เกร็ดชีวิตคนดัง

ตี๋ สุรินทร์ ประธานกรรมการบริหารสมาคมฯ จังหวัดสุรินทร์ ศึกษา สะสม ซื้อขาย อยา่งมีระบบ

%e0%b8%95%e0%b8%b5%e0%b9%8b-%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b9%8c-%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%98%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1-2

“การซื้อพระไม่เหมือนซื้อรถมือ 2 อย่างรถมือสองถ้าคุณถูกย้อมแมวขาย อย่างน้อยยังสามารถขายล้อ ขายเครื่องยนต์ ขายอะไหล่เอาทุนคืนได้ แต่ถ้าคุณซื้อพระ พลาดถูกพระเก๊คุณจะขายอะไรไม่ได้เลย ถ้าให้เทียบละก็ พระเก๊มันก็คือดินก้อนหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราถึงต้องศึกษาก่อนค่อยสะสม ค่อยซื้ออย่าเพิ่งไปลงทุน!”

          สวัสดีค่ะ วันนี้นิตยสารพระเครื่องอภินิหาร จะพาทุกท่านไปทำความรู้จัก กับเซียนพระคนดัง เจ้าของวลีเด็ด ที่ทางนิตยสารพระเครื่องอภินิหารได้ยินครั้งแรกรู้สึกว่า โดนใจ! และตรงประเด็น! เนื่องจากปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า อาชีพเซียนพระนั้นเริ่มเป็นอาชีพที่หลายคนให้ความสนใจ ยึดเป็นอาชีพหลักอาชีพรองกันมากมาย และในทางกลับกัน ก็เป็นอาชีพที่อยู่ไม่ได้นานเช่นเดียวกัน เนื่องจากว่าเจอของเก๊! ของเลียนแบบ จนบาดเจ็บทั้งใจบาดเจ็บทั้งทุน ต้องล่าถอยออกจากวงการไปก็มาก ซึ่งสาเหตุโดยมากเกิดจากความไม่พร้อมในด้านความรู้ ขาดความชำนาญ

          ดังนั้น นิตยสารพระเครื่องอภินิหาร จึงอยากจะพาทุกท่าน ไปรู้จักกับเซียนพระท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งมีแนวทาง และมุมมองแนวคิด ต่อการยึดอาชีพเซียนพระ อย่างมีระบบเป็นขั้นเป็นตอน จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นหนึ่งในเซียนพระแถวหน้าของวงการพระเครื่องสายอีสาน ที่ได้รับการยอมรับ

         นอกจากนี้ยังเป็นเซียนพระที่มีเพื่อนพ้องในวงการพระมาก ไปไหนก็มีแต่คนต้อนรับขับสู้ ทั้งนี้กว่าที่เซียนพระท่านนี้จะเดินมาถึงจุดนี้ได้นั้น เขาต้องพบกับอะไร ต้องทุ่มเทแค่ไหน เพื่อว่าจะเป็นแนวทางให้กับเซียนพระรุ่นสร้างตัว ได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ จะได้อยู่ร่วมเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงพระเครื่องของเราได้นาน ซึ่งเซียนพระที่ นิตยสารพระเครื่องอภินิหาร เต็มใจจะนำเสนอในฉบับนี้ก็คือ…วรพงษ์ อังประภาพรชัย หรือชื่อในวงการเรียกว่า ตี๋ สุรินทร์ ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จังหวัดสุรินทร์นั่นเองค่ะ

  • ตี๋ สุรินทร์ ชื่อนี้ไม่ได้มาเพราะเป็นคนสุรินทร์โดยกำเนิด แต่เป็นแหล่งต้นกำเนิด “เซียนพระที่ชื่อ ตี๋ สุรินทร์”

          “ผมไม่ใช่คนสุรินทร์โดยกำเนิดแต่คุณแม่เป็นคนสุรินทร์โดยกำเนิดครับ ซึ่งก่อนที่ผมจะมาอยู่ที่สุรินทร์ จนทำให้ได้รับฉายาว่า ตี๋ สุรินทร์ นั้น ต้องย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ที่ผมเรียบจบ วิศวกรไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจบมาตอนแรกผมทำงานด้านที่จบมาเลยครับ ทำอยู่ได้ประมาณ 7 เดือน ก็รู้สึกว่าเราไม่ค่อยโอเคกับงานที่ทำเท่าไหร่ อยากทำอะไรที่เป็นอิสระทั้งความคิด อิสระทั้งเวลา จึงตัดสินใจลาออกครับ ซึ่งในระหว่างที่ผมกำลังคิดว่าจะทำอาชีพอะไรดี ก็เลยมาช่วยอากู๋มาขายทองที่จังหวัดสุรินทร์”
“พอเรามาอยู่สุรินทร์ ก็มักได้ยินเรื่องเกี่ยวกับพระเกจิของจังหวัดสุรินทร์ นั่นก็คือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล อยู่บ่อยๆ แต่จริงๆ ตอนเด็กๆ ก็เคยได้ยินชื่อเสียงของท่านจากพ่อกับแม่อยู่บ้างนะครับ แต่ความที่เราเป็นเด็กก็ไม่ได้ใส่ใจ แต่มาครั้งนี้ความที่เราโตขึ้น พอเรามาอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ก็อยากไปกราบไหว้พระอาจารย์ที่มีชื่อเสียง น่าเคารพศรัทธาในจังหวัด จึงหาประวัติท่านมาศึกษา ก็พบว่าหลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นพระอาจารย์สายกรรมฐาน สายธรรมยุตของจังหวัดสุรินทร์ ที่สาธุชนให้ความเลื่อมใสในตัวท่านมาก เนื่องเพราะท่านมีหลักธรรมคำสอนที่เป็นปัจจุบัน ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนจุดแรก ที่ทำให้ผมเริ่มสนใจในพระเครื่องครับ”

          “หลังจากที่ผมได้ศึกษาประวัติหลวงปู่ คำสอนหลวงปู่ ศรัทธาหลวงปู่ ก็เริ่มที่จะอยากมีพระเครื่องของท่านไว้ในครอบครอง จึงได้บูชาพระเครื่องของหลวงปู่ดุล ซึ่งในสมัยนั้นเหรียญของหลวงปู่ยังราคาอยู่ที่ 200-300 บาท ในตอนนั้นรู้สึกว่าเราเช่ามาได้ไม่เดือดร้อนก็เลยเช่ามาเรื่อยๆ จนมีวันหนึ่งได้ไปรู้จักกับคุณลุงบุญชื่น แต่งงาม”

  • ลุงบุญชื่น แต่งงาม อาจารย์คนแรกของ“ตี๋ สุรินทร์”

          “ตอนที่ผมได้รู้จักกับลุงบุญชื่นนั้น ผมเป็นเพียงผู้ซื้อ ซื้อจากความศรัทธาเป็นที่ตั้งครับ ก็เลยเก็บอย่างเดียว จนกระทั่งลุงบุญชื่นบอกกับผมว่า ตี๋จะเก็บอย่างเดียวไม่ได้มันต้องมีการเอาออกมาด้วยเพราะไม่งั้นมันก็จะไม่ flow ผมจำคำนี้ของลุงบุญชื่นได้แม่นเลยครับ ก็คือต้องให้พระออกมากระจายให้คนได้รู้จัก ให้พระได้แพร่หลาย ถือเป็นการเผยแพร่บารมีของหลวงปู่ ถือได้ว่าลุงบุญชื่นนี่ละครับ ที่เป็นอาจารย์คนแรก ที่ทำให้ผมรู้จักการซื้อมาขายไปเพื่อเผยแพร่บารมี จนสามารถต่อยอดความคิด เรื่องการเพิ่มมูลค่าพระเครื่อง และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ไหลเวียนในจังหวัดอีกด้วยครับ”

  • ศึกษา สะสม จนกระทั่งได้รับการยืนยันว่า “ตี๋เก่งแล้ว เป็นแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง”

         “หลังจากที่ลุงบุญชื่นแนะนำ ผมก็เริ่มที่จะขายออกไปบ้างครับ แต่ก็ยังคงซื้อมากกว่าขายอยู่ดีครับ แต่ก่อนที่จะเริ่มขายพระได้นั้น ต้องศึกษาโดยละเอียด รอบคอบ ให้เป็นเสียก่อน จากนั้นก็ซื้อพระแท้มาดู มาส่อง เป็นองค์ครู อยากรู้พระเนื้อไหน? ก็ซื้อเนื้อนั้น ส่องจนเข้าตา ทำอยู่แบบนี้จนชำนาญ แล้วก็ขายออกไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อเราเริ่มจะขาย เราต้องรับผิดชอบพระที่เราขายได้ด้วยครับ ดังนั้นหากอยากจะเป็นเซียนพระ ซื้อ-ขาย ต้องศึกษาก่อนสะสมแล้วขายออกไป”

          “พอเริ่มศึกษา สะสม ซื้อขาย แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นพระราคาไม่สูงก่อนครับ จากนั้นก็เริ่มซื้อพระที่มีราคาสูงขึ้น เป็นหลักหมื่น จนกระทั่งหลักแสน และในตอนนั้นคุณแม่ก็เริ่มที่จะเป็นห่วง ว่าการที่ผมหันมาเล่นพระแบบนี้ จะโดนของเก๊ไหม? เพราะต้องบอกก่อนเลยว่าการซื้อขายพระมันคือความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ถ้าคุณไม่แม่นพอ ไม่มีความรู้พอ จากเงินที่คุณถืออยู่ในมือ ก็มีโอกาสสูญหายไปได้ง่ายๆ จุดนี้ละครับที่คุณแม่เป็นห่วง แต่ผมก็มีความมั่นใจว่าผมเองก็ศึกษามาดีพอแล้วเช่นกัน จึงตัดสินใจซื้อ และก็ได้ลุงบุญชื่นนี่ละครับ เป็นคนรับรองกับคุณแม่ว่า ตี๋เก่งแล้วเป็นแล้ว คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วง”

  •  ถูกชักนำเข้าสู่วงการ พระเครื่องภายใต้แบรนด์ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย

         “หลังจากที่ผมได้รับคำรับรองเรื่องความสามารถ ในการดูพระและซื้อขายพระ ผมก็มีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง คืออาจารย์วลัญญ์ชัย เสนาน้อย หรือว่าครูแดง สุรินทร์ ในราวๆ ประมาณปี 50 ครูแดงบอกว่าผมพอที่จะดูพระเป็น ซื้อขายได้ จึงชักชวนให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการรับและตัดสินพระ ช่วยงานประธานโหน่ง สุรินทร์ รับและตัดสินพระ ผมเป็นกรรมการจวบจนปี 56 ประธานจังหวัดสุรินทร์ว่างเว้นไป ทางสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย โดยการนำของ ป๋าพยัพ คำพันธุ์ และป๋าต้อย เมืองนนท์ ก็ได้ให้ความไว้วางใจ ตั้งผมขึ้นเป็นประธานจังหวัดสุรินทร์ ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ที่เล็งเห็นความสามารถและมอบโอกาสนี้ให้ผมครับ”

  • จัดงานประกวดพระฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนพระในจังหวัดให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

          “ผมเป็นประธานคอยเดินสายช่วยงานพี่งานน้องในวงการพระ ไม่ว่าจะประมูลพระเพื่อการกุศล สปอนเซอร์ หรือแม้แต่ไปช่วยตัดสินพระฯ ทำแบบนั้นอยู่สองปี ในปี 58 ก็ตัดสินใจจัดงานประกวดพระฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกครับ โดยเริ่มจากจัดงานประกวดพระงานเล็กก่อน พอจัดปีแรกประสบความสำเร็จ ผมก็ได้เห็นถึงพลังของชาววงการพระ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมทั้งช่วยเหลือสังคมโดยรวม ร่วมกับภาครัฐ จึงได้จัดมาเรื่อยๆ แล้วก็เริ่มจัดงานใหญ่ครับ ตั้งใจไว้ว่าจะพยายามจัดให้ได้ทุกปี อย่างปี 2566 ผมก็จัดไปแล้ว เป็นงานใหญ่ ในปี 2567 ก็ได้เตรียมการวางแผนจัดแล้ว โดยผมและสมาชิกสมาคมฯ ได้เตรียมจัดสร้างวัตถุมงคลชุดหนึ่ง เป็นพุทธ​ปริต​2 เพื่อจะนำมาเป็นรางวัลในงานประกวดพระฯ และมอบให้กับผู้สนับสนุนงานประกวดพระ ไม่ว่าจะเป็นสปอนเซอร์ หรือบริจาค นอกจากนี้ยังมีเปิดจองให้สำหรับผู้ที่อยากจะร่วมบุญบูชาวัตถุมงคลครับ ซึ่งจำนวนการสร้างทั้งหมดก็มีจำนวนจำกัด ประมาณ 8,000 ชิ้น รวมทั้งพระบูชาด้วย โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อ​สร้าง​พระประธาน​พุทธ​ปริต​ พระประธาน​ขนาดหน้าตัก​ 59.9​นิ้ว​ และ​นำรายได้บางส่วนมอบให้กองทุน​พิพิธภัณฑ์​พระ​ราชวร​คุณ​ซึ่งได้ ซึ่งก็เริ่มเปิดจองไปแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566  ได้รับกระแสการตอบรับที่ค่อนข้างดีเลยครับ”

          วกกลับมาที่ การจัดงานประกวดพระ ซึ่งถ้าไม่ใช่คนในวงการ ก็อาจจะไม่ทราบว่า การจัดงานประกวดพระฯ ในแต่ละครั้งนั้น ให้อะไรกับสังคมบ้าง? ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นการจัดงานประกวดพระครั้งหนึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการรวมคนชื่นชอบพระเครื่องหรือแผงพระเครื่อง โดยแต่ละครั้งก็จะมีคนเดินทางเข้าจังหวัดค่อนข้างมาก กิจการโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารก็มีการกระจายรายได้ นอกจากนี้การจัดงานประกวดพระยังช่วยสังคมโดยรวม เช่นการจัดงานของผมแต่ละครั้ง วัตถุประสงค์ก็จะนำไปช่วยสังคม อย่างปี 66 ผมจัดงานก็ได้นำรายได้ มอบให้กองทุนรักษาพระภิกษุที่อาพาธวัดบูรพาราม แล้วก็ได้มอบให้กับทางวัดไปเรียบร้อยแล้ว ตามที่หลายๆ ท่านทราบ

          และที่สำคัญยังกระตุ้นวัตถุมงคลในจังหวัดด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะเมื่อมีคนเข้ามาในจังหวัดก็ทำให้คนรับทราบว่าพระในจังหวัดนั้นมีพระอะไร ควรเล่นอะไรกันไปโดยปริยาย ส่งผลให้พระของจังหวัดสุรินทร์บางอย่างมีอัตราการเติบโต เก็บแล้วเพิ่มมูลค่าต่อไปได้ในอนาคต เช่น จากพระราคา 400-500 บาท หลังจัดงานประกวด ก็เพิ่มเป็น 800-1000 บาทได้ครับ หรือบางครั้งอาจจะก้าวกระโดดขึ้นเป็นหลักหมื่นได้เพียงวันเดียวก็มี

          “ยิ่งสมัยนี้มีสื่อโซเชียล ซึ่งต้องยอมรับเลยว่าสามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ทำให้พระเครื่องแต่ละรุ่นนั้น กระจายออกไปเร็วยิ่งขึ้น การศึกษาพระก็ง่าย จากเมื่อก่อนจะศึกษาต้องดูจากในหนังสือแหล่งเดียว แต่เดี๋ยวนี้เปิด google ก็พบแล้ว ยิ่งมีการเล่าประสบการณ์ต่างๆ ลงสู่ออนไลน์ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการเติมเชื้อพลังศรัทธา จากที่แต่เดิมนั้นกลุ่มคนเล่นพระเครื่องมีปริมาณความต้องการที่จำกัด เมื่อออกสู่สาธารณะชนง่าย มีความต้องการตามมา แต่พระเครื่องรุ่นนั้นกลับมีจำนวนไม่เพียงพอ แน่นอนว่าราคาก็ดีดสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการพระเครื่องเลยก็ว่าได้ และโซเชียลก็ชี้นำ ชักนำให้คนเข้ามาสู่วงการพระมากขึ้น ทำให้มีเซียนพระอย่างทุกวันนี้ครับ”

        มาถึงตรงนี้ ทีมงานนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร จากที่นั่งฟังเพลินๆ ก็อดที่จะถามไม่ได้ว่า ตี๋ สุรินทร์ ในฐานะรุ่นพี่ มีอะไรอยากจะฝากถึง เหล่าเซียนพระหน้าใหม่ที่คิดจะยึดอาชีพ “เซียนพระ” ซื้อ-ขายพระบ้าง?

          “สำหรับใครที่อยากจะเข้าสู่วงการพระ ผมอยากจะแนะนำว่า ราคาพระไม่เหมือนแต่ก่อนอย่างที่เคยซื้อ 100-200 บาท ในสมัยก่อนมูลค่าไม่แพง พระบางองค์พระเก๊ก็อาจจะยังไม่มี หรือถึงมีก็ดูง่าย แต่ปัจจุบันนี้พระ 100-200 กลายเป็นเป็นราคาหลักพัน หลักหมื่นแล้ว มันก็มีของที่ทำเลียบแบบออกมามากเป็นธรรมดา และวิวัฒนาการของการเลียนแบบก็เนี้ยบมากขึ้น ดังนั้นก่อนที่เราจะจ่ายเงินเราควรฉุกคิดก่อน คิดให้รอบคอบ ว่าเราศึกษาดีหรือยัง มั่นใจดีหรือยัง แม่นพิมพ์ แม่นเนื้อ แยกเก๊แท้ได้หรือเปล่า ถ้าเราดูแม่นแน่นอน มั่นใจแล้วว่าพระที่ซื้อเป็นพระแท้ ก็ซื้อได้เลยครับ ง่ายๆ แค่นี้”

          “เพราะ…การซื้อพระไม่เหมือนซื้อรถมือ 2 อย่างรถมือสองถ้าคุณถูกย้อมแมวขาย อย่างน้อยยังสามารถขายล้อ ขายเครื่องยนต์ ขายอะไหล่เอาทุนคืนได้ แต่ถ้าคุณซื้อพระ พลาดถูกพระเก๊คุณจะขายอะไรไม่ได้เลย ถ้าให้เทียบละก็ พระเก๊มันก็คือดินก้อนหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราถึงต้องศึกษาก่อน ค่อยสะสม ค่อยซื้ออย่าเพิ่งไปลงทุน!”

          “ผมเคยไปดูพระที่บ้านหลังหนึ่ง เขาเก็บพระไว้เยอะมาก แต่!… ปรากฏว่ามีแต่พระเก๊ ถ้าสมมุติเปลี่ยนพระเก๊ที่มีเป็นพระแท้ทั้งหมด แล้วบวกกับระยะเวลาที่เขาเก็บสะสมมาจนถึงปัจจุบัน ผมเชื่อว่าพระในบ้านหลังนั้น จะต้องมีมูลค่ามหาศาลครับ แต่เสียดายที่ไม่ใช่”

  • พูดถึงเรื่องศึกษาพระแล้ว ถ้าหากมีใครอยากศึกษาพระหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ตี๋ สุรินทร์ พอจะแนะนำได้หรือเปล่า?

         “หากใครที่อยากจะศึกษาพระเครื่องหลวงปู่ดุล สามารถปรึกษาผมได้ครับ ก่อนหน้านั้นผมก็เคยทำหนังสือแจกในงานประกวดพระฯ ครั้งหนึ่ง ชื่อหนังสือหลวงปู่ดูลย์ ฉบับคู่มือเซียน ในนั้นผมก็จะชี้ตำหนิเองสามารถนำไปใช้ได้จริงสามารถไปหาซื้อดูได้ในตลาดมือสอง เพราะที่ร้านผมก็หมดแล้วหรือถ้าใครอยากจะหาผมเพื่อสอบถามศึกษาเรื่องพระสายหลวงปู่ดูลย์ ก็ไปหาผมที่จังหวัดสุรินทร์ได้มีอยู่ที่เดียวศูนย์พระเครื่องตี๋ สุรินทร์ใน บขส. จังหวัดสุรินทร์ นัดล่วงหน้าได้ที่ 086-666-3562 ครับ”

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox