เกร็ดชีวิตคนดัง

“เล็ก บางยี่ขัน” กรรมการตัดสินพระโต๊ะเนื้อผงยอดนิยม ศิษย์อาจารย์สมาน คลองสาม

%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%81-%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a2%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%82%e0%b8%b1%e0%b8%99-%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3

          “ก่อนที่จะมาสนใจศึกษาเล่นหาพระเครื่องนั้น ชีวิตผมได้ลองผิดลองถูกมาหลายอย่าง ทั้งขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ขายของ  จนท้ายสุดเป็นเซลล์ขายหนังสือภาษาอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งมีช่วงหนึ่งบังเอิญได้เจอกับพี่ที่รู้จักคนหนึ่ง ที่เคยบวชด้วยกันตั้งแต่ตอนเป็นเณร เป็นพระ ซึ่งพี่คนนี้เขาชอบพระเครื่องมาแต่สมัยบวชพระด้วยกันแล้วครับ แต่ผมไม่ได้สนใจเพราะสมัยก่อนมีความรู้สึกว่าคนเล่นพระเหมือนพวกหลอกลวง คือเขาจะมีความรู้จริงๆ หรือเปล่า? อะไรทำนองนี้ก็เลยไม่ได้สนใจ แล้วช่วงที่เจอพี่คนนี้ผมก็กำลังตกงานลำบากมาก พี่เขาก็เลยลองชวนผมให้มาเป็นมือปืนรับจ้าง”

“เล็ก บางยี่ขัน”
(อัศจรรย์ พิมณฑา)
กรรมการตัดสินพระโต๊ะเนื้อผงยอดนิยม
ศิษย์อาจารย์สมาน คลองสาม

          “ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า คำว่ามือปืนรับจ้างของวงการพระไม่ใช่มือปืนรับจ้างเหมือนที่ทุกๆ คนเข้าใจนะครับ มือปืนในวงการก็คือ การที่เราเอาพระของคนหนึ่งไป ไปขายให้กับคนที่เขาต้องการ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องลงทุน หรือซื้อก่อนขาย แล้วเราได้ส่วนต่าง คล้ายๆ จับเสือมือเปล่านั่นล่ะครับ คนที่เอาพระคนอื่นไปขายเขาเรียกว่ามือปืนรับจ้างครับ ซึ่งคนที่จะเป็นมือปืนรับจ้าง คุณต้องเป็นคนน่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ไม่ใช่ว่าใครๆ จะทำได้หมดนะครับ”

          “ซึ่งตอนนั้นพี่ที่แนะนำผมเขาให้ผมลองเอาพระเขาไปขายให้ลูกค้า ซึ่งพอผมขายให้เขาได้ก็เลยรู้ว่า อ๋อ…การซื้อพระ ขายพระ มันได้ตังค์จริง มันสามารถเป็นอาชีพได้ แต่ว่า…ตอนนั้นผมยังไม่คิดว่าตัวเองจะมาศึกษาด้านนี้นะครับ นอกจากคอยเอาพระพี่เขาไปขายให้ แล้วก็ไปวางแผงที่สวนจตุจักรขายให้เขาเพื่อเอาส่วนต่างเอากำไร 300 บ้าง 500 บ้าง นั่นล่ะครับคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเข้ามาในวงการ แต่อยู่แค่วงซื้อขายเท่านั้นนะครับ ยังไม่ได้เข้ามาศึกษาเพิ่มเติมอะไร”

          “ทีนี้พอเราอยู่ที่นั่นบ่อยๆ ได้ขายพระ ได้อยู่ใกล้กับคนที่เขาเล่นพระเป็น ได้เห็นพระจากแผงอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งในสมัยก่อนสวนจตุจักรเขาจะเปิดแค่เสาร์-อาทิตย์ คือวันศุกร์ ชาวต่างจังหวัดต่างๆ สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ฯลฯ เขาก็จะเตรียมตัวมากันแล้ว พอวันเสาร์ปุ๊บ ตี 2-3 ของวันเสาร์จะเต็มไปด้วยนักเล่นพระแล้ว พอมีเวลาว่างปุ๊บผมก็จะเริ่มเดินดูพระตามแผงที่เขาวางใกล้เคียงนั่นล่ะ จนผมไปสะดุดตาเข้ากับร้าน …ร้านหนึ่ง ซึ่งเขาวางพระไม่เหมือนใคร เค้าจะวางพระเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก แล้วก็จะเขียนชื่อพระกำกับเอาไว้ด้วย เช่น พระวัดปากน้ำ รุ่นแรก, พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์นั้น พิมพ์นี้ อะไรต่างๆ ผมก็เลยชอบยืนดู จนได้รู้ว่า เออ!… พระแบบนี้เค้าเรียกว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำนะ แบบนี้คือพระหลวงพ่อปานนะ ก็เลยเงยหน้ามองชื่อร้านก็เห็นเขียนว่า “สมาน คลองสาม” ผมก็เลยชอบเดินมาดูบ่อยๆ เพราะสมัยก่อนเราไม่มีตังค์ เงิน 1,000 หรือ 2,000 บาท นี่เราไม่ได้มีไว้ซื้อพระเครื่องมาดูหรอกครับ ก็เลยต้องอาศัยไปมองตู้เขา ครูพักลักจำจากการแยกพระให้ได้ก่อน แล้วก็เก็บสะสมไว้เป็นองค์ความรู้ แล้วก็ลองเดินดูตามแผงต่างๆ ว่าร้านอื่นมีพระแบบที่ร้านนี้เขามีไหม แต่ว่า…ดูพระไม่เป็นนะครับ”

          เล็ก บางยี่ขัน หรือชื่อจริง อัศจรรย์ พิมณฑา เซียนพระสายเนื้อผงยอดนิยม เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งแรกเริ่มก่อนจะเข้าสู่วงการพระเต็มตัวในอดีตให้ฟัง พลางเอ่ยถึงที่มาที่ได้ศึกษาพระเครื่องจากอาจารย์สมาน คลองสาม อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จนมีความรู้แตกฉาน สามารถซื้อขาย เล่นหา และเป็นหนึ่งในกรรมการรับและตัดสินพระ โต๊ะพระเนื้อผงยอดนิยมได้ในทุกวันนี้ ซึ่งเส้นทางการเป็นเซียนของเล็ก บางยี่ขัน เปรียบได้กับขั้นบันได ที่ค่อยๆ เหยียบ ค่อยๆ ก้าว เพื่อขึ้นสูงยอดสูงอย่างระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไป

          …พอผมอยู่สวนจตุจักรสัก 2 ปี พี่เค้าก็เลิกไป คราวนี้ผมก็เคว้งคว้างละ ก็เลยตัดสินใจลองขึ้นไปเดินๆ บนพันธุ์ทิพย์ ซึ่งในสมัยก่อนพันธุ์ทิพย์เค้าเรียกว่าบางลำพูนะครับ แล้วตลาดพระใหญ่ๆ นอกจากจตุจักรก็จะเป็นบางลำพูนี่ล่ะ ก็เลยไปเจอร้านอาจารย์สมาน คลองสามอีก ผมก็ไปยืนดู ไปก้มๆ เงยๆ อยู่ตรงนั้นทุกวัน จนอาจารย์สมานก็คงเล็งเห็นอะไรในตัวผม ท่านก็เลยถามว่า “อยากเป็นไหม อยากดูพระเป็นไหม” ผมก็บอกท่านว่า “ผมอยากดูพระเป็นมากครับ”

          จากนั้นอาจารย์สมานก็บอกให้ผมลองมาอยู่ที่ตู้ของอาจารย์ คอยดูแลตู้ เฝ้าตู้ เช็ดตู้ ซึ่งที่ร้านของอาจารย์สมานจะมีตู้ประมาณ 3 ใบ ผมก็จะมาตั้งแต่ห้างเปิดมาเช็ดตู้รอ ซึ่งระยะแรกๆ ผมยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเรียงพระนะครับ ก็จะเป็นแฟนของอาจารย์เป็นคนเรียงพระ ซึ่งระหว่างที่ผมเช็ดตู้จะอาศัยช่วงนี้ละครับดูพระ แต่ว่าดูผ่านตู้กระจกนะครับ ไม่ได้เอาพระออกมาจากตู้  ก็จะจำว่าพระในตู้นี้คืออะไร ชื่ออะไร เพราะอาจารย์จะเขียนชื่อไว้ใต้ล่างพระตลอด ซึ่งพระของอาจารย์สมานมีทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน พระกรุ ซึ่งเราจะได้ดูพระที่หลากหลายมากๆ

          ผมใช้เวลาในการเช็ดตู้ดูพระอยู่แบบนี้เป็นปีเลยนะครับ ถึงได้รับอนุญาตให้มาเรียงพระ พอเริ่มได้เรียงพระก็ได้จับ ได้พลิกดู ได้จดได้จำจากผิวพระบ้าง ทีนี้อาจารย์ก็คงมองดูอยู่ตลอดจึงได้เริ่มที่จะบอกจะสอน แต่ว่าการสอนของอาจารย์จะไม่บอกว่าดูตรงไหน อะไรยังไง วิธีสอนของอาจารย์จะให้เราดูเองก่อนพอเราสงสัยไปถามอาจารย์ถึงจะแนะนำ ไม่ชี้จุดให้ เช่น อาจารย์จะบอกว่าคุณต้องดูตรงนี้นะ ซึ่งตรงนี้ของอาจารย์มันจะกว้างๆ ครับ จะไม่ชี้ตรงๆ เพื่ออะไร เพื่อให้ผมหาว่าบริเวณตรงนั้นที่อาจารย์บอกคือจุดไหน ให้ผมหาเองก่อน เช่น ถ้าสมมติแขนก็ให้จำรูปแบบของแขน ว่าจะมีความล่ำอยู่ด้านบนแล้วก็เล็กลงมาข้างล่าง มาต่อตรงนี้ ให้เราจำเอง แกจะไม่จับเราเขียนหนังสือ แต่แกจะบอกว่า ก. ให้ลากขึ้นข้างบนก่อนแล้วค่อยหยักหัว ประมาณนี้ครับ สอนให้เราตกปลาแต่ไม่หาปลาให้เรากิน จากนั้นผมก็ครูพักลักจำเรื่อยมา

          แล้วเวลาอาจารย์ว่าง ตู้ว่างหมายถึงไม่มีคนมาหน้าร้าน อาจารย์ก็จะบอกให้ผมหยิบพระขึ้นมาดู ซึ่งพอมีโอกาสผมก็จะดูอยู่อย่างนั้น ดูนานๆ ดูเหมือนกับว่าให้หลับคาพระไปเลยประมาณนั้น เพื่อให้เราจำได้มากที่สุด เพราะของแบบนี้ต้องอาศัยการจดจำ และส่วนตัวผมเองเป็นคนที่สมาธิสั้นด้วย พอเห็นอะไรแล้วลืมง่าย ผมเลยต้องดูบ่อยๆ แล้วอาจารย์ก็จะสอนจะบอกตลอดว่า เวลาพระที่เราได้มาขายไปก็จะได้เงินแค่ช่วงนั้น ขายพระไปแล้วเราจะเอาอะไรไว้ดูไว้จำ ดังนั้น ส่วนขายก็คือขายไป แต่พระที่เป็นครูบาอาจารย์ต้องเก็บเอาไว้เป็นองค์ครู อย่าขายหมด ถ้าขายครูบาอาจารย์เราหมดแล้ว แล้วจะเอาอะไรมาสอนตัวเอง นี่คือสิ่งที่อาจารย์จะย้ำอยู่เสมอครับ

          บางทีผมเดือดร้อนอยากขาย แต่ก็มานึกถึงคำของอาจารย์ ขายไปแล้วเราจะเอาที่ไหนดู ขอใครเขาดูก็ไม่ได้ง่ายๆ แต่ถ้าเรามีพระแท้ของตัวเราเอง สงสัยเมื่อไหร่ก็หยิบพระเราขึ้นมาส่อง มาดู มาเทียบ อย่างหนังสือเราก็ดูได้แค่พิมพ์พระ แต่องค์จริงๆ ที่เราสามารถดูได้ทุกมิติ หน้าหลัง ข้าง ตะแคง  ซอกแขน ฐาน จะเอาที่ไหนส่อง

          ยิ่งพระสมัยนี้อาจารย์สมานจะบอกไว้เลยครับว่า ไม่ใช่แค่เราที่รู้ตำหนิคนทำพระไม่แท้เขาก็รู้ ว่าคนเล่นพระจะดูตำหนิตรงไหน เพราะฉะนั้นเขาจะต้องทำให้เหมือนที่สุด แต่ถ้าเรามีพระของแท้ในมือ เราจะสามารถสร้างตำหนิด้วยตัวเราเอง หมายถึงว่า เราจะจำในจุดที่เขาไม่ได้ทำ เช่น สมมติเค้าเน้นที่ฐาน เพราะเซียนโดยมากจะดูกันที่ฐาน เราไปดูที่คอพระ ไปดูที่หน้าพระ ไปดูที่หูพระ ไปดูจุดอื่นๆ นี่ละครับคือเหตุผลว่าทำไมอาจารย์สมานถึงสอนให้ผมเก็บพระองค์ครูเอาไว้ ก็เพื่อที่เราจะใช้เป็นหลักในจุดนี้นั่นเองครับ และอีกอย่างถ้าคนที่ซื้อมาขายไปได้มาก็ปล่อยไปเลย ก็จะเป็นพระแค่ระดับหนึ่ง ถ้าเกิดเจอของที่ทำเลียนแบบได้เนี้ยบเหมือนมากๆ ก็อาจจะพลาดได้

          ซึ่งในยุคก่อนที่ผมเริ่มศึกษาเขาไม่มีหลักประกันเหมือนสมัยนี้ด้วยนะครับ คือซื้อพระปุ๊บก็คือต้องรับผิดชอบตัวเอง ถ้าซื้อมาไม่แท้คือก็ต้องเก็บเอง เจ็บเองนะครับ ไม่เหมือนตอนนี้ที่แค่คุณมีเงินล้านนึงจะซื้อพระแท้ ก็แค่ไปซื้อจากเซียนที่มีหลักประกันค้ำให้ ถามว่าดีไหมก็ดีครับ เพียงแต่สำหรับผมมันขาดเสน่ห์ และไม่เหมือนการซื้อด้วยตาของตัวเอง ซึ่งถามว่ามันชัดเจนไหม โอเคชัดเจน ครับ แต่! คุณไม่ได้สร้างความสามารถของตัวคุณเอง ก็เหมือนคุณซื้อพระ ซื้อใบรับประกันไม่ได้ซื้อเพราะพระ

         ผมจะบอกลูกค้า หรือคนซื้อพระผมเสมอว่า สมมติถ้าคุณอยากเล่นพระเหรียญนะครับ คุณซื้อเหรียญแท้ๆ มาเลย 3 เหรียญ เอามาส่องมาดู อยู่กับ 3 เหรียญนี้ทุกวันๆ จนมั่นใจแล้วลองไปหาซื้อเหรียญที่ 4 เพื่อทดสอบตัวเอง ถ้ามันขายได้ก็คือคุณเริ่มเป็นแล้ว แต่อย่าลืมว่าต้องเก็บ 3 เหรียญเดิมไว้นะครับ เมื่อไหร่ที่คุณสงสัย คุณก็จะได้กลับมาพลิกดู คราวนี้คุณก็สามารถซื้อพระได้โดยไม่ต้องขอคำรับประกันจากใครเลย

          ซึ่งมนต์เสน่ห์ตรงนี้ทุกวันนี้มันหายไป แต่จริงๆ ผมอยากให้มันกลับมานะ แบบสมมติผมไปซื้อพระมาแล้วเจอไม่แท้ก็ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองว่าความสามารถเราไม่ถึงนะ แต่ถ้าผมซื้อแท้ปุ๊บ ความรู้สึกของคนซื้อพระแท้มันเหมือนขนลุกเลยนะ มันจะภูมิใจในตัวเองมาก แต่เมื่อไหร่ที่ซื้อมาไม่แท้เราก็อย่าดื้อแค่นั้นเอง เราต้องรับความจริง แต่ว่า…คนที่บอกไม่แท้เค้าเป็นหรือเปล่าด้วยอันนี้ก็อีกอย่าง บางทีเราเอาไปให้คนไม่เป็นดูก็อาจผิดพลาดได้

          คือทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเรามีของแท้ยังไงเราไม่เล่นผิดทางแน่นอน ผมยืนยันมาตลอด ถ้าเรามีของแท้อยู่ ดูทุกวัน ส่องทุกวัน ถ้าคุณพิจารณาอย่างรอบคอบ คุณไม่โดนของเก๊แน่นอน แต่ก็อาจจะมีบ้างเพราะเราอาจจะยังชำนาญไม่พอแต่ไม่บ่อยหรอกครับ เว้นเกิดจากความโลภของคุณ เช่น ไปเจอพระที่ราคาขายได้ 50,000 แต่มีคนมาขายคุณ 500 แล้วคุณรีบร้อน ไม่พิจารณาซื้อเลยเพราะเห็นว่าถูก และมีลู่ทางขายได้ ผมจะบอกว่า 500 ก็ตังค์นะครับ ซึ่งคนที่จะโดนเก๊บ่อยๆ ก็คือคนโลภ จึงขาดการพิจารณาอย่างแยบคาย

         ทีนี้มาถึงเรื่องการอยากศึกษา แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนนี้เป็นหรือไม่เป็น ผมอยากจะบอกไว้ตรงนี้เลยนะครับว่า พระหนึ่งองค์อย่าไปเชื่อแค่คน… คนเดียว เราต้องดูหลายๆ คน อย่างทุกวันนี้ในงานประกวด เวลาเราไปงานก็จะรู้แล้วว่าใครเล่นสายไหน ซึ่งดูได้จากกรรมการที่มารับพระนี่ล่ะครับ และในกรรมการแต่ละโต๊ะ บอกตามตรงเลยว่า ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะเก่งทุกพิมพ์นะครับ กรรมการแต่ละโต๊ะเขาจะเด่นในแต่สาย อย่างพระโต๊ะผงยอดนิยม บางคนเก่งพระท้ายตลาดแต่ไม่ได้เก่งหลวงปู่ภูนะ แค่ดูได้คร่าวๆ แต่ไม่สามารถฟันธงได้ ขณะเดียวกัน คนดูหลวงปู่ภูได้ก็ไม่ใช่ว่าจะดูวัดเกศฯ ได้ทั้งหมด เขาดูได้แค่พื้นฐานแต่ฟันธงให้ชัดเจนเลยต้องเฉพาะทาง แต่เขาจะได้เปรียบที่มีพื้นฐาน สามารถซื้อวัดปากน้ำก็ได้ วัดเกศก็ได้ ปู่ภูก็ได้ พระท้ายตลาดก็ได้ ซื้อวัดเงินคลองเตยก็ยังได้ แต่ไม่ชำนาญเท่านั้นเอง อย่างส่วนตัวผมถนัดพระเนื้อผงยอดนิยม แต่ว่าสมเด็จวัดระฆัง 100 ปี สมเด็จบางขุนพรหม 09 อันนี้ก็จะแยกไปต่างหาก เพราะว่าเขามีสายตรงครับ

          อย่างกรณีคนที่อยากจะศึกษาพระนะครับ ผมอยากจะแนะนำว่า คุณชอบพระอะไร ดิน ชิน ผง เหรียญ กริ่ง รูปหล่อ ต้องถามตัวเองก่อนนะครับ ว่าคุณชอบพระอะไร คุณชอบพระเหรียญไหม? แล้วชอบหลวงพ่ออะไร? มันต้องลงลึกลงไปอีก ไม่ใช่ว่าคุณอยากจะซ่อมเครื่องรถปุ๊บ คุณซื้อรถมาแล้วแกะออกแล้วเอามาประกอบ แบบนี้ยังไงคุณก็ประกอบไม่ได้ การจะประกอบรถคันหนึ่ง เขายังแยกเป็นแผนกเลยครับ เช่น แผนกเครื่อง ตัวถัง เพราะฉะนั้นพระก็เช่นกันครับ ถ้าเราอยากเป็นอย่าไปรีบร้อน พระยังไม่หมดไปจากความนับถือของคนไทยครับ คุณขึ้นบันได อย่าไปกระโดดทีละ 4-5 ขั้น ค่อยๆ ขึ้นทีละขั้นๆ อย่างมั่นคง คุณจะประสบความสำเร็จแน่นอน เอาง่ายๆ คุณทนเช็ดตู้กระจกได้ถึงปีหรือเปล่า

         ทุกวันนี้กำตังค์มาเล่นพระไม่กี่อาทิตย์ ไม่กี่เดือนก็ตั้งตนเป็นเซียนพระแล้ว เพราะว่าอะไร เพราะสื่อต่างๆ หรือแม้แต่ในยูทูปมีคนลงให้ศึกษาเยอะ แต่คนเป็นพระจริงๆ เขาไม่ได้เก่งตรงโซเชียล สิ่งที่เราได้ดูจากสื่อมันจริงหรือเปล่าอันนี้ก็ต้องพิจารณา ต้องมีวิจารณญาณในการชมครับ เพราะนักพูดกับคนเป็นจริงๆ เราต้องเข้าไปสัมผัส ไปศึกษา ถึงจะรู้ว่าเขาเป็นจริงไหม อีกอย่างดูจากสื่อก็ไม่เหมือนกับองค์จริงครับ ถ้าเกิดเราเคยได้สัมผัสกับคนที่เขารู้จริงๆ เขาจะไม่พูดเยอะหรอกครับ นอกจากจะบอกให้เราพิจารณาด้วยตัวเราเอง เช่น สมมติดูเหรียญเขาก็จะบอกให้คุณดูข้าง ซึ่งข้างจะมีเส้นที่แตกต่างกัน พระทุกองค์จะมีรอยตัด อย่างพระเนื้อผงก็มีรอยตัดเหมือนกัน แต่ตัดแต่ละวัดแต่ละหลวงพ่อก็จะแตกต่างกันไปอีก ต่างยังไงบ้างก็จะชวนให้เราดูมากกว่าจะมานั่งเล่าอะไรมากมายครับ ถ้าเราได้ดูพระแบบนั้นบ่อยๆ และดูจนชินตา ดูจนรู้สึกถึงความเป็นพระแท้

          อย่างอาจารย์สมานจะบอกผมว่า สมเด็จนะครับพอหยิบมาถ้าไม่มีน้ำหนักก็ไม่แท้แล้ว บางทียังไม่ต้องส่องดูเลยครับ จับขึ้นมาน้ำหนักผิดปกติก็รู้สึกเลยว่าจะไม่แท้แล้ว เพราะผงแต่ละอย่าง มวลสาร เขาจะมีน้ำหนักที่ต่างกัน อย่างปัจจุบันเขาใช้ปูนวิทยาศาสตร์ แต่สมัยก่อนจะใช้พวกปูนเปลือกหอย ดินสอพอง ถ้ามีอายุเขาจะมีน้ำหนักในตัวเอง พวกนี้เป็นความละเอียดอ่อน คือพูดนี่คนฟังอาจจะ เฮ้ย! จริงเหรอ จริงเปล่า แต่ถ้าเกิดคุณได้เข้ามาศึกษาจากผู้รู้จริงๆ ได้จับจากพระจริงๆ คุณจะรู้เลยครับว่าสิ่งที่ผมพูดไปมันจะไม่ใช่สิ่งที่เวอร์อะไรเลย

          ทำไมคนเก่งๆ เขาเดินแผงพระ เค้าเดินผ่านทำไมเค้ารู้ว่าพระองค์นั้นแท้ล่ะ เพราะว่าเขาศึกษามานานจนชำนาญ พระแท้ก็จะมีอะไรที่สะดุดตา เดินผ่านก็ต้องสนใจแล้ว แวบเดียวจริงๆ แล้วไอ้แวบเดียวก็เป็นจริงอย่างที่เขาสงสัยเลยนะครับ

          พระแท้จะมีเสน่ห์ มีอะไรที่สะกิด เพราะเขาอยู่กับพระทุกวันๆ แต่ถ้าพระไม่แท้นะครับ เขาก็เดินผ่านแล้วผ่านเลยครับ เพราะอะไร เพราะเขาแม่นพิมพ์ ชำนาญเนื้อ และคุ้นเคยธรรมชาติของพระ

          แม่นพิมพ์คืออะไร เราต้อง ดูว่าพระองค์นี้หน้าเป็นยังไง หูเป็นยังไง แขนเป็นยังไง ฐานถูกต้องไหม ชำนาญเนื้อนี่ก็หมายถึง พระบางองค์ผ่านการใช้มาจะมีความฉ่ำของเหงื่อ ของกรุ ของคราบขี้ฝุ่น พระบางองค์สวยอย่างกับพระใหม่เลยเพราะว่าพระเขาไม่ได้ใช้ เขาวางไว้เฉยๆ ผิวบางองค์นะครับเหมือนพระใหม่ที่เพิ่งกดเลย แต่บางองค์ที่ผ่านการใช้ก็จะเนื้อจัดเลย เนื้อจะมัน นั่นคือการชำนาญเนื้อ

          ส่วนคุ้นเคยธรรมชาติพระ ก็คือขี้ฝุ่น การตัดข้าง พระสมเด็จไม่มีตัดสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป๊ะๆ นะครับ ไม่กว้างข้างบนก็เบี้ยวข้างล่าง เพราะว่าอะไร เพราะเขาตัดโดยมือ พระสมเด็จวัดระฆังของสมเด็จโตกว่าท่านจะสร้างพระอายุท่านก็เกือบจะ 80 ปีแล้วนะครับ โดยธรรมชาติของคนแก่อายุประมาณนี้ไม่ตัดแบบเป๊ะๆ หรอก ไม่ต้องอะไรมากหรอกครับ อย่างบางขุนพรหมนี่เอาชาวบ้านมากด ชาวบ้านที่มีความเรียบร้อย ใจเย็น มีระเบียบ ก็จะตัดสวย แต่พอหลังๆ กดไปตัดไป มากเข้าๆ ก็ไม่เป๊ะหรอกครับ ตัดไปก็โย้ไป เบี้ยวไปบ้าง นั่นคือธรรมชาติ

          ถ้าคุณมี 3 อย่างนี้ แม่นพิมพ์ ชำนาญเนื้อ คุ้นเคยธรรมชาติ คุณเล่นพระได้เหนือกว่าคนอื่นอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างต้องมีระยะเวลาของมัน ค่อยเป็น ค่อยไป อย่าเร่งรีบ เหมือนเราจะขึ้นไปชั้น 4 ชั้น 5 ไม่ใช่ว่าคุณจะกระโดดขึ้นไปได้เลยเมื่อไหร่ล่ะ โดดไปอาจจะแข้งขาหักก็ได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นไปที่ละขั้นๆ ผมว่าเมื่อถึงจุดสุดยอดแล้ว คุณไม่บาดเจ็บแน่นอน คุณประสบความสำเร็จแน่นอน สำคัญอย่าใจร้อนจนเกินเวลา เหมือนผลไม้ ถ้าคุณไปเร่งความหวานทางธรรมชาติจะไม่มี แต่ถ้ามันสุกงอมตามธรรมชาติจะหวานหอม พอได้ลิ้มรสไปแล้วจะไม่รู้สึกเสียดายเวลา เมื่อนั้นล่ะคุณจะเข้าใจว่ารสชาติความหวานจากธรรมชาติมันอร่อยจริงๆ ไม่เหมือนรสชาติจากการเร่งบ่ม การปรุงแต่ง

          อย่างการเล่นพระถ้าคุณไม่เร่งรีบจนเกินไป คุณสามารถเป็นพระได้ทุกอย่าง แต่ว่าวันนี้คุณเป็นพระได้ทีละอย่าง ค่อยๆ ศึกษา ฝึกซ้อม ฝึกฝน อย่างนักกีฬาทำไมเขาซ้อมเป็นเดือนเพื่อต่อยแค่ 5 นาที ทำไมไม่ซ้อมแค่ 5 วัน ทุกอย่างมันก็ต้องฝึกซ้อม พอเวลาเราขึ้นเวทีจริงมันจะมีความมั่นใจมากกว่าคนซ้อมน้อย อย่างบัวขาวเขาเก่งระดับนั้นยังต้องซ้อมทุกวันเลย พระก็เหมือนกันหมั่นฝึกฝน หมั่นซ้อม หมั่นดู ขยันส่อง อย่างผมว่างเมื่อไหร่ผมก็จะเอาพระที่เก็บไว้ขึ้นมาดู อ่านหนังสือบ้าง ถามอาจารย์บ้าง

          สำหรับคนที่อยากจะเข้ามาในวงการ ต้องดูว่าชอบพระอะไร ก็ไปตามสายที่ชอบ เพราะถ้าเราทำในสิ่งที่ชอบ ดูในพระที่สนใจจริงๆ มันจะประสบความสำเร็จได้ง่าย แต่ถ้าไปฝืนทำในสิ่งที่คนอื่นบังคับ หรือทำเพราะหน้าที่ เดี๋ยวก็เบื่อ พอเบื่อเราก็ไม่อยากทำต่อแล้ว แต่ถ้าเกิดเราทำจากความชอบแล้วยังไงก็ไม่มีเบื่อแล้ว ถึงคนอื่นจะไม่เห็นคุณค่าแต่ตัวเราจะรู้ว่ามันมีค่าต่อใจเรา ถึงแม้จะช้าแต่ถ้าเราไปถึงจุดสูงสุดมันเป็นอะไรที่ภาคภูมิใจมากนะครับ ส่วนไอ้การที่เราอยากจะเป็นพระอย่างอื่นด้วยนั้น เราค่อยไปต่อยอดเอาในภายหน้าก็ได้ อย่างเราเป็นพระผงแล้วอยากไปต่อเหรียญ ก็เอากำไรจากการเล่นหาเนื้อผงมานี่ล่ะ ไปซื้อเหรียญแท้ๆ ตอนนั้นเราก็รู้แล้วใครเก่งเหรียญ ใครเก่งเนื้อดิน ใครเก่งพระกรุ เพราะอะไร เพราะเราได้อยู่กับวงการนี้ไง เมื่อไหร่ได้เหรียญมาเราจะรู้ว่าควรจะปรึกษาใคร ได้พระกรุมาจะปรึกษาใคร ได้เนื้อชินมาจะปรึกษาใคร มันก็จะง่ายแล้ว

          แต่สำคัญของคนในวงการพระ ไม่ใช่ว่าคุณจะต้องรวยนะครับ คุณจะต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม คำพูดสำคัญที่สุดที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวคุณ เงินทองไม่สำคัญสำหรับคนเล่นพระ แต่คำพูดที่ซื่อสัตย์ มีความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงานสำคัญที่สุด จะสังเกตว่านักเล่นเก่าๆ เขาไม่ได้ มองกันที่เงินนะครับ เขามองกันที่คุณมีความนอบน้อมถ่อมตนแค่ไหน คุณมีความกระตือรือร้นในการศึกษาแค่ไหน เซียนเก่าๆ เขาจะมองคนที่จะเข้ามาว่าเขาควรจะสอนไหมจากตรงนี้แหละสอนแล้วจะเนรคุณครูไหม คนเนรคุณครูโอเคคุณอาจจะรวย แต่อย่าลืมว่า…เวรกรรมมีจริงนะครับ คุณสูงได้คุณก็ร่วงได้ ซึ่งในวงการพระมีให้เห็นเยอะแยะ

          ส่วนถ้าใครอยากจะลองเข้ามาพูดคุย สอบถาม หรือทำความรู้จักกัน อยากที่จะเรียนรู้ เบื้องต้นผมก็มีช่องยูทูปนะครับ ที่คอยให้ข้อมูลอยู่ ชื่อช่อง เล็ก บางยี่ขัน สามารถพิมพ์ค้นหาได้ หรือถ้าอยากจะเข้ามาปรึกษากันจริงๆ แบบพบเจอหน้ากันก็สามารถไปหาได้ครับที่พันธุ์ทิพย์ ชั้น 2 ร้านเล็ก บางยี่ขัน ซึ่งปกติผมจะอยู่ที่ร้าน หรือไม่ก็ร้านอาจารย์สมาน เพื่อไปซ้อม เพราะว่าที่ร้านอาจารย์สมาน มีพระที่หลากหลาย ให้ดูได้ทั้งวัน แต่ถ้าวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็จะไปงานประกวดพระครับ

          ผมอยากจะย้ำว่า ถ้าคุณอยากซื้อพระแท้ไม่แพง ต้องรู้พิมพ์ ชำนาญเนื้อ และคุ้นเคยธรรมชาติ คุณก็จะสามารถซื้อพระในราคาไม่แพงได้ ไปที่ไหนส่องมือเดียว ตาเดียว ซื้อได้เลยครับ แต่! ถ้าคุณอยากจะซื้อแพง มีตังค์เดินเข้าร้านไหนที่เขามีของแท้มีการันตีให้แล้วครับ แต่อยากเป็นไหม สร้างอาชีพไหม อยากมีอาชีพเล่นพระใหม่ ถ้าอยากมีอันไหนที่ผมรู้ผมก็เต็มใจที่จะสอน แต่คุณต้องเป็นแก้วที่มีน้ำไม่เต็ม พร้อมที่จะรับน้ำใหม่ น้ำใหม่อาจจะไม่สะอาดก็ได้ แต่เวลาจะกรั่นกรองและบอกคุณเองว่าน้ำที่อยู่ในแก้วเดิมของคุณกับน้ำใหม่ที่รินเข้ามา อันไหนเป็นน้ำสะอาดสมควรที่จะอยู่ในแก้วต่อไป อันไหนสะอาดเก็บไว้ สิ่งไหนสกปรกก็ใช้น้ำดีดันออกไป นั่นล่ะครับ

          สำหรับใครที่สนใจอยากจะศึกษาพระเนื้อผง ยอดนิยม ก็สามารถเข้าไปหาคุณเล็ก บางยี่ขัน ตามที่คุณเล็กแจ้งไว้ได้เลยนะคะ ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกันเกือบชั่วโมง ทางผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ถึงความจริงใจ ตรงไปตรงมา และชัดเจน ซึ่งหากจะนัดล่วงหน้า ก็สามารถโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 093-536-5563 นะคะ ไม่ต้องกลัวค่ะ…คุณเล็ก บางยี่ขัน หล่อ ใจดี สปอร์ต กทม. ยินดีให้คำปรึกษาแน่นอนค่ะ

// สัมภาษณ์โดย …จุ๋ม ศิริพร 

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox