เกร็ดชีวิตคนดัง

ครูเก่ง คุ้มบารมี นักสร้างพระใหม่ เผยแพร่บารมีธรรมพระเกจิสายอีสาน…มุ่งหวังให้เป็นตำนาน!!

%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%87-%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b9%89%e0%b8%a1%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%b5-%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%89

 

        ในช่วงสองสามปีมานี้…ต้องยอมรับว่าเจอพิษโควิดเล่นงานจนสะบักสะบอมเจ็บไปตามๆ กัน โดยเฉพาะสายพระเก่าที่ราคาทะลุสูงเพดานจะปล่อยกันช่วงโควิดก็ทำใจลำบากเพราะติดดอย ได้มาในช่วงเศรษฐกิจดีมีราคาสูง ถึงจะมีเปลี่ยนมือกันบ้าง หรือปล่อยออกมาให้ช้อนซื้อก็ไม่ได้มีสภาพคล่องดังเดิม แต่แวดวงพระใหม่กลับพุ่งกระฉูด ด้วยสนนราคาที่จับต้องได้ เปลี่ยนมือไว โดยเฉพาะพระเกจิสายอีสาน…ที่โด่งดังแพร่หลายไปไกลถึงต่างแดน ในขณะที่คนในท้องที่หรือแม้แต่คนใกล้อย่างพวกเรากลับมองข้าม…เฉกเช่นดังคำโบราณที่ว่า “ใกล้เกลือกินด่าง”

          วุฒิชัย ไพบูลย์เจริญลาภ ชื่อนี้หลายคนอาจจะขมวดคิ้วว่า…เอ๊ะ! ใครกันนะ ทำไมไม่คุ้น แต่ถ้าหากเราเอ่ยชื่อ ครูเก่ง คุ้มบารมี แน่นอนว่าสายพระใหม่โดยเฉพาะกลุ่มแถบอีสานจะต้องรู้จักคุ้นเคยกันไม่ใช่น้อย

          “ที่มาของคุ้มบารมีมาจาก เหรียญคุ้มบารมีซึ่งเป็นเหรียญวัตถุมงคลรุ่นแรก ของหลวงปู่สอ ขันติโก จังหวัดนครพนม ที่ผมจัดสร้าง ไว้เมื่อ 2561 ครับ พอเข้าวงการก็เลยนำเอาชื่อเหรียญมาเป็นคำสร้อยฉายาที่ทุกๆ คนคุ้นเคยติดหู”

         ครูเก่ง คุ้มบารมี เล่าให้ฟังเป็นสิ่งแรก หลังจากที่ถูกถามถึงชื่อฉายา นามแฝง นามปากกา ที่เราชาวแวดวงพระเครื่องมักจะมีไว้ เพื่อสะดวกในการเรียกขานบ่งบอกตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์

          “เดิมทีผมคนเป็นหนองแขม กรุงเทพมหานครครับ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีใน ปี 2553 มีโอกาสได้ สอบคัดเลือกเพื่อบรรจุที่จังหวัดนครพนมตามคู่สมรส จนกระทั่งสอบบรรจุได้ที่โรงเรียนปลาปากราษฎร์บำรุง อ.ปลาปาก จ.นครพนม เมื่อเดือน สิงหาคม 2554 ก็เลยย้ายมาอยู่ที่นครพนม”

          ครูเก่ง คุ้มบารมี เล่าย้อนให้ฟังถึงที่มาที่ทำให้มาอยู่ที่นครพนม ก่อนจะเล่าต่อให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการหันมาสนใจพระเกจิสายอีสาน ทั้งๆ ที่เป็นคนกรุงเทพฯ

           “ก่อนหน้านี้ผมก็เหมือนคนหัวสมัยใหม่ทั่วไปครับที่ไม่รู้จักเกจิรูปใด  แต่เพราะคุณครูที่โรงเรียนที่ย้ายมาชื่นชอบในพระเครื่อง และข้างโรงเรียนมีร้านพระเครื่องตั้งอยู่ พักเที่ยงหรือยามว่างมักจะชวนผมไปดูหรือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเกจิสายอีสานให้ฟังบ่อยๆ โดยเฉพาะหลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ ซึ่งเป็นเกจิชื่อดังในจังหวัดนครพนม ด้วยความที่เราเป็นเขยนครพนมจึงได้เริ่มมีความสนใจศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับหลวงปู่คำพันธ์ โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น ผมศึกษาเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของท่านก่อนครับ จนกระทั่งเกิดความศรัทธาเลื่อมใสแล้วก็กลายมาเป็นความชื่นชอบ จนได้เรียนรู้ศึกษาวิธีดูพระเหรียญหลวงปู่คำพันธ์ จากนั้นก็ตามสเต็ปเซียนพระทั่วไปเลยครับ ศึกษา เช่าหา ซื้อขาย โดยเริ่มจากเหรียญอาร์มพระธาตุมหาชัย หลังพระธาตุพนมเป็นอย่างแรก”

          “จนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2559 ที่นครพนมจัดงานปลุกเสกเหรียญพญาศรีสัตตนาคราช รุ่น 2 หลังพระธาตุพนม ผมได้ไปทำโรงทานที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช มีโอกาสได้เจอ พี่แอ๊ด ธาตุพนม ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยจังหวัดนครพนมในขณะนั้น จึงได้ติดตามเข้าไปกราบหลวงปู่สอ ขันติโก ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่ท่านอายุ 111 ปี แต่กลับยังไม่เป็นที่รู้จักกันสักเท่าไหร่ในสายพระใหม่”

          นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ครูเก่งหันมาสนใจพระเกจิสายอีสาน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เป็นนักสร้างนั้นครูเก่ง เล่าเพิ่มเติมให้ทีมงานพระเครื่องอภินิหารฟังว่า

          “สาเหตุที่ทำให้ผมหันมาสร้างพระใหม่นั้น เพราว่าหลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่นครพนม ก็มีโอกาสเดินสายไหว้พระ ได้เข้าหาพระเกจิสายอีสานหลายรูป ซึ่งหลายๆ รูปที่ผมไปหานั้นมีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสศรัทธากราบไหว้ รวมทั้งอายุเยอะๆ ทั้งนั้น บางรูปเกินร้อยปีแต่ยังแข็งแรงความจำก็แม่น เพียงแต่ไม่มีใครที่จะนำประวัติท่าน หรือแม้แต่สร้างพระเครื่องออกมาเพื่อเผยแพร่บารมีธรรมให้คนทั่วไปได้รู้ ก็เลยมีความคิดที่จะนำเอาประวัติท่านมาเผยแพร่เป็นข้อมูลให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา  โดยสร้างวัตถุมงคลเพื่อดึงคนให้เข้าไปช่วยกันพัฒนาวัด ซึ่งตอนนั้นทางวัดหลวงปู่สอกำลังจะทำการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ แต่ยังขาดปัจจัย ผมจึงเสนอตัวสร้างวัตถุมงคลให้ทางวัด ซึ่งหลวงพ่อและกรรมการวัดก็ไว้วางใจมอบหมายให้ผมได้ทำ เพื่อเรียกสาธุชนให้เดินทางเข้าไปกราบ ไปไหว้ ไปร่วมทำบุญ พร้อมๆ กับเผยแพร่บารมมีธรรมของหลวงปู่ไปด้วย ซึ่งรุ่นแรกที่ทำก็คือเหรียญคุ้มบารมีนั่นล่ะครับ”

          “จากนั้นก็ได้สร้างวัตถุมงคลให้กับหลวงปู่สออีก ประมาณ 3 รุ่น คือเหรียญคุ้มบารมี ล็อกเก็ตเจริญลาภ และพระผงปรกโพธิ์สะดุ้งกลับ จากนั้นก็เริ่มเป็นพระเกจิรูปอื่น เช่น หลวงพ่อทอง ปภากโร สายหลวงปู่หมุน ช่วยท่านสร้างพระเจดีย์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการสร้างกว่าสามล้าน ผมและกลุ่มเพื่อนๆ จึงได้ร่วมกันสร้างพระเพื่อเป็นสะพานบุญให้วัดจนสามารถสร้างพระเจดีย์แล้วเสร็จภายในระยะเวลาปีกว่าๆ ซึ่งวัตถุมงคลของหลวงพ่อทองที่สร้างก็มีประมาณ 16 รุ่น แต่เหรียญที่โด่งดังจนต่างชาติให้ความสนใจก็จะเป็นเหรียญหล่อ รศ.238 เรียกว่าเป็นเหรียญสร้างชื่ออีกรุ่นหนึ่งเลยครับ”

          เรียกได้ว่าจากความศรัทธาก็นำพาให้ครูเก่ง มาสร้างพระเพื่อเป็นสะพานบุญให้ผู้คนหันมาสนใจพระเครื่องสายอีสานมากยิ่งขึ้น จนปัจจุบันมีนักสะสมพระเครื่องทั้งในประเทศนอกประเทศให้ความสนใจกันอย่างมากมาย จึงได้คิดริเริ่มนำพระใหม่เข้าสู่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย เพื่อให้การเล่นหาพระใหม่เป็นมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับ

          “การนำพระใหม่เข้ามาสู่วงการพระนั้น ต้องขอบคุณพี่ธง ท่าพระจันทร์ ที่ชักนำเข้ามา เพราะเห็นว่าหลวงปู่สอที่ผมสร้างกำลังดังเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง จึงชักชวนให้นำพระใหม่เข้าสู่วงการพระ เพื่อให้คนเล่นหามีความเชื่อมั่น และมั่นใจว่าการเล่นพระใหม่นั้นก็มีอนาคต อีกทั้งการนำเข้าสู่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ก็เปรียญเสมือนเป็นการการันตี รองรับว่าพระชุดนี้จะเล่นหากันอย่างถูกหลัก เป็นมาตรฐานสากล ทั้งตอนนี้และในอนาคตครับ”

          “พระชุดแรกที่นำเข้านั้นเริ่มจากการรวมโต๊ะกันก่อน ซึ่งทางผมได้นำเอาเหรียญคุ้มบารมี หลวงปู่สอเข้ามาร่วม ซึ่งตั้งแต่ได้รับความไว้วางใจเป็นคณะกรรมการตัดสินพระเครื่องของสมาคมฯ ซึ่งจากวันนั้นคือปี 61 จนตอนนี้รวมๆ แล้วก็ 4 ปีได้ครับ”

          เมื่อถามถึงการได้นำพระเข้างานประกวดฯ ที่ผ่านการอนุมัติโดยสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยเป็นอย่างไรบ้างนั้น ครูเก่ง ตอบก็ตอบกลับด้วยรอยยิ้มว่า

          “ตั้งแต่เข้ามาในวงการพระ ผมก็มีโอกาสได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการพระเครื่องหลายๆ ท่าน ผมมองว่าการเข้ามาในสมาคมฯ เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้ศึกษาแนวทาง วิธีการคิด รวมถึงการดูพระ จากเซียนดังๆ ที่เก่งๆ หลายท่าน ซึ่งบางอย่างเราสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในชีวิตได้ อย่างเช่น ป๋าต้อย เมืองนนท์ ผมเห็นท่านเดินสายช่วยงานวงการพระเครื่องขึ้นเหนือล่องใต้ตลอดอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไปแต่ละครั้งป๋าต้อยก็จะสนับสนุนช่วยงานประกวด ทั้งบริจาคบ้าง ประมูลพระบ้าง นอกจากนี้ก็ยังช่วยทำนุบำรุงศาสนา บริจาคทรัพย์ถวายเงินสร้างวัดอยู่ตลอด ก็เลยมีความชื่นชมและยึดถือท่านเป็นแบบอย่างว่าเราเองก็อยากจะเป็นกำลังเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนวงการพระสายอีสานให้เป็นที่รู้จัก อยากช่วยให้คนมากมายทั้งในประเทศ ต่างประเทศได้หันมาสนใจพระแถบนี้กันให้มากๆ ครับ เพราะพระดีน่าเลื่อมใส เข้าถึงง่าย กราบไหว้อย่างสนิทใจ แถบอีสานยังมีอีกมาก”

          ด้วยความที่ครูเก่ง คุ้มบารมีอยากให้มีคนรู้จักพระเครื่องแถบอีสาน จึงได้เริ่มจับมือกันกับนักสร้างพระใหม่หลายๆ คนเพื่อ ก่อตั้งเป็นชมรมฯ เพื่อช่วยกันยกระดับพระสายอีสานให้เป็นที่เล่นหาอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งเซียนในต่างแดนถึงกับเช่าหากลับประเทศกันคึกคัก เรื่องนี้ครูเก่งก็ได้เล่าให้ทีมงานพระเครื่องอภินิหารฟังเช่นกัน

          “ตอนนี้ผมและสมัครพรรคพวกหลายคนเล่นพระใหม่สายอีสาน เราเพิ่งรวมตัวกันก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ พระเครื่องพระบูชา อีสานยอดนิยม โดยมีพี่เดี่ยว คุโรซากิ อุบล เป็นประธานชมรมฯ ส่วนผมเป็นรองประธาน”

          “ส่วนจุดมุ่งหมายของทางชมรมเรา ก็เพื่อต้องการจะเผยแพร่บารมีของพระเกจิอาจารย์สายอีสานให้เป็นที่นิยม  ซึ่งตอนนี้ในกลุ่มก็จะมีกลุ่ม  หลวงปู่สอ ขันติโก, หลวงปู่ทอง ปภากโร, หลวงปู่เสาร์ ถาวโร ศิษย์หลวงพ่อมุม, หลวงปู่ทองใบ อัควันโน ศิษย์สายหลวงปู่สรวง แล้วก็มีพระสายพรายขุนแผนทางอุบล ศรีสะเกษ มาร่วมช่วยกันผลักดันวงการพระใหม่ เพื่อให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศเรา แล้วก็ต่างประเทศด้วย”

          นับว่าเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันที่นักสร้างพระใหม่ นักเล่นพระ รวมถึงผู้ที่มีใจรักในพระเครื่องสายอีสาน จับมือร่วมแรงร่วมใจกันอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อสืบสานพระเครื่องสายอีสานให้เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น และก็ได้กระแสตอบรับที่ล้นหลาม ทั้งนี้ก่อนจะจบการสัมภาษณ์พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ครูเก่ง คุ้มบารมี ได้ฝากถึงนักเล่นพระที่ยังลังเลที่จะศึกษาพระใหม่ด้วยว่า

          “ผมอยากให้ลองเปิดใจก่อนครับ พระใหม่บางครั้งไม่ใช่ว่าไม่น่าเล่น มีพระเกจิดีๆ เก่งๆ น่าเลื่อมใส น่ากราบน่าเคารพในอีสานอีกเยอะ ลองเข้ามาดู มาศึกษา ลองเล่นเจาะไปสายหนึ่งสายใดก็ได้ครับ ศรัทธา บารมี และวัตถุประสงค์สร้างบุญ พระใหม่แต่ละรุ่นมีลงชัดเจน  ค่อยๆ ศึกษาจากสายที่ชอบกันได้ครับ พระใหม่ในวันนี้…อนาคตก็คือพระเก่าในวันหน้า”

          สำหรับใครที่สนใจอยากจะศึกษาพระใหม่สายอีสาน สามารถดูรายละเอียดหรือเข้ากลุ่มได้ทางเฟสบุ๊ค ชมรมอนุรักษ์พระเครื่องพระบูชาอีสานยอดนิยม หรือจะติดต่อ เฟสบุ๊ค ครูเก่ง คุ้มบารมี โทร. 099-472-9898 ได้เลยนะคะ

//ภาพ-เรื่อง : ศิริพร แย้มวงษ์

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox