเสริมสวย จึงมีมีดโกนในบ้าน จัดการโกนผมด้วยตัวเองแล้วนุ่งขาวห่มขาวไปรอท่านที่วัดเพื่อบวช วันนั้นจึงได้บวชตามความตั้งใจ ในปี พ.ศ. 2555 ณ วัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ภายหลังจากบวชเป็นสามเณร เณรภูก็มีโอกาสได้ร่ำเรียนนักธรรม พระปริยัติธรรม ทั้งแผนกฝ่ายธรรมบาลี และแผนกฝ่ายสามัญ ก่อนจะเริ่มเข้าหาพระเกจิ เนื่องจากในวัยเด็กพ่อท่านที่เป็นศิษย์รุ่นแรกของพระอาจารย์ต้อม ได้เคยถวายท่านให้เป็นลูกของพระอาจารย์ต้อม ตามความเชื่อของอีสานเพื่อให้เด็กผู้นั้นเติบโตขึ้นพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บและเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย นั่นจึงทำให้เณรภู ได้รู้ ได้เห็นพระอาจารย์ต้อม หรือที่เณรภูเรียกหลวงพ่อสร้างวัตถุมงคลมาแต่เล็กๆ ตั้งแต่ครั้งก่อนบวชเป็นเณร
ในหลายครั้งที่พระอาจารย์ต้อมท่านสร้างวัตถุมงคล เด็กชายภูก็มักเห็นพ่อของตนคอยช่วยพระอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นการม้วนตะกรุด หรือการผสมมวลสาร การจัดพิธีพุทธาภิเษกต่างๆ ซึ่งพระอาจารย์ต้อมท่านก็จะดำเนินการเองทุกขั้นตอน จึงซึมซับเรื่องวัตถุมงคล ถือว่าพระอาจารย์ต้อม คือพระเกจิรูปแรกที่ทำให้เด็กชายภูสนใจในพระเครื่อง ส่วนอีกรูปที่เด็กชายภูมีโอกาสได้เรียนรู้ก่อนบวชเณร คือ หลวงปู่สมสิทธิ์ รกฺขิตสีโล ทายาทธรรมหลวงปู่ทองมา ถาวโร เนื่องจากในราวปี พ.ศ. 2552-53 เด็กชายภูได้มีโอกาสติดตามญาติไปช่วยงานฉลองพระอุโบสถ ก็ไปช่วยตำดินโบสถ์ และเวลาหลวงปู่เจิมรถก็จะเป็นคนถือขันน้ำมนต์ให้หลวงปู่ นี่คือปฐมเหตุเริ่มต้นที่ทำให้ ญาครูภูสนใจเรื่องวัตถุมงคล
- จุดกำเนิดการเรียนสรรพวิชา
ภายหลังจากบวชเณร ช่วงนั้นเณรภูอายุได้ 14 ปี ได้รู้จักหลวงปู่รูปหนึ่งที่จังหวัดมหาสารคาม ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่ภมลทา ที่ประเทศลาว ทำให้ท่านได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่เหนือธรรมชาติ จึงเกิดความสงสัยก่อนจะตัดสินใจเข้าไปกราบขอร่ำเรียนวิชาเพื่อจะได้รู้มูลเหตุของการเกิดสิ่งนั้น แต่พระอาจารย์ท่านบอกว่าเณรภูยังเป็นเด็กจึงไม่สอนให้ แต่สามเณรก็ไม่ลดละคะยั้นคะยอจนหลวงปู่ท่านเมตตา จึงให้ใบลานอักษรธรรมล้านช้างมา 1 ผูก พร้อมกับบอกว่าให้ไปอ่านและแปลมาให้ได้ก่อน ท่านถึงจะสอนให้ ดั่งการทดสอบว่าเณรน้อยอยากเรียนจึงหรือไม่
เมื่อได้ใบลานธรรมล้านช้างมา เณรภูก็เปิดศึกษา โดยใช้วิธีเทียบเคียงกับหนังสือ และทดสอบตนเองว่าอ่านถูกหรือไม่อย่างไรด้วยการสอบถามพระผู้ใหญ่ผู้ใกล้ชิดหลวงปู่ภมลทา ทำอยู่แบบนี้ประมาณ 3-4 เดือน ก็ไปอ่านให้ท่านฟังทั้งเล่มทั้งผูก พระอาจารย์ท่านก็ถามว่าไปเก่งมาจากไหน จากนั้นท่านก็อนุญาตให้เรียน ก็เลยได้เรียน
สำหรับคำว่าสรรพวิชาของล้านช้างคือภาคอีสานและลาว ที่เป็นจอมสรรพวิชาจริงๆ คือ ดวงธรรม ที่คนโบราณเรียกคนที่มีความรู้มีวิชาอาคมว่า หมอธรรม นั่นเอง ซึ่งธรรมนี่ละคือบทเรียนแรกของเณรภู
สามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนดวงธรรมจากหลวงปู่ภมลทา คือดวงธรรมพระอรหันตรา 84,000 องค์ ซึ่งถือเป็นวิชาหรือค่ายใหญ่ ที่สำคัญมากในสายท่าน โดยผู้เรียนจะมีข้อห้ามทั้งสิ้น 19 ข้อ ซึ่งจะมีข้อคะลำหรือข้อห้ามหลักของผู้เรียนคือ ห้ามฆราวาสเรียน ให้เรียนแต่เณรกับพระเท่านั้น และเมื่อพระหรือเณรผู้ใดที่ได้เรียนจะต้องห้ามสึก ส่วนอีกข้อที่ต้องยึดถือปฏิบัติให้มั่นคือ พระเณรที่เรียนนั้นจะต้องเป็น “ซาย(ชาย)นอนเดี่ยว” คือต้องนอนรูปเดียว
เรียนที่นั่น 2 ปี จวบจนอายุได้ 16 ปี ก็มาร่ำเรียนกับหลวงปู่พิมพ์ เตชปญฺโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งสว่างอารมณ์ เรียนคู่กับศิษย์เอกของท่านคือ พระครูวีระธรรมาภิรัต เรียน ธรรมประทีปแก้ว เรียนอยู่ที่วัดทุ่งสว่างอารมณ์ 1 ปีเต็ม อยากจะเล่าเรียนวิชาของหลวงปู่ทองมา แต่หลวงปู่สมสิทธิ์ ผู้สอนบอกให้บวชพระก่อนค่อยมาเรียน อายุ 17 ปีจึงตัดสินใจกลับไปวัดท่าสะแบง เพื่อขอเรียนดวงธรรมกับพระอาจารย์ต้อม หรือที่ สามเณรภูเรียกว่าหลวงพ่อต้อม
ญาครูภูเล่าว่า ตอนเข้าไปหาหลวงพ่อต้อมท่านเก้อเขินมาก เพราะว่าเราห่างจากหลวงพ่อต้อมไปนานหลายปี ไม่ได้ไปหาท่านที่วัดเลยพอจะเข้าไปขอเรียนวิชาก็เข้าไปดื้อๆ ไปถามเอาเลย วันนั้นเข้าไปกราบและถามหลวงพ่อต้อมว่า
“หลวงพ่อครับลูกเณรขอเรียนธรรมหน่อย”
พระอาจารย์ต้อมท่านก็ถามย้ำว่า “เณรจะเรียนอะไรนะ”
เณรภูก็เลยบอกย้ำว่า “ภูขอเรียนธรรมกับหลวงพ่อ”
พระอาจารย์ต้อมก็รับคำ จากนั้นก็บอกเณรภูให้ไปแต่งคาย โดยท่านเป็นคนบอกว่าให้ใช้อะไรบ้างในการแต่งขันธ์ พร้อมกับเขียนชื่อวันเดือนปีเกิดก็ไปถวายท่าน “คาย” ในภาษาอีสานก็คือการแต่งขันมงคล หรือขันธ์ 5 มอบตัวเป็นศิษย์อาราธนาท่านเป็นครูอาจาริยา
ถวายขันธ์เสร็จท่านก็บอกว่าให้กลับไปก่อนเดี๋ยวจะบอก ให้มายกขันธ์ครู ระหว่างนั้นเณรภูก็รอแต่ก็ยังไร้วี่แววว่าจะได้มอบตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ต้อมเมื่อไหร่ จวบจนกระทั่งล่วงเลยเวลาไป 1 ปีเต็ม เณรภูอายุครบ 18 ปี ท่านก็ฝากคนมาบอกโยมพ่อของเณรภูว่า ให้เข้าไปหาท่านเพื่อทำพิธียกขันธ์ครูมอบตัวเป็นศิษย์ในวันเพ็ญเดือน 12 วันลอยกระทง คือฤกษ์ในตอนนั้น นับเป็นวันเต็มปีเต็มเดือนขวบเต็มปี มันถึงจะอุดมสมบูรณ์ในความเชื่อของคนโบราณ
พอถึงวันเพ็ญเดือน 12 สามเณรภูก็ได้ยกขันธ์ครูมอบตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ต้อม ปภสฺสโร ภายหลังจากนั้นก็อยู่ที่วัดท่าสะแบงกับท่าน พระอาจารย์ต้อม
การเรียนการสอนของพระอาจารย์ต้อมนั้น ญาครูภูเล่าว่า ท่านจะไม่สอนให้หัดเขียนหัดอ่านหรือท่องจำ แต่ท่านจะสอนแบบปากต่อปาก เล่าเหมือนชวนคุยทั่วไปเพียงครั้งเดียวจำได้ก็จำจำไม่ได้ก็จบ บางครั้งเดินในบริเวณวัดด้วยกัน ท่านก็ขีดลงพื้นดิน ว่านี่คือคาถา นี่คือยันต์นะ ความที่เณรภู ณ ตอนนั้นเป็นผู้มีความจำดี จึงจดจำได้หมด เมื่อท่านย้อนถามก็สามารถตอบได้ บางครั้งท่านก็จะสอนเป็นโอวาทธรรมต่างๆ หรือการวางตัว รวมถึงข้อธรรม วินัย หลวงพ่อจะสอนทั้งหมด
สามเณรภูเล่าเรียนจากหลวงพ่อต้อม จวบจนกระทั่งบวชพระ พระอาจารย์ต้อมก็เป็นองค์ประธานบวชให้ พอบวชพระแล้วก็ได้กลับเรียนดวงธรรมพระไตรสรณคมน์ของหลวงปู่ทองมา กับพระครูสิลสาราภรณ์ (สมสิทธิ์) วัดป่าสักดาราม ตามที่ท่านเคยบอกไว้ว่าให้บวชพระแล้วค่อยมาเรียน เพราะการเรียนวิชานี้โยมฆราวาทสามารถเรียนได้ แต่หากเป็นเณรหรือพระผู้เรียนจะต้องไม่สึก ทั้งยังมีข้อห้ามอีกหลายประการ ซึ่งในตอนที่ญาคูภูไปขอเรียนท่านบวชเณรอยู่ หลวงพ่อท่านจึงเกรงว่าเณรน้อยจะสึกจึงยังไม่สอน พอบวชเป็นพระกลับไปเรียนท่านก็สอนให้ตามที่เคยบอกไว้
ซึ่งนับตั้งแต่เณรภูบวชเรียนจวบจนกระทั่งร่ำเรียนสรรพวิชา ท่านต้องยอมละทิ้งนิสัยเด็กทั้งหมด เพื่อร่ำเรียนและปฏิบัติตามแบบอย่างพระคณาจารย์ในยุคก่อน ทั้งข้อวัตรปฏิบัติ ต้องครองตนอยู่ในธรรมไม่ให้ขาด หมั่นบ่มกำลังในเรื่องของสมาธิเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเรียน ซึ่งครูบาอาจารย์ทุกคนที่ท่านร่ำเรียนมา ก็จะบอกจะสอน ให้ทำแบบนี้ทุกคน เพราะนี่คือบรรทัดฐาน
และในการศึกษาดวงธรรมนั้น ญาครูภูกล่าวว่า การสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันดูด้วยตัวเองไม่ได้ มันต้องให้คนอื่นดู เรารู้แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ขาดแค่นั้น ศีลธรรมเราไม่ให้บกพร่องแค่นั้น ตัวนี้แหละเป็นบ่อเกิดของความมงคล เราทำอะไรก็จะมงคล ถ้าตัวเรามงคลตัวเราดีแล้วจับอะไรก็ดี จับเฉยๆ ก็ดี
เรื่องความเมตตาด้วยเช่นกัน หากจะมอบวัตถุมงคลด้านเมตตาให้ใคร อย่างแรกต้องทำตัวเองให้เป็นผู้มีเมตตาก่อน ทำตัวเองให้เป็นเมตตา จนเรารู้สึกว่าเราได้รับอานิสงส์จากความเมตตาแสดงว่ามันใช้ได้จริง นั่นถึงจะกระจายให้ลูกศิษย์ลูกหาไปใช้ เพราะถ้าตัวเรามีเมตตาแล้วได้อานิสงส์จากความเมตตาแล้วพวกคณะศิษย์ก็ใช้ได้ ไม่ใช่ทำแล้วใช้ไม่ได้ไม่เอา
ญาครูภูบอกว่า “ฉันจะบอกกับตัวเองตลอดว่าดังไม่ดังฉันไม่เกี่ยว แต่สิ่งที่ฉันจะทำ จะต้องดี จะต้องเกิดผลจริง เพราะวัตถุมงคลนิยามคำว่าวัตถุมงคล เป็นของขลัง มีมาตั้งแต่บรรพกาล เกิดจากพุทธคุณล้วนๆ ไม่ได้เกิดจากการโฆษณา เราจะดำรงตนอยู่ในของเดิม แค่ทำให้ดี เรื่องเสกต่างๆ นั้นไปเรียนมาหลายครูมาก แต่ใช้จริงๆไม่กี่บท ไม่กี่ครู เพราะว่าทุกอันเลย ล้วนแต่กำเนิดจากแก้วรัตนะ ดวงแก้ว 3 ดวง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง พุทโธ ธัมโม สังโฆ ออกจากแก้วรัตนะหมด คำว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ สามารถแตกออกได้สรรพวิชามากมาย พ่อแม่ครูบาอาจารย์บอกว่าเรียนวิชาไม่ต้องไปเรียนมามากขอแต่ว่าแตกนะโมได้เป็นพันห้อง แตกพุทโธให้เป็นพันห้อง ก็คือใช้ได้เลย ดังไม่ดังเขาจะพูดไม่พูดไม่เกี่ยว แต่ว่าถ้าทำแล้วของต้องดี คนเอาไปใช้ต้องได้ผลฉันปรารถนาแค่นี้”
- สร้างเรื่องวัตถุมงคล
ญาคูภูสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาครั้งแรกตอนเป็นเณร ช่วงอายุ 18-19 ปี โดยทำตะกรุดตับปาฏิโมกข์ ทำเพียง 19 ดอก เป็นเนื้อเหล็กเปียก ทำเพราะอยากลอง ครั้งที่ 2 สร้างตะกรุดโทน ภควัมปฏิ ทำ 19 ดอก ครั้งที่ 3 สร้าง พระขุนแผนดินดิบ ฝังเกศาสร้างประมาณ 23 องค์ โดยไม่ได้มีฤกษ์มียาม ทำเพราะว่าอยากได้รูปพระพุทธมอบให้ลูกศิษย์ลูกหาไว้ใช้ แล้วก็ไม่ได้จัดพิธีพุทธาภิเษก เพียงเอาไว้ใต้หิ้งพระแล้วทำวัตรสวดมนต์ก็เอาไว้ไตรมาส 1 ก็แจกให้ลูกศิษย์หมด
และครั้งที่ทำให้ท่าน ตัดสินใจจัดสร้างวัตถุมงคล มูลเหตุมาจาก ในปี 2564 ตอนบวชพระ พระอาจารย์ต้อม บอกให้ท่านทำรูปถ่ายหลังจารยันต์ เพื่อแจกญาติโยมที่มาร่วมในงานบวช ซึ่งตอนที่ท่านทำก็ไม่ได้คิดอะไร คิดเพียงทำตามคำครูบาอาจารย์แนะนำ ทำทั้งหมด 108 รูป ด้านหน้าเป็นรูป ด้านหลังเป็นแผ่นตะกั่วจารยันต์ แจก 2 วันเนื่องจากช่วงนั้นเป็นสถานการณ์โควิด ทางราชการห้ามรวมกลุ่มคนจำนวนมาก พอแจกหมดก็มีลูกศิษย์กลับมาหา เนื่องจากเขาใช้แล้วบังเกิดผล ทำให้มีคนแวะเวียนมาที่วัดแล้วจึงเป็นมูลเหตุ ให้ได้มาทำเหรียญรุ่นแรก ชื่อเหรียญรุ่นรวยสมปรารถนา จัดสร้างในปี 2566 โดยขออนุญาตจัดสร้างจากหลวงพ่อต้อมก่อน ว่าท่านสามารถสร้างวัตถุมงคลเป็นรูปตนเองได้หรือไม่ เมื่อพระอาจารย์ต้อมบอกว่าทำได้ ญาคูภูก็เลยให้กลุ่มทิพพมนต์ โดยให้ เอ ทิพพมินต์ เป็นผู้ทำ ยันต์ข้างหลังเหรียญหลวงพ่อต้อมก็ให้ นวภา 3 ดวง หนุนธาตุ และตัวปิ ส่วนข้างหน้าตรงที่เป็นยันต์ล้อม ท่านเขียนยันต์เอง
โดยในระหว่างที่ออกแบบ ญาคูภูก็เอาไปให้หลวงพ่อต้อมดู พอท่านบอกว่าอันนี้ผิดก็แก้ ถูกแล้วก็จึงค่อยดำเนินการต่อไป ญาครูภูกล่าวว่า “ครูบาอาจารย์ ที่เคยได้ไปเรียนมา ณ ปัจจุบันยังอยู่ 2 รูป นอกนั้นมรณภาพหมดแล้ว ซึ่งหากหลวงพ่อครูบาอาจารย์มรณภาพแล้วเราก็สามารถทำได้ เป็นตัวของเราในฉบับของท่าน แต่ในเมื่อครูบาอาจารย์ทั้งสองที่ยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ เราก็ยังเป็นศิษย์และยังลูกท่าน เพราะฉะนั้นอะไรถ้าเราจะทำอะไร ก็ต้องไปหาท่าน ต้องไปปรึกษาท่าน เหมือนลูกจะซื้อที่ก็ต้องไปพูดให้พ่อให้แม่ฟัง พ่อแม่ว่ายังไงก็ว่าตามพ่อแม่นั่นแหละ เหมือนกัน”
- จุดกำเนิดของการจารหลังเหรียญ
วัตถุมงคลชุดนั้น กลุ่มทิพพมนต์ทำเหรียญทองคำมา 6 เหรียญ เป็นเหรียญหลังเรียบ และเป็นเนื้อลุ้น ไม่ตัดปีก โดยทำเป็นหลังเรียบ โดยเจตนาจะให้ญาคูภูเป็นคนจารเหรียญ ซึ่งตอนแรกท่านก็ปฏิเสธที่จะจารเหรียญ เนื่องจากครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาด้านนี้ยังดำรงค์ธาตุขันธ์อยู่ ท่านจะจารทับรอยครูบาอาจารย์ไม่ได้
ทางกลุ่มผู้สร้างจึงเข้าไปเรียนท่านพระอาจารย์ต้อมพร้อมกับญาคูภู ซึ่งพระอาจารย์ต้อมท่านก็ได้อนุญาตและให้คำแนะนำให้ญาครูจาร โดยบอกให้ท่านจารยันต์มาให้ดู แต่แทนที่ญาครูจะจารบนแผ่นจารไปให้ท่านดู ญาคูก็ตัดสินใจจารลงบนหลังเหรียญจริง โดยก่อนจารท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้ท่านจารได้โดยไม่เจ็บตา ไม่ปวดมือ และหลวงพ่อต้อมจารเล็กได้แบบใดก็ขอให้ท่านทำได้เช่นเดียวกัน เมื่อจารเรียบร้อยก็นำให้ไปพระอาจารย์ต้อมตรวจทาน เมื่อเห็นก็บอกว่า “ผ่าน” หลังจากนั้นท่านจึงจารยันต์ด้านหลังเหรียญนับแต่นั้นมา
ญาคูบอกว่า การจารหลังเหรียญนั้นหลายคนอาจจะมองว่าง่าย แท้จริงนั้นมันคือศาสตร์สรรพวิชาอย่างหนึ่ง “การจารหลังเหรียญนั้นก็เปรียบเสมือนกับการเสกพระ เพราะเราเอาคาถาสรรพวิชาต่างๆ ที่เราร่ำเรียนมาจารลงไป ในระหว่างที่เขียนที่จารเราก็ได้ท่องบทพระคาถา เราก็ต้องพร่ำบ่นภาวนา นั่นแหละถือว่าเป็นการเสกในตัว”
ล่าสุดในปีนี้ ญาครูได้สร้างพระปิดตา รุ่นเจ้าสัวอนันตทรัพย์ เป็นพระปิดตาศิลปล้านช้าง แต่เป็นทรงเจ้าสัวของวัดกลางบางแก้ว และได้จารเหรียญทีเป็นวัตถมุงคลมอบในงานประกวดพระ จัดโดยสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมี กานต์ นามบุตร หรือ ชัย อำนาจเจริญเป็นประธาน โดย ชัย อำนาจเจริญได้มาขออนุญาตให้ท่านจารหลังเหรียญทองคำ ซึ่งก็ได้รับความสนใจในแวดวงพระเครื่องเป็นอย่างมาก และเร็วๆ นี้ท่านก็กำลังดำเนินการทำรูปถ่ายหลังรอยจาร เพื่อแจกในงานอายุวัฒนมงคล อายุ 24 ปี พรรษาที่ 3 ณ วัดทุ่งสว่างอารมณ์ บ้านเมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 นี้ ท่านใดที่สนใจสามารถเดินทางไปร่วมงานได้