จ่าโกเก็บข่าว

เซียนพระหลวงพ่อเดิมนำทีม พิสูจน์ความจริง กรุหลวงพ่อเดิม หลวงพ่อคล้าย แตกที่วัดพนมรอก

%e0%b9%80%e0%b8%8b%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%9e%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%99%e0%b8%b3%e0%b8%97

          ข่าวคราวเรื่องของ พระกรุแตกที่วัดพนมรอก ตำบลพนมรอก อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เป็นที่ถกเถียงกัน พอสมควร เพราะพระที่แตกออกมานี้ บางพิมพ์เป็นพระที่นิยมในวงการพระเครื่องอยู่ในนั้นด้วย นั่นก็คือ รูปเหมือนของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์ หลายๆ ท่านก็ยังเป็นที่กางขา บางท่านบอกว่าไม่ทันหลวงพ่อเดิม บางท่านก็บอกว่าทัน ทำให้ผมและทีมงานนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร ต้องเดินทางไปหาความจริงที่ วัดพนมรอก เมื่อบ่ายของวันที่ 20 พฤษภาคม 2567


          ในวันนั้นเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านพระหลวงพ่อเดิมอยู่ 3 ท่านด้วยกัน นั่นก็คือ ผู้ใหญ่โต้ง นครสวรรค์ ประธานกรรมการบริหารสมาคม ผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จังหวัดนครสวรรค์ ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของรูปหล่อหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ คุณบุ๊ง กำแพง ประธานชมรมพระหลวงพ่อโตวัดสว่างอารมณ์ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพระหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ เช่นกัน และ คุณใหม่ สแปร์โรว์ ประธานชมรมพระเครื่องเมืองสี่แคว ก็มีความเชี่ยวชาญด้านพระหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

          ทีมงานเราได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสวัดพนมรอก ท่านพระครูใบฎีกากันตภณ กนฺตจารี เจ้าอาวาสวัดพนมรอก เจ้าคณะตำบลพนมเศษ พร้อมทั้งไวยาวัจกรของทางวัดอีกหลายท่าน ได้มาร่วมสนทนา ให้ความรู้ตรงนี้ด้วย เช่น พันตำรวจเอก อิศเรศ ห่านดำ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรท่าตะโก, คุณวิกิจ ส้มแสง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพนมรอก, คุณชัยวัฒน์ ทัดพลอย อดีตกำนันตำบลพนมรอก ประธานที่ปรึกษาวัดพนมรอก, คุณธีระยุทธ ดวงพัตรา หรือ โจ้ พนมรอก ไวยาวัจกรวัดพนมรอก, กำนันสราวุธ ทองถาวรวงษ์ กำนันตำบลพนมรอก คนปัจจุบัน

ท่านพระครูใบฎีกากันตภณ กนฺตจารี เจ้าอาวาสวัดพนมรอก เจ้าคณะตำบลพนมเศษ

          ก่อนอื่น เราได้สอบถามท่านพระครูเจ้าอาวาสถึง ความเป็นมาของการที่พบเจอพระกรุชุดนี้เป็นมาอย่างไร ท่านเจ้าอาวาสได้เมตตาเล่าให้พวกเราฟังว่า ทางวัดได้ทำการรื้อพื้นอุโบสถของวัดพนมรอกที่ทำด้วยไม้ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลาเพื่อที่จะปรับปรุงใหม่ โดยค่าใช้จ่ายในการรื้อบูรณะอุโบสถครั้งนี้มีท่านผู้ใจบุญอยู่ครอบครัวหนึ่งได้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดนั่นก็คือครอบครัว คุณชุมพล คุณถาวร บุญกล่อม 

พันตำรวจเอก อิศเรศ ห่านดำ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรท่าตะโก

          ในส่วนของการเจอพระกรุ..ท่านพระครูใบฎีกากันตภณเล่าว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ 3 พ.ค. 2567 เวลา เกือบ 13.00 น. หลังจากรื้อพื้นอุโบสถเสร็จแล้วคนงานบางส่วนได้ลงไปปรับพื้นที่ใต้ถุนอุโบสถ ก็มีการเก็บกวาดเศษกระเบื้องบ้าง เศษไม้บ้าง ได้มีการขุดปรับพื้นดินบริเวณใต้ถุนอุโบสถ ซึ่งเป็นอุโบสถเก่าที่หลวงพ่อเดิมได้สร้างไว้อยู่บริเวณใต้ฐานพระประธาน ได้มีการขุดดินไปโดนโอ่งดินเผาที่ฝังไว้ใต้ดินแตก..เลยได้เจอพระกรุดังกล่าว โดยมีพระบูชาหลวงพ่อเดิม ลงรักปิดทอง ขนาด 5 นิ้ว จำนวน 1 องค์ และรูปหล่อขนาดคล้องคอ จำนวน 3 พิมพ์ คือ รูปหล่อหลวงพ่อเดิม, รูปหล่อหลวงพ่อคล้าย และพระปิดตา ทางท่านพระครูเจ้าอาวาสจึงเรียก ให้บรรดาไวยาวัจกรทั้งหลาย ได้มาดูแลเพื่อที่จะได้ช่วยกันเก็บพระกรุชุดนี้ และช่วยกันนำขึ้นมาเก็บไว้ในกุฏิของท่านเจ้าอาวาส

คุณวิกิจ ส้มแสง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพนมรอก

           ต่อมาได้สำรวจดูเห็นว่าพระชุดนี้มีอยู่ 3 พิมพ์ด้วยกันก็คือ 1.พิมพ์รูปหล่อหลวงพ่อเดิม 2.พิมพ์รูปหล่อหลวงพ่อคล้าย 3.พิมพ์พระปิดตา และได้ลงความเห็นกันว่า จะเปิดให้ชาวบ้านได้สักการะบูชาในสนนราคาที่ชาวบ้านจับต้องได้ ไม่ถูกไม่แพงจนเกินไป 

          ก่อนที่จะเปิดให้ชาวบ้านได้ทำบุญบูชา ได้ตรวจสอบนับดูปรากฏว่ามีพระอยู่ทั้งหมดประมาณ 17,000 องค์ เป็นรูปหล่อของหลวงพ่อเดิมประมาณ 7,000 องค์ ที่เหลือเป็นรูปหล่อหลวงพ่อคล้าย และพระปิดตารวมแล้วประมาณ 10,000 องค์ เสร็จแล้วจึงเปิดให้ประชาชนได้ทำการบูชาไม่เกิน 1 วันพระจึงหมดไปจากวัด พระครูเจ้าอาวาสท่าน เรียนให้ทราบว่า ปัจจัยส่วนนี้ก็จะเก็บเอาไปไว้บูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถให้สำเร็จลุล่วงในช่วงโอกาสต่อไป

คุณชัยวัฒน์ ทัดพลอย อดีตกำนันตำบลพนมรอก ประธานที่ปรึกษาวัดพนมรอก

 

         ทีนี้มาถึงเรื่องที่ถกเถียงกัน เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า รูปหล่อหลวงพ่อเดิมที่พบเจอครั้งนี้ ถึงยุคของหลวงพ่อเดิมหรือไม่ ทางด้านเซียนพระทั้ง 3 ท่าน ดูแล้วยืนยันว่าน่าจะถึงยุคหลวงพ่อเดิมอย่างแน่นอน และมีผู้เฒ่าผู้แก่ของวัดพนมรอก ก็สามารถให้รายละเอียดได้ว่า น่าจะถึงยุคของหลวงพ่อเดิม เพราะว่าโบสถ์หลังนี้สร้างประมาณปี พ.ศ. 2468 ได้รับวิสุงคามะสีมาปี 2471 อายุของอุโบสถ ก็ 99 ปีโดยประมาณ ในยุคนั้น หลวงพ่อเดิมท่านยังมีชีวิตอยู่(หลวงพ่อเดิมเกิด 6 ก.พ. 2404 มรณภาพ 22 พ.ค. 2494) และท่านก็ยังร่วมในการสร้างอุโบสถหลังนี้กับหลวงพ่อคล้ายด้วย ถ้าท่านใดได้ไปเห็นการรื้อพื้นอุโบสถ ท่านจะเห็นว่าอุโบสถหลังนี้เหมือนมีการสร้างซ้อนกันเป็น 2 หลัง หมายถึงว่าอีกหลังหนึ่งอยู่ในดิน แต่อีกหลังหนึ่งซ้อนขึ้นมาอยู่บนดิน

คุณธีระยุทธ ดวงพัตรา หรือ โจ้ พนมรอก ไวยาวัจกรวัดพนมรอก

            อันนี้จึงเป็นที่ยุติ ของการถกเถียงว่า หลวงพ่อเดิมทันหรือไม่ทัน เป็นอันว่าทุกคนลงความเห็นว่า ทันอย่างแน่นอน ผู้ใหญ่โต้ง ดูแล้วก็บอก เนื้อหากระแสอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ยอมรับว่าถึงยุคหลวงพ่อเดิมแน่นอน พร้อมทั้ง เซียนบุ๊ง กำแพง เซียนใหม่ สแปโร่ และ แจ๊ว นครสวรรค์ หรือไม่ว่าจะเป็น ทาง โจ้ พนมรอก ต่างก็ยืนยันว่าพระชุดนี้ดูเนื้อหาตามประวัติแล้วขอฟันธงว่าทันหลวงพ่อเดิมครับ

          ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า รูปหล่อหลวงพ่อเดิม วัดพนมรอก ที่แตกกรุออกมานี้ ทันหรือไม่ทันไม่มีใครสนใจแล้วครับ กระแสเนื้อพระใกล้เคียงกับรูปหล่อหลวงพ่อเดิมที่นิยมเล่นหาในปัจจุบันเป็นอย่างมาก บรรดาเซียนน้อยเซียนใหญ่ต่างมุ่งไปที่วัดพนมรอก ราคาแบบบ้านๆ พุ่งขึ้นไป 4,000- 5,000- 7,000- 8,000- หรือบางองค์สภาพดีๆ สวยๆ พิมพ์แปลกๆ ขึ้นหมื่นกว่า 20,000 บาท

กำนันสราวุธ ทองถาวรวงษ์ กำนันตำบลพนมรอก คนปัจจุบัน

          เชื่อไหมครับว่าถ้าพระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม วัดพนมรอก องค์อยู่ในสภาพที่สวยๆ กระแสโลหะ ชัดเจน ราคาไม่นิ่งอย่างแน่นอน ท่านผู้ใดมีเวลาว่าง ลองแวะไปสิครับ ที่วัดพนมรอก จะเห็นว่า ตลาดพระวัดพนมรอกเล็กๆ ในวัดมีเพียง ไม่กี่แผง คึกคักครับ

          สนใจอยากรู้รายละเอียดสอบถามได้ที่ บุ๊ง กำแพง 087-199-3777, ใหม่ สแปร์โรว์ 089-561-5340 หรือที่ คุณโจ้ พนมรอก 094-161-9152 ได้เลยครับ

คุณวันชัย อินลอย หรือ ผู้ใหญ่โต้ง นครสวรรค์ ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จังหวัดนครสวรรค์ เซียนพระนครสวรรค์ ชี้จุดขุดพบ
พ.อ.อ.โกวิท แย้มวงษ์ ประธานชมรมนักข่าวพระบูชาพระเครื่องไทย ประชาสัมพันธ์สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย เจ้าของนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร ผู้สัมภาษณ์ และ คุณอาทิตย์ ไกวดี หรือ ใหม่ สแปร์โรว์ สี่แคว นครสวรรค์ ประธานชมรมพระเครื่องเมืองสี่แคว เซียนพระสายนครสวรรค์-พิจิตร
คุณภาคภูมิ วัชรอยู่ หรือ บุ๊ง กำแพง นครสวรรค์ ประธานชมรมพระหลวงพ่อโตวัดสว่างอารมณ์ เซียนพระเครื่องจังหวัดกำแพงเพชร-นครสวรรค์

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox