เกร็ดชีวิตคนดัง

หรั่ง อุดร ประธานฯ จังหวัดอุดรฯ รู้ลึก รู้จริง พระเครื่อง หลวงปู่ขาว อนาลโย

%e0%b8%ab%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%87-%e0%b8%ad%e0%b8%b8%e0%b8%94%e0%b8%a3-%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%98%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%af-%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%ab%e0%b8%a7

          หากกล่าวกันถึงพระเกจิสายอีสานที่มีผู้ให้ความศรัทธา เช่าหาวัตถุมคงคล ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันนี้ ก็คงหนีไม่พ้นพระเครื่องของหลวงปู่ขาว อนาลโย หนึ่งในพระเกจิที่มีศิษยานุศิษย์จากทั่วทุกมุมโลก ทั่วทุกชนชั้น และทั่วทุกวรรณะ แม้ท่านจะละสังขารไปนานแล้วก็ตาม แต่พระเครื่องของท่านก็ยังเป็นพระเครื่องยอดนิยมสายอีสานระดับตำนาน ที่นักนิยมสะสมพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาพระเครื่องของท่านมาครอบครองบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล จากผู้รู้ ผู้ชำนาญการ หรือที่เรียกกันว่าเซียนพระ

          และในวันนี้ นิตยสารพระเครื่องอภินิหาร จะพาคุณผู้อ่าน ไปทำความรู้จักกับ เซียนพระของจังหวัดอุดรธานี ที่มีความชำนิชำนาญระดับแนวหน้า สามารถชี้จุดเก๊-แท้ ซื้อขายเล่นหาพระเครื่องของหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้อย่างถ่องแท้ แม่นยำ จนได้รับการยอมรับจากนักนิยมสะสมพระเครื่องจากสายอีสานและทั่วประเทศ กระทั่งได้รับความไว้วางใจจากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ให้ขึ้นนั่งเก้าอี้ ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จังหวัดอุดรธานี มาหลายปี นั่นก็คือ “หรั่ง อุดร”

          หรั่ง อุดร ชื่อจริง นิตินัย กำเนิดกาญจน์ เป็นคนจังหวัดอุดรธานี ซึ่งก่อนที่จะสนใจในวงการพระเครื่องนั้น เคยทำงานเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ ของธนาคารกรุงศรี คอยดูแลด้านสินเชื่อรถยนต์ ให้กรุงศรีออโต้ มาก่อน สิ่งที่ทำให้สนใจพระเครื่องนั้น สืบเนื่องจากว่าพี่ชายเป็นเซียนพระ ชื่อ ทนายสุรชัย เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในพระเครื่องสายอีสาน โดยเฉพาะพระเครื่องของหลวงปู่ขาว อนาลโย เวลาที่พี่เขาดูพระ ส่องพระ ก็แนะนำและชักชวนให้ศึกษาพระเครื่องของหลวงปู่ เพราะท่านเป็นพระเกจิประจำจังหวัดอุดรธานี และยังให้ผมไปช่วยเป็นลูกมือหยิบจับพระบ่อยๆ ทำให้ผมเริ่มซึมซับและมีความสนใจในพระเครื่องของหลวงปู่ขาว อนาลโย จนเริ่มศึกษาเรื่องราวของท่านกระทั่งก่อเกิดเป็นความศรัทธาในที่สุด


          เมื่อมีความศรัทธาเป็นที่ตั้ง หรั่ง อุดร ก็เริ่มค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคลของหลวงปู่ขาว อนาลโย จนมีความชำนาญสามารถเดินซื้อขายพระเครื่องของท่านด้วยตนเอง ซึ่งพระเครื่ององค์แรกที่ หรั่ง อุดร ควักเงินบูชาจากความสามารถก็คือ สมเด็จหมออวย ซึ่งมีมวลสารของพระสมเด็จวัดระฆังเป็นส่วนประกอบ จัดเป็นพระเครื่องยอดนิยม ที่มีอัตราการเช่าบูชาในปัจจุบันนี้สูงถึง 100,000 บาทขึ้น ทั้งนี้ หรั่ง อุดร ได้เล่าถึงแนวทางการศึกษาพระเครื่องของตนเอง ว่า

          “การศึกษาพระเครื่องให้เป็น ไม่ได้ดูแค่พิมพ์ทรงเนื้อหาเท่านั้น ผมดูไปถึงกรรมวิธีการจัดสร้างด้วย ว่าใช้อะไรบ้าง มีพิธีกรรมยังไง ศึกษาทั้งจากหนังสือ จากผู้รู้ จากครูบาอาจารย์ในจังหวัดอุดรธานี ไปให้เขาสอน เดินตามคนที่เขาเป็น คนที่เขาเก่ง ไปเป็นลูกมือเขา ซึ่งผมใช้เวลาศึกษาอยู่ถึง 5 ปีเต็ม จนมั่นใจถึงเริ่มออกเดินซื้อขายครับ ผมยังจำตอนซื้อพระสมเด็จหมออวย ซึ่งเป็นพระองค์แรก และองค์ครูของผมได้ดี ตอนนั้นซื้อมาในราคาราวๆ 25,000 – 30,000 บาท ตอนนี้พิมพ์ใหญ่สวยๆ หลักแสนปลายๆ แล้ว”

          จากที่เริ่มบูชา หรั่ง อุดร ก็หันเหเบนเข็มชีวิต จากศึกษา เช่าบูชาก้าวสู่วงการพระเครื่อง ด้วยการเชื้อเชิญจากประธานจังหวัดฯ คนเก่า แหล่ อุดร ที่เล็งเห็นความสามารถเข้ามาเป็นเซียนพระ โดยเริ่มจากให้นั่งเป็นผู้ช่วยรับพระ ตามงานประกวด ซึ่ง หรั่ง อุดร เล่าว่า
“พอผมได้มานั่งอยู่หลังเซียนพระ คอยช่วยรับพระ ช่วยตัดสินพระ ณ จุดนี้ ทำให้ผมได้รู้จักพระเครื่องหลวงปู่ขาวมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เรารู้จักแค่ไม่กี่รุ่น ไม่กี่พิมพ์ ก็รู้จักเป็นร้อย เหมือนเปิดโลกทัศน์ทำให้เราไม่ได้เล่นอยู่คนเดียว พระไม่ได้แท้อยู่แค่คนๆ เดียว ยังมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมาก ทั้งเรียนรู้เรื่องพระเครื่อง ความเป็นมาตรฐาน สากล หรือแม้แต่เรียนรู้เรื่องการทำงาน แนวทางต่างๆ จากการเข้าสมาคมฯ อย่างเช่น ป๋าพยัพ, ป๋าต้อย หรือผู้หลักผู้ใหญ่ คนในวงการ ที่คอยให้คำแนะนำ

          ผมเดินสายอยู่ในวงการอยู่นานจนได้เป็นรองประธานฯ จังหวัดอุดรธานี และได้รับความเมตตาจากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ร่วมรับและตัดสินพระเครื่อง ร่วมประมูลพระเครื่องเพื่อการกุศล และดำเนินตามแนวทางสมาคมฯ ร่วมเผยแพร่ และอนุรักษ์พระเครื่องมาโดยตลอด จนกระทั่ง ประธานกรรมการบริหารสมาคมฯ จังหวัดอุดรธานี หมดวาระ จึงได้รับโหวตจากสมาชิกในสมาคมฯ จังหวัดอุดรธานี เลือกให้ผมขึ้นเป็นประธานฯ แทนพี่แหล่ อุดร สมาคมฯ ผมจึงลาออกจากตำแหน่งเดิม คือประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ภาคตะวันออกแยงเหนือ 20 จังหวัด และสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ก็แต่งตั้งให้ผม ขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จังหวัดอุดรธานี จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ครับ ซึ่งตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งจนวันนี้ผมก็ดำเนินตามแนวทางของสมาคมฯ ที่ร่วมกันอนุรักษ์พระเครื่อง โดยเฉพาะสายอีสาน สายพระในจังหวัด ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายสู่ระดับสากลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะจัดงานประกวด งานอนุรักษ์พระเครื่องพระบูชาไทย ในจังหวัดอุดรธานี หรือการเข้าร่วมกับงานประกวด การอนุรักษ์ฯ ในจังหวัดอื่นๆ ผมหวังว่าพระของจังหวัดอุดรธานี จะเป็นที่รู้จัก นิยมแพร่หลายเช่นนี้สืบไป”

          สำหรับนักนิยมสะสมพระเครื่อง รุ่นใหม่ที่มีใจรักในพระเครื่องหลวงปู่ขาว อนาลโย หรือพระเครื่องสายอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี แต่ยังไม่รู้ว่าจะเข้ามาเล่นหายังไงนั้น หรั่ง อุดร ได้ให้คำแนะนำว่า

          “ใครที่อยากจะเข้ามาสู่วงการพระเครื่อง อยากเล่นพระเครื่อง อยากยึดอาชีพนี้จริงๆ อย่างแรกเลยก็คือ ต้องศึกษาก่อน ยังไม่จำเป็นต้องเสียเงินเช่าก่อน ดูจากหนังสือพระเครื่องก่อนที่มีมาตรฐานก่อนก็ได้ ดูให้รู้ลักษณะ เหรียญ พระพิมพ์ ทรง สมัยนี้มันง่าย มันกว้างกว่าเมื่อก่อนเยอะ พอศึกษาและมั่นใจว่าชอบพระเครื่องสายนี้จริงๆ หรือรู้จักพิมพ์ทรงดีแล้ว ก็เข้ามาที่ สมาคมฯ ในจังหวัดอุดร ที่นี่จะมีรุ่นพี่ที่เค้ามีความรู้เยอะ เข้ามาศึกษา มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน เซียนรุ่นพี่จะมีคำแนะนำให้ เราจะได้ไม่โดนของเก๊ให้เสียเงิน เพราะการเช่าพระนี่ถ้าเจอเก๊คือเงินเราจะสูญเลยทันที ซึ่งถ้าสมมติโดนของเก๊ให้มองว่าเป็นเรื่องปกติเป็นธรรมชาติ ธรรมดาของคนที่อยากจะเป็นเซียน โดนกันทุกคน แต่โดนแล้วก็อย่าไปคิดมาก ผมก็เคยโดน”

          ใครอยากจะเข้ามาปรึกษา พูดคุย ก็สามารถเข้ามาพูดคุยกันได้ ไม่ว่าจะที่งานประกวดพระฯ หรือจะแวะไปหาที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จังหวัดอุดรธานี ซึ่งสมาคมฯ ตั้งอยู่ที่สี่แยกบ้านเลื่อม จังหวัดอุดรธานี ติดต่อโทรหานัดล่วงหน้ากับผม หรั่ง อุดร โดยตรงได้ที่ 097-993-5919

          “ทุกวันนี้วงการเราเปิดกว้าง ผู้หลักผู้ใหญ่ก็พร้อมสนับสนุน ต้อนรับน้องๆ ที่สนใจในการอนุรักษ์พระเครื่องเสมอ ใครที่สนใจก็แวะมาหา พูดคุยกัน เพราะผมในฐานะ ประธานกรรมการบริหารสมาคมฯ จังหวัดอุดรธานี อยากให้คนรุ่นใหม่ ที่ชอบพระสายอีสาน หันมาให้ความสนใจเล่นพระเครื่องในจังหวัดกันอย่างถูกต้องวงการพระเครื่องยอมรับ เป็นมาตรฐานสากล ตามแนวทางสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยครับ” หรั่ง อุดร กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox