สังคมวงการพระ

22 เม.ย. 65 วันคล้ายวันเกิด ครบ 6 รอบ 72 ปี อ.ต้อย เมืองนนท์

22-%e0%b9%80%e0%b8%a1-%e0%b8%a2-65-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%94-%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%9a

 

          (22 เม.ย. 65) ครบ 6 รอบ 72 ปีแล้ว สำหรับคุณพิศาล เตชะวิภาค หรือ อาจารย์ต้อย เมืองนนท์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย คนที่ 1, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ที่ปรึกษาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 โดยในปีนี้ทาง อ.ต้อย เมืองนนท์ หรือที่วงการมักเรียกติดปากว่า ป๋าต้อย ได้จัดงานวันเกิดแบบเรียบง่ายด้วยการทำบุญแจกข้าวสารมหากุศล จำนวน 500 ชุด ประกอบพิธีบูชาดาวนพเคราะห์ เสริมสิริมงคลดวงชะตา  ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหารเพลเจ พระสงฆ์สามเณรทั้งวัด ณ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ วัดเล่งเน่ยยี่ 2 บางบัวทอง กรุงเทพฯ 

 

 

          โดยในวันนี้มีคนในครอบครัว ญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อนพ้องวงการพระเครื่องมาร่วมกันอย่างอบอุ่น อาทิเช่น คุณพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย, คุณสมภพ ไทยธีระเสถียร (อ.อั้ง เมืองชล) อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย คนที่ 2, คุณวุฒิดนัย ฐิตะกสิกร (วุฒิ ทีโอที) อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย คนที่ 13, พ.ต.ท. ระพิน ชาติไทย อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย คนที่ 14, คุณกชสร พิพัฒนกุล (ปู มรดกไทย) เหรัญญิกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย, คุณจิระพรชัย ใบทอง (หนุ่ม ใบทอง) ประธานกรรมการบริหารสมาคมฯ จังหวัดสุโขทัย, คุณชยุต ธันศรีชัย (ศิลป์ เมืองทอง) ประธานฝ่ายประสานงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด, พ.อ.อ.โกวิท แย้มวงษ์ นายกสมาคมนักข่าวพระบูชาพระเครื่องไทย ประชาสัมพันธ์สมาคมฯ, นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรี นครนนทบุรี, คุณธัญญ์นิธิ ชวรัตน์นิธิโชติ (เช็ง สุพรรณ), คุณต้น เมืองนนท์, คุณเอี้ยง ปู่ยีนส์, คุณเป็ด เมืองนนท์, คุณวันชัย กำแพง, คุณดาม สุพรรณ, คุณเอ๋ บีทาเก้น ฯลฯ

 

——————–
          สำหรับประวัติ คุณพิศาล เตชะวิภาค หรืออาจารย์ต้อย เมืองนนท์ เกิดวันที่ 22 เดือนเมษายน 2493 ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยคนที่ 1 เคยเล่าให้จ่าโกวิท แย้มวงษ์ ฟังว่า ท่านชอบพระมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กอายุประมาณ 7-8 ขวบ เพราะนั่งดูคุณพ่อและเพื่อนๆพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ คุณพ่อและเพื่อนคุณพ่อเป็นข้าราชการจะนำพระกรุต่างๆมาแลกเปลี่ยนกัน กว่าจะแลกกันได้แต่ละองค์นั่งตกลงพูดคุยกันเป็นกลุ่มๆเลย จึงทำให้อาจารย์ต้อยเกิดความรู้สึกว่าได้คลุกคลีกับพระมาตั้งแต่เด็ก คิดและฝังใจมาโดยตลอดว่าพระกรุนี้หายากมาก

          อาจารย์ต้อยได้เริ่มเข้าสนามพระเครื่องตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียนเลยเมื่อประมาณปี 2506 ถึง 2507 ช่วงนั้นอายุประมาณ 13-14 ขวบเท่านั้น พอโรงเรียนเลิกแล้วเพื่อนๆ อ.ต้อยส่วนมาก จะเข้าไปดูหนังกันต่อแต่อาจารย์ต้อยไม่ไปกลับเข้าไปในสนามพระเครื่องแทนเพื่อไปดูพระเครื่องต่างๆ พอได้เห็นก็เกิดความรักและประทับใจจนขอเขาดูบ้าง แอบยืนดูเฉยๆบ้าง แล้วก็มีเพื่อนอยู่กลุ่มหนึ่งเหมือนกันที่ชอบการเล่นพระเครื่องก็จะเอาพระมาดูมาอวดคุยกันแต่เรื่องพระเครื่อง

         ชีวิตที่เริ่มต้นเข้าสู่วงการพระของอาจารย์ต้อยเมืองนนท์นั้นก็เริ่มต้นซื้อเก็บสะสมพระกรุตามคุณพ่อ แต่ที่ซื้อขายเริ่มต้นจากพระวัดปากน้ำ สมัยนั้นองค์ละ 100-200 บาทซื้ออย่างเดียวซื้อเก็บไว้เรื่อยๆจนกระทั่งมีคนมาขอแบ่งให้ราคาองค์ละ 300 บาทก็เลยแบ่งให้ไป อ.ต้อยบอกว่าตอนนั้นรู้สึกมีความภูมิใจและดีใจที่ซื้อเอาไว้แล้วขายออกไปได้กำรี้กำไร

          อาจารย์ต้อยเล่าว่าการเข้าสู่สนามพระเครื่องยุคนั้นต้องมีครูบาอาจารย์ เพราะหนังสือพระเครื่องยังไม่มีมากมายเหมือนยุคสมัยนี้ อาจารย์ต้อยมีครูบาอาจารย์หลายคนที่มอบความรู้ให้ที่พอจำได้ก็คือ อาจารย์ช่วย (เสียชีวิตนานแล้ว) อาจารย์นิกร ธรรมรัตน์ (เสียชีวิตแล้ว) และหลังสุดที่ได้พบได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้เป็นอย่างมากก็คือ อาจารย์ปรีชา ดวงวิชัย อดีตนายกสมาคมพระบูชาพระเครื่องเหรียญศิลปะวัตถุโบราณคนแรกของไทย ท่านเสียชีวิตไปนานแล้วเช่นกัน จริงๆแล้วอาจารย์ต้อยบอกว่ามีอาจารย์นับ 10 คนแต่จำชื่อไม่ได้แล้วเพราะท่านเหล่านั้นเห็นว่าเป็นเด็กหนุ่มเลยถ่ายทอดวิชาให้ด้วยความเมตตา

          ถามว่าในชีวิตจริงชอบพระประเภทไหนอาจารย์ต้อยก็ตอบกลับมาเหมือนเดิมว่า จริงๆแล้วเริ่มต้นจากพระกรุจากการที่ได้คลุกคลีและเห็นคุณพ่อสะสมแลกเปลี่ยนพระกรุอยู่ทุกวี่วัน ได้หยิบได้ดูเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นพระกำแพงทั้งเนื้อดินและเนื้อชิน จึงทำให้ชอบพระกรุและมีความสนใจศึกษาพระกรุจนชำนาญมากที่สุด ตามด้วยพระยอดนิยมเบญจภาคีซึ่งก็มีความชำนาญไม่แพ้กัน ส่วนที่ไม่ค่อยถนัดก็คือเหรียญและพระกริ่งเพราะไม่ค่อยได้คลุกคลีมากนักจึงไม่ค่อยแม่นเหมือนพระกรุและพระชุดเบญจภาคี

          อาจารย์ต้อย เมืองนนท์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ถึง น้องๆรุ่นหลังๆที่จะเข้าสู่วงการพระเครื่องว่า ถ้าต้องการเข้าสู่วงการพระตอนนี้มีศูนย์พระที่เป็นมาตรฐานมีเยอะต้องเข้ามาสัมผัสกับเขา หาคนที่พอจะคุ้นๆมาพูดคุยกันให้เขาช่วยแนะนำ รวมถึงตอนนี้ก็มีสื่อดีๆหนังสือพระนิตยสารต่างๆตอนนี้ใช้ได้หลายเล่มศึกษาก่อนว่าพิมพ์พระที่เราชอบเป็นอย่างไร พิมพ์ทรงอย่างไร เรียกชื่อว่าอะไร ศึกษาให้ดีเสียก่อนและควรมีเวลาศึกษามากพอสมควร

         การเล่นพระอย่าไปเล่นคนเดียวเล่นพระต้องเล่นตามหลักสากล ดูว่าวงการพระเขาเล่นอย่างไรไม่ใช่ว่าเราจะเล่นตามแบบเราชอบอยู่คนเดียว เราต้องดูด้วยว่าพระที่เราชอบนี้เขาเล่นไหมวงการเขาเล่นกันไหม เข้าหลักสากลไหม เขาเล่นกันอย่างนี้ไหม ไม่ใช่ว่าทั่วไปเขาเล่นกันอีกแบบหนึ่งแต่ตัวเองมีอีกแบบหนึ่งก็ว่าของตัวเองดี ขอให้ยึดหลักสากลเอาไว้เป็นการดีที่สุดในการเล่นหาสะสมพระเครื่อง

        นี่ก็เป็นคำแนะนำเล็กๆน้อยๆจากอาจารย์ต้อย เมืองนนท์ รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ที่เคยสัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2543 ซึ่งปัจจุบันเซียนพระรุ่นหลังๆ ได้ยึดท่านเป็นแบบอย่าง หลายคนที่เคยได้ใกล้ชิดท่านต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า อาจารย์ต้อย เมืองนนท์ คือบุคคลต้นแบบในแวดวงพระเครื่องอย่างแท้จริง!

// จุ๋ม ศิริพร 086-392-7594  (ภาพ:ข่าว)

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox