เกร็ดชีวิตคนดัง

ใหม่ สแปรโรว์ นครสวรรค์ จากเด็กเกเรเดินเข้าซังเต สู่เจ้าของธุรกิจด้านพระเครื่องครบวงจร

%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%88-%e0%b8%aa%e0%b9%81%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b9%8c-%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b9%8c

ล้วงมุมมอง สะท้อนแนวคิดเซียนหนุ่มรุ่นใหม่พระเครื่องช่วยพลิกชีวิต จากเด็กเกเรเดินเข้าสังเต สู่เจ้าของธุรกิจด้านพระเครื่อง เดินสายช่วยเหลือวงการพระ และสังคมอยู่เสมอ

ใหม่ สแปรโรว์ นครสวรรค์
จากเด็กเกเรเดินเข้าซังเต สู่เจ้าของธุรกิจด้านพระเครื่องครบวงจร

          หากพูดถึงเซียนพระชื่อดังใน พ.ศ. นี้ ที่ผู้ใหญ่และเพื่อนพ้องในวงการ ให้การยอมรับ ทั้งฝีมือและความใจถึง ช่วยงานพี่น้องอยู่บ่อยๆ หนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อของ ใหม่ สแปรโรว์ นครสวรรค์ หรือชื่อจริง อาทิตย์ ไกวดี รวมอยู่ด้วย ซึ่งในวันนี้ นิตยสารพระเครื่องอภินิหารขอนำพาทุกท่านไปรู้จักกับเซียนพระรุ่นใหม่ ที่กำลังเป็นที่สนใจ ว่าเพราะเหตุใดจึงเลือกเส้นทางอาชีพ “เซียนพระ” เป็นอาชีพหลัก จนสามารถหยัดยืนเป็นที่รู้จักอยู่ในแวดวงพระเครื่องได้อย่างเต็มภาคภูมิ

  • เด็กเกเร เรียนไม่จบ ยึดอาชีพรับซื้อของเก่า

          “ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นผมอายุประมาณ 19-20 เป็นเด็กที่ค่อนข้างเกเรมากครับ วันๆ มีแต่เรื่องแต่ราวอยู่เสมอ เรียกได้ว่าห่างไกลกับวงการพระเครื่องอย่างมากครับ” ใหม่ สแปร์โรว์ฯ เกริ่นให้ฟังก่อนจะเริ่มเล่าถึงชีวิตในช่วงวัยรุ่นหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ไม่ได้สวยหรูจนกระทั่งชะตาขีดกำหนดให้ได้รู้จักกับวงการพระเครื่อง

          “ชีวิตช่วงนั้นค่อนข้างลำบากครับ เรียนก็ไม่จบ เงินก็ไม่ค่อยมี ดีที่ผมชอบหาเงินครับ อะไรที่เป็นเงินผมก็ทำหมด จนได้มาขี่สามล้อหาซื้อของเก่าตามบ้าน เช่น พวกโอ่งมังกร ข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ ที่พอขายได้ ผมก็ไปตระเวนหาซื้อ แล้วก็ขายไป ทำแบบนี้อยู่หลายปี จนได้รู้จักกับลุงอรุณ สมสาร เซียนพระยุคเก่าปัจจุบันแกเสียชีวิตไปแล้วนะครับ”
“ลุงอรุณนี่ล่ะ ที่ทำให้ผมเริ่มที่จะสนใจพระเครื่อง เพราะเวลาผมไปซื้อของเก่าตามบ้าน บางครั้งเจ้าของบ้านเขาก็เอาพระมาขาย เหมือนของเก่ากับพระเครื่องมันเชื่อมต่อกันแบบออโต้ครับ แต่ช่วงแรกๆ ผมไม่ได้สนใจเช่าพระหรอกนะครับ เพราะเราดูไม่เป็นพระ ไม่รู้ว่าจะซื้อยังไง ซื้อแล้วขายใคร? พอได้รู้จักกับลุงอรุณแกเล่นทั้งของเก่า และเล่นพระด้วย ก็เลยเริ่มที่จะซื้อพระติดมาด้วย แล้วเอามาให้ลุงอรุณดู ณ ตอนนั้นบอกตามตรงว่า ผมเน้นขายอย่างเดียวครับ”

  • ไม่มีต้นทุน อาศัยครูพักลักจำจากผู้ใหญ่เมตตา

          “ช่วงแรกที่ผมรับซื้อพระ ผมเหมามาจากบ้านคน เหมาะมาพร้อมกับของเก่า พอได้พระอะไรมาผมก็จะขายให้ลุงอรุณ สมสาร อย่างเดียว แล้วลุงอรุณก็จะเป็นคนบอกผมว่าอย่างนี้คือดีอย่างนี้คือไม่ดี ถึงได้เริ่มค่อยๆ ศึกษาโดยเริ่มจากลุงอรุณ
ลุงอรุณแกเล่นหลวงพ่อเดิม เครื่องรางเล่นสายพระของจังหวัดนครสวรรค์ ทำแบบนี้อยู่พักใหญ่ ผมเห็นว่าพระเครื่องสามารถทำเงินให้เราได้ ก็เลยลองสอบถามลุงอรุณ และแกก็ตอบนะครับ แกคงเห็นว่าผมสนใจพระ และลุงอรุณเองก็เป็นคนจิตใจดี มีเมตตา ก็แนะนำผม ว่าแบบไหนขายได้ แบบไหนคนนิยม จนผมเริ่มมีความ รู้ แต่เป็นการรู้ในระดับที่ไม่ชำนาญมากนะครับ อาศัยถามลุงอรุณเอาครับ เรียกได้ว่า ลุงอรุณ เป็นครูคนแรกของผมครับ”

  • สู้ชีวิตแต่! ชีวิตสู้กลับ! กำลังก้าวย่างเข้าสู่วงการพระเครื่อง ก็ต้องก้าวเข้าสู่ห้องขัง!

         “ในระหว่างที่ผมซื้อของเก่า และซื้อพระตามบ้านอยู่นั้น ผมก็ยังไม่เลิกนิสัยใจร้อน เกเร จนทำให้ผมต้องเลิกเล่นพระไปช่วงหนึ่ง เพราะติดคุก!”

          เมื่อเห็น ใหม่ สแปร์โรว์ฯ พูดถึงตรงนี้แล้ว ผู้สัมภาษณ์ก็อดไม่ได้ที่จะถามว่า “บทนี้สามารถเอาลงได้ไหมคะ?” ซึ่ง ใหม่ สแปร์โรว์ฯ ก็พยักหน้า ตอบกลับด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม เป็นเอกลักษณ์ว่า “ยินดีครับ ผมไม่เคยปิดบังอดีตของตัวเอง”

  • โอกาส และโชคชะตา นำพา สู่อาชีพเซียนพระ

          “พอพ้นโทษออกจากคุกก็มีพี่ที่เขาเห็นใจเห็นผมมีคำพูดคำจาที่ฉะฉาน รู้จักคนเยอะ เขาก็ถามผมว่า คนไม่มีวุฒิแบบผม เกเรแบบผม อยากมีเงินเดือน 2-3 หมื่นไหม ถ้าผมยอมเลิกเกเรให้ไปทำงานกับเขา ผมก็ตอบตกลง ผมทำงานเก็บเงินกู้กับเขาอยู่ 2-3 ปี แล้วก็ไม่ได้ติดต่อลุงอรุณอีก แต่แล้วมีเหตุการณ์หนึ่ง คนที่ผมไปเก็บเงินเขาไม่มีเงินส่ง แต่เขามีพระ เขาก็เอามาให้ผมไปออกต่อเพื่อจะเอามาจ่ายเงินกู้ ผมก็กลับไปหาลุงอรุณอีกครั้งครับ”

          “ลุงอรุณแกก็ยังคงเมตตาผมเหมือนเดิม แนะนำให้ผมเอาไปปล่อย แล้วก็ได้ราคา จากครั้งนั้นที่ผมได้ลองเอาไปปล่อย ผมก็เริ่มศึกษาพระเครื่องอย่างเต็มตัวเพื่อจะยึดเป็นอาชีพ โดยอาศัยดูพระแท้จากลุงอรุณเพื่อใช้เป็นองค์ครู ลุงอรุณเคยบอกว่า อยากเป็นพระอะไรให้ ซื้อของแท้มาเลยซื้อมาเพื่อศึกษา พอได้วิชาก็ขายไป เรียกว่าซื้อมาเอาวิชาครับ”

  • พระเครื่องพลิกชีวิต จากติดลบสู่เจ้าของศูนย์พระ

          “ครั้งหนึ่งผมเคยได้หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จากคนแถวบางพระหลวง คนขายเขาบอกว่างัดออกมาจากหัวเรือ คือสมัยก่อนเขาจะมีความเชื่อว่าเอาพระเครื่องติดไว้ที่หัวเรือหน้าเรือ เพื่อเป็นแม่ย่านางให้คอยคุ้มครองป้องกันภัยเวลาออกเดินทางไปค้าขายจะได้ปลอดภัย พระองค์นั้นผมซื้อมาในราคา 10,000 บาทแต่ผมสามารถปล่อยไปในราคา 700,000 บาท”

          “จากนั้นผมก็เริ่มซื้อพระขายพระด้วยตัวเอง แล้วได้มาพบกับ บุ๊ง กำแพง ตามสนามพระ บุ๊งเขาเป็นคนกำแพง มาซื้อคอนโดอยู่ที่นครสวรรค์ ซื้อพระกันไปมา จากที่เป็นคู่ค้ากันก็เลยกลายมาเป็นเพื่อนกัน เป็นคู่หูกัน พอลุงอรุณเสียผมก็เดินสายกับบุ๊ง กำแพง”
“ระหว่างที่เดินสายนั้น ผมก็เริ่มจะมีคนรู้จักมากขึ้น ซื้อพระขายพระนครสวรรค์ได้แล้ว ก็อยากจะยืนหนึ่ง! สักสาย หลวงพ่อเดิมคนก็เล่นเยอะครับ ก็มาคิดดูว่าหลวงพ่ออะไรที่ตัวเองชอบ และชำนาญจนมาจบที่หลวงพ่อเขียนครับ”

          “หลวงพ่อเขียนนี่สมัยก่อน ตอนที่ผมยังเป็นเด็กอยู่ เวลาผมไปหาแม่ก็จะได้ยินคำพูดจากแม่เกี่ยวกับเรื่องหลวงปู่เขียน เสมอ ยิ่งช่วงหนึ่งหลวงพ่อเขียนกำลังมาแรง โดยเฉพาะพระหล่อโบราณที่คนนิยมสะสมกัน เวลาผมเช่ามาปล่อยให้คนที่เขาศรัทธา ก็ได้ยินเรื่องเล่าต่างๆ ด้วย จากนั้นก็เลยศึกษาจริงจัง จนชำนาญ จนเปิดศูนย์พระตรงแมคโดนัล มีกลุ่มมีเพื่อนพ้องมากขึ้น จึงตั้งกลุ่มหลวงพ่อเขียนใน facebook ตั้งชมรมบารมีหลวงพ่อเขียน มี มร วังตะกู, เอ้ วังตะกู, ฟลุ๊ค วังตะกู เป็นผู้ก้อตั้ง โดยมีผมเป็นประธานโต๊ะหลวงพ่อเขียนตอนนั้นผมเริ่มมีโอกาสเข้าสู่วงการพระเครื่อง จนได้รู้จักกับผู้ใหญ่ในสายนครสวรรค์อย่าง ผู้ใหญ่โต้ง นครสวรรค์ ซึ่งเป็นประธานจังหวัดฯ ไปมาหาสู่กัน ตอนผู้ใหญ่โต้ง นครสวรรค์ จัดงานประกวดพระผมก็เข้าไปช่วยงาน และเป็นกรรมการรับและตัดสินพระของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ตัดสินโต๊ะเครื่องรางจังหวัดนครสวรรค์ ได้มีโอกาสรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการพระเครื่อง ทั้งป๋าพยัพ คำพันธุ์, ป๋าต้อย เมืองนนท์ รวมทั้งผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ผมเล็งเห็นว่า หากเราอยากจะเผยแพร่บารมีหลวงปู่เขียนให้เป็นที่แพร่หลาย เราควรนำเข้าสู่สมาคมนิยมพระเครื่องพระบูชาไทย”

         “ที่เลือกเข้าสมาคมฯ เพราะว่า ความเป็นมาตรฐานที่นักเล่นพระส่วนใหญ่ให้การยอมรับ ไม่ว่าจะเกิดประเด็นซื้อขายในวงการพระเครื่อง ส่วนใหญ่ก็จะจบที่สมาคมฯ ถ้าเราอยากจะให้พระหลวงพ่อเขียนได้รับความนิยม นักสะสมพระเครื่องทั่วประเทศ เพื่อความเป็นสากล ซื้อขายกันอย่างสบายใจก็คือต้องนำเข้าสู่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย มีป๋าพยัพ คำพันธุ์เป็นนายกสมาคมครับ”

          “แรกเริ่ม ก่อนที่จะเป็นยอดนิยมเราต้องซื้อบัตรก่อน ไปช่วยงานในแต่ละจังหวัดเช่นประมูลพระบ้าง ซื้อบัตรส่งพระบ้าง จากนั้นก็มีโต๊ะพระหลวงพ่อเขียนยอดนิยม ผมเป็นประธานโต๊ะ เดินสายช่วยตัดสินทุกจังหวัด ไปประมูลพระช่วยงานบ้าง บริจาคบ้าง ล่าสุดผมก็ร่วมกับทางชมรมฯ จัดงานประกวดพระด้วย”

  • ฝากถึงนักนิยมสะสมพระเครื่อง รุ่นใหม่ ที่อยากประสบความสำเร็จ

          “ผมอยากจะบอกน้องๆ ที่ยึดอาชีพนี้ว่า ถ้าอยากจะยืนอยู่บนถนนสายนี้นานๆ คำพูดสำคัญที่สุด รักษามาตรฐานของตัวเองไว้ให้ดี เวลาขายอะไรไปแล้วให้พึงตระหนักไว้เยอะๆ ว่าพระที่เราขายให้ลูกค้าไปเป็นแบบไหน หากไม่ดีก็ไม่ต้องขายก็ไม่ต้องทำ ความจริงก็คือความจริงครับ เดี๋ยวนี้มีบัตรสำนักต่างๆ ถ้าพระไม่ดียังไงเขาก็รู้ เชื่อผมให้รักษามาตรฐานของตัวเองไว้ และเล่นพระให้มีมาตรฐาน ถ้าเรายึดมั่นในจุดนี้ลูกค้าก็จะจุนเจือเรา และเป็นลูกค้ากับเราระยะยาว เขาจะคอยผลักดันเราจนเราถึงฝัน จนประสบผลสำเร็จอย่างผม”

          “ส่วนเรื่องศึกษาผมอยากจะบอกน้องๆ ว่า ไม่ต้องรีบ ค่อยๆ ศึกษาเพราะสมัยนี้มันง่าย ไม่เหมือนสมัยก่อนสมัยที่ผมศึกษา ผมต้องไปถามถึงที่ ไปดูพระแท้กับคนที่มีให้เห็นจนชินตา สมัยนี้มีอินเตอร์เน็ตก็สามารถเปิดดูได้แล้ว สมมติอยากศึกษาอะไร ก็ให้เริ่มจากอ่านประวัติก่อน ดูในอินเตอร์เน็ตก็ได้ ดูให้ถี่ถ้วนมั่นคงเป็นแน่แท้แล้ว ก็เข้าหาผู้ใหญ่ ซื้อพระแท้ๆ มาศึกษา อย่าไปเสียดาย เพราะเราซื้อมาเป็นครู มั่นใจดีแล้วค่อยซื้อ เพราะว่าพระแต่ละองค์มีราคา เกิดโดนมาอะไรมาจะลำบาก ผมเคยผ่านคำว่าไม่มีมาก่อน เวลาโดนพระเก๊ทีนี่ โอ้โห…แย่เลยลูกเมียจะกินอะไร ถึงจะเงินไม่กี่ตังค์ก็เถอะครับ เงินร้อยหนึ่งของแต่ละคนยังไม่เท่ากันเลย”

         นี่คือเส้นทางชีวิตของผมที่ผ่านมา ของ ใหม่ สแปร์โรว์ นครสวรรค์ ตั้งแต่เด็กเกเรเรียนไม่จบ ขายของเก่า ติดคุกติดตาราง เก็บเงินกู้ จนเข้าสู่บทบาทเซียนพระ กระทั่งปัจจุบันเป็นประธานโต๊ะตัดสินพระฯ หลวงพ่อเขียน

        เรียกได้ว่าเส้นทางของใหม่ สแปร์โรว์ นั้น ขึ้นๆ ลงๆ จนกระทั่งติดลบ แต่เมื่อยึดอาชีพพระเครื่อง ชีวิตก็พลิกฟื้นจนสามารถเป็นที่รู้จักในวงการพระเครื่อง และล่าสุดก็เพิ่งซื้อตึก! เปิดเป็นศูนย์พระเครื่องครบวงจร ที่ไม่เพียงรับเช่า-ปล่อยเช่า พระเครื่องเท่านั้น ยังมีทั้งขายอุปกรณ์เลี่ยมพระทุกขนาด พร้อมทั้งรับถ่ายรูปพระเครื่อง ครบจบที่เดียว เปิดบริการทุกวันไม่มีวันหยุด ซึ่งถึงแม้ ใหม่ สแปร์โรว์ฯ จะออกเดินสายช่วยงานสังคม แต่ก็มีทีมงานคอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนต้อนรับผู้ไปใช้บริการ ใครที่สนใจก็ติดต่อได้ที่ ร้านชมรมพระเครื่องเมืองสี่แคว อยู่ตรงหน้า วัดศรีสวรรค์ หรือถ้าอยากพบกับ ใหม่ สแปร์โรว์ฯ ก็สามารถนัดล่วงหน้าได้ที่ 089-516-5340, 099-384-4439 หรือนัดผ่าน facebook ใหม่ สแปร์โรว์ นครสวรรค์ (ใหม่ สี่แคว)ได้เลยนะคะ

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox