พระเก่าที่น่าเก็บ

มาตรฐานสีผึ้งไทย โดย “เล็ก ลูก้า”

%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%90%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%9c%e0%b8%b6%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2-%e0%b9%82%e0%b8%94%e0%b8%a2-%e0%b9%80%e0%b8%a5

          ขอกราบสวัสดีมิตรรักแฟนสีผึ้งทุกท่าน กระผมเล็ก ลูก้า ในนามประธานชมรมนักนิยมและสะสมสีผึ้งตลับเงินหลวงปู่โป๊ะเขมิโย วัดบ้านบิง ในนามร้านสุดยอดสีผึ้งแดนสยาม และคณะกรรมการโต๊ะประกวดสุดยอดสีผึ้งแดนสยามยอดนิยม งานสมาคมฯ ครั้งนี้เป็นการพบกันเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการด้วยฤกษ์ศุภมงคลที่ดีต่อทั้งกระผมและมิตรรักแฟนสีผึ้งทุกท่านด้วย

          ย้อนหลังกลับไปสิบปีเป็นอย่างน้อย นับครั้งได้ที่เราจะได้พบเจอคอลัมน์ที่เขียนถึงสีผึ้งคณาจารย์แดนสยามโดยตรง น้อยมากจริงๆ นั่นเป็นเพราะความนิยมในการเล่นหาและสะสมสีผึ้งนั้นยังอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้แพร่หลายและเป็นที่นิยมเหมือนพระเครื่อง พระบูชา และเครื่องรางหลักประเภทอื่นๆ


          แต่นับตั้งแต่บัดนี้ ย่างก้าวของนักนิยมและสะสมสีผึ้งอาจไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่เชื่อท่านคอยดู
เอาล่ะ..มาเข้าเรื่องคอลัมภ์มาตรฐานสีผึ้งไทยในตอนแรกกันเลยดีกว่า เนื่องจากกระผมเป็นสายตรงสีผึ้งหลวงปู่โป๊ะ วัดบ้านบิง ที่เติบโตขึ้นมาจากการเล่นหา สะสม และบูชาสีผึ้งของท่านเป็นหลัก เรียกง่ายๆว่ากระผมนั้นยกท่านเป็นบรมครู เป็นต้นแบบเป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิต ผมนับถือท่านจนขนาดที่ว่ายอมทิ้งงานเกือบครึ่งปี มาขลุกอยู่ในพื้นที่แถวๆขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ และได้มาฝากตัวเป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชาเสกสีผึ้งกับอาจารย์อุ่มศรีลาชัย ฆราวาสคู่บุญของท่านอย่างจริงจัง มายกพานครูให้ท่านเสกกระหม่อมอยู่ ๗ วันติดเพื่อให้สถานะของการเป็นศิษย์สืบสายพุทธาคมนั้นครบถ้วนสมบูรณ์
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ผมจึงถือโอกาสอันดีนี้ ขออนุญาตมิตรรักแฟนสีผึ้งทั้งหลาย เพื่อนำความรู้เกี่ยวกับสีผึ้งหลวงปู่โป๊ะวัดบ้านบิง ออกมาเผยแพร่ก่อนเป็นตอนแรกเป็นปฐมฤกษ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวกระผม ครอบครัว และมิตรรักทุกท่านด้วยเลย

ประวัติสีผึ้งหลวงปู่โป๊ะวัดบ้านบิง
          สีผึ้งหลวงปู่โป๊ะเริ่มเป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช 2519 เมื่อหลวงปู่โป๊ะท่านได้รับนิมนต์เพื่อมานั่งปรกในพิธีพุทธาภิเษกพิธีพรหมศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ณ วัดทุ่งเสรีหัวหมาก กรุงเทพมหานคร ร่วมกับเกจิอาจารย์เลื่องชื่อแห่งยุคอย่าง หลวงปู่แหวน สุจินโณ หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี อาจารย์ชุม ไชยคิรี ฯลฯ ซึ่งในครั้งนั้นพระครูปลัดเสนอวัดทุ่งเสรีหัวหมาก (ศิษย์เอกพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์) ผู้เป็นเจ้าพิธีฝ่ายสงฆ์ ได้ทราบถึงความเอกอุทางด้านอาคมสายไทย-เขมรของหลวงปู่โป๊ะวัดบ้านบิงจากพระลูกวัดที่มีถิ่นฐานในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ (คุณตาเตือน คำภา) จึงได้นิมนต์ท่านมาเข้าร่วมพิธีด้วย จึงทำให้ท่านทราบว่าหลวงปู่โป๊ะนั้นไม่ได้เก่งทางด้านคงกระพันชาตรีตามที่ได้รับข้อมูลจากคุณตาเตือน คำภาเพียงเท่านั้น หากยังเป็นพระเกจิที่เก่งมากเรื่องเมตตามหานิยม ถึงขั้นปราบโจรร้ายได้ด้วยคำพูดที่มีมธุรสวาจาเพียงประโยคเดียวเท่านั้น จนเรื่องราวของท่านถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะทางหนังสือพิมพ์รายวันทั่วประเทศ ท่านพระครูปลัดเสนอจึงเอ่ยปากแก่ญาติโยมที่มาทำบุญกับท่านเสมอว่า ถ้าเรื่องสีผึ้งต้องหลวงปู่โป๊ะวัดบ้านบิงเท่านั้นเก่งที่สุด

          หลวงปู่โป๊ะ วัดบ้านบิงท่านสำเร็จวิชาการหุงและเสกสีผึ้งจากหมอเสน่ห์เชื้อสายไทย-กัมพูชาในย่านขุขันธ์ ซึ่งเป็นวิชาหุงสีผึ้งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพกาล และมีระบุอยู่ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งก่อตั้งเมืองขุขันธ์ในอดีตด้วย สีผึ้งของหลวงปู่โป๊ะนั้นมีความแปลกและพิศดารกว่าสีผึ้งใดๆในสยามประเทศ เพราะสีผึ้งของท่านนั้นมีดวงจิตทิพย์สถิตอยู่ทุกตลับที่ท่านประสิทธิ์ให้เป็นรายบุคคล มีฤทธิ์ขนาดช่วยว่าคดีความได้ บันดาลให้ชาวบ้านธรรมดาๆกลายเป็นคหบดี กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งในแวดวงการเมือง และวงการบันเทิงได้ จนมีตัวอย่างให้เห็นมากมายจนถึงปัจจุบัน

          สีผึ้งที่สร้างขึ้นอย่างเป็นทางการ คือ สีผึ้งตลับรุ่นแรก มีขนาดทรงกลมขนาดเท่าเหรียญ ๕๐ สตางค์ ผู้คนจึงเรียกสีผึ้งตลับรุ่นแรกนี้ว่า ตลับ ๕๐ ตังค์ โดยเริ่มจัดสร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2520 เป็นครั้งแรก หลังจากที่หลวงปู่ท่านเดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร และมีผู้เลื่อมใสศรัทธาท่านเดินทางตามมากราบนมัสการท่านถึงศรีสะเกษเป็นจำนวนมาก เพื่อมาขอสีผึ้งท่านไปบูชา ท่านจึงมีดำริให้ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาท่านไปหาตลับเงิน-ตลับทองคำมาใส่สีผึ้งเอาไปบูชา แต่ด้วยความที่มีญาติโยมศรัทธาท่านมาก เดินทางมาจากจังหวัดไกลๆไม่สะดวกที่จะหาซื้อหรือสั่งช่างทำตลับเงิน-ตลับทองคำ ท่านจึงมีดำริให้ช่างหล่อเงินและร้านขายทองจำนวนหนึ่งในอำเภอขุขันธ์และศรีสะเกษ เตรียมทำตลับเงินตลับทองคำเพื่อเอาไว้บริการแก่ญาติโยมที่เดินทางมาไกลๆในราคาที่เป็นธรรม จึงเกิดเป็นตลับรุ่นแรกหรือที่เรียกว่าตลับ ๕๐ สตางค์นี้ขึ้นเป็นครั้งแรก
สีผึ้งที่บรรจุในตลับสีผึ้งรุ่นแรกนั้น มีอยู่สองชนิด หนึ่งคือ สีผึ้งเนื้อโพราด อีกหนึ่งคือเนื้อสีผึ้งผีหุง ซึ่งตำราและเคล็ดวิชาการใช้สีผึ้งทั้งสองชนิดนั้นจะได้กล่าวให้ทราบในโอกาสต่อไป ในบรรดาตลับรุ่นแรกนั้น มีตลับสีผึ้งอยู่ประเภทหนึ่งมีสนนราคาค่านิยมแพงที่สุดคือตลับที่บรรจุสีผึ้งผีหุงและฝังสัมฤทธิ์อาถรรพ์ยันต์ค้ำดวง เป็นยันต์ดวงชนิดเดียวกันกับที่อุดก้นพระปิดตาหัวจรวดของหลวงพ่อคูณปริสุทโธ ซึ่งว่ากันว่าหลวงปู่โป๊ะท่านลงคาถาพระภิเภกกำกับเอาไว้ ผู้ใดที่ครอบครองสีผึ้งชนิดนี้นั้น จะไม่มีวันตกต่ำไม่ว่าจะอยู่ในกลียุคใดๆก็ตาม ผู้ครอบครองก็จะยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงมั่งคั่งอยู่เสมอ จนผู้คนต่างพากันสรรเสริญสีผึ้งของท่านว่า “สีผึ้งพลิกชีวิต” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในส่วนของสีผึ้งที่หลวงปู่โป๊ะวัดบ้านบิงท่านได้หุงเอาไว้มีด้วยกันอยู่ ๕ ชนิด

๑.สีผึ้งเสน่ห์จันทร์
          สีผึ้งชนิดนี้เป็นสีผึ้งชนิดแรกที่ท่านได้ร่วมกับอาจารย์เลื่องชื่อแห่งยุคในตลาดขุขันธ์ คือ อาจารย์อุ่ม ศรีลาชัย อาจารย์ทั้งสองได้ร่วมกันหามวลสาร กำหนดฤกษ์ยาม และหุงตามพิธีที่สิบทอดกันมา ซึ่งการหุงนั้นจะต้องหุง ณ ทางสามแพร่งใกล้ป่าช้า หรือ ในป่าช้า เป็นสำคัญ กำหนดให้ใช้ถ่านผีเผาเอาผีหุง ผีที่ตายโหงวันเสาร์เผาอังคารมาเป็นเชื้อฟืนเท่านั้น เจ้าพิธีต้องเซ่นไหว้ให้ครบถ้วนทั้งนายป่าช้าและผีตายโหงเจ้าของเชื้อฟืนนั้น เมื่อพิธีเริ่มสีผึ้งหม้อนั้นจะเริ่มกวนโดยเจ้าพิธีพร้อมบริกรรมคาถาไปจนครบวาระ เมื่อครบวาระแล้วเจ้าพิธีต้องวางมือลงปล่อยไม้กวนสีผึ้งให้ดำเนินต่อไปเองไปเรื่อยๆโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องจึงจะถือว่า เจ้าของวิญญานผีตายโหงตนนั้นได้เข้าพิธีมานั่งกวนเองแล้วจนจบพิธี ทั้งเจ้าพิธีและผู้ร่วมพิธีต้องเดินออกจากพิธีทันที และห้ามหันกลับมามองหม้อสีผึ้งนั้นอีกเป็นอันขาด


          จนกระทั่งพ้นยามสองไปแล้ว จึงให้ผู้อื่นที่มีอาคมขลังเช่นเดียวกับเจ้าพิธีและไม่ได้ร่วมพิธีหุงตอนต้น เป็นผู้ไปกู้สีผึ้งกลับมา จึงจะนำมาให้หลวงปู่โป๊ะและอาจารย์อุ่มเสกต่อจนเต็ม จึงจะใช้การได้ สีผึ้งชนิดนี้มีมนต์ขลังมากเป็นพิเศษและจะเอ่อล้นมายามกระทบแสงจันทร์อย่างน่าประหลาด วรรณะของสีผึ้งจะมีสีเหลืองเข้มสุกคล้ายสีของพระจันทร์เมื่อยามเต็มดวง
คุณวิเศษของสีผึ้งชนิดนี้ : เป็นสุดยอดเครื่องรางเมตตามหานิยม ทำมาค้าขายร่ำรวยเจริญรุ่งเรือง ผู้บูชามักเป็นที่รักของบุคคลทั่วไปเป็นชายต้องใจหญิง เป็นหญิงต้องใจชาย มีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น ทั้งยัง แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นที่รักใคร่แก่เหล่าเทพเทวดาอีกด้วย

๒. สีผึ้งโพราด
          สีผึ้งชนิดนี้มีวิธีการสร้างที่ยุ่งยากและเป็นสีผึ้งหายากของหลวงปู่โป๊ะวัดบ้านบิง เนื่องจากมวลสารนั้นต้องครบตามตำรา ซึ่งเท่าที่ข้อมูลจะหาได้ เข้าใจว่าท่านหุงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และน้อยคนจะได้ครอบครอง กล่าวคือ สีผึ้งชนิดนี้ต้องใช้เมล็ดงาที่หว่านลงบริเวณใต้เชิงตะกอนเผาผีและเอาขี้เถ้ากลบปล่อยทิ้งไว้ จนงานั้นงอกขึ้นมาเองตามธรรมชาติจึงจะถือว่าใช้ได้ เอาเมล็ดงานั้นมาคั่วสุกแบบบีบเอาน้ำ จะได้น้ำมันงาเชิงตะกอนออกสีน้ำตาลแดง คนคุมงานคั่วงาเชิงตะกอนนั้นจะต้องเป็นแม่หม้ายกินผัวเท่านั้น ยิ่งกินเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี โดยผู้ที่ตำงาคั่วงาจะต้องเป็นเด็กสาวพรหมจรรย์ไม่เคยผ่านผัวมาก่อน มานั่งตำงาคั่วงา พูดจาหัวร่อต่อกระซิก พูดแต่เรื่องความรักหนุ่มสาว โดยมีแม่หม้ายเป็นคนชักจูงในเรื่องโลกีย์ จะได้น้ำมันงาเชิงตะกอนมากหรือน้อยไม่สำคัญ สำคัญต้องครบตามหลักเกณฑ์นี้อันเป็นเคล็ดวิชาเสน่ห์แต่ฝ่ายหญิง ส่วนเสน่ห์ฝ่ายชายนั้นหลวงปู่โป๊ะท่านใช้น้ำมันแต่งผมชายโพราดเนื้อครีมสีส้มเป็นเคล็ดเสน่ห์ฝ่ายชาย ท่านเสกคาถามหาเสน่ห์ลงไปในตลับครีมแต่งผมเป็นพรรษากว่าจะใช้ได้ผล ทั้งเสน่ห์ฝ่ายและฝ่ายชายเมื่อพร้อมกันจึงจะเริ่มทำการหุงได้ โดยใช้พิธีกรรมเดียวกันกับการหุงสีผึ้งเสน่ห์จันทร์แต่มวลสารต่างกัน ว่ากันว่าต้องทิ้งไว้จนเที่ยงวัน ถ้ากบไม่ร้องไม่ต้องไปเอา สีผึ้งชนิดนี้จึงเป็นสีผึ้งที่หายากมากในสายหลวงปู่โป๊ะวัดบ้านบิง ส่วนใหญ่จะบรรจุอยู่ในตลับสีผึ้ง ๕๐ สตางค์ และท่านจะใส่ให้เฉพาะบางคนเท่านั้น สีผึ้งชนิดนี้พุทธคุณนั้นครอบจักรวาล เป็นสีผึ้งที่ใช้สู้คดีความก็ได้ เป็นสีผึ้ง
ให้นักการเมืองท้องถิ่นไปจนนักการเมืองระดับประเทศใช้ในการแข่งขันในการลงรับเลือกตั้งสำเร็จทุกราย ใช้ทวงหนี้ก็สำเร็จ แม้กระทั่งใช้ในทางเสน่ห์ก็สมหวังทุกคนไป

๓. สีผึ้งสาลิกา
          สีผึ้งชนิดนี้มีวรรณะสีน้ำตาลสวยงาม เป็นสีผึ้งในตำรามณีจินดา ซึ่งมีแต่ของมงคลชั้นสูงที่ใช้เป็นมวลสารของสีผึ้งชนิดนี้ สีผึ้งชนิดนี้ต้องหุงในพระอุโบสถเท่านั้น ไม่สามารถหุงที่อื่นได้ต้องมีพัทธสีมาเท่านั้น มวลสารแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่เป็นมงคล ทั้งขี้ผึ้งจากผึ้งร้างรัง ทองคำเปลวจากอกพระประธาน ๗ โบสถ์ ทองคำเปลวจากศาลหลักเมือง ๗ หลักเมือง น้ำตาเทียนจากศาลหลักเมือง ๗ หลักเมือง เปลือกไม้มงคลจาก ๗ แห่ง ว่านเสน่ห์ ๑๐๘ อีกสารพัดของมงคลที่ไม่อาจเปิดเผยได้ การหุงการเสกต้องทำในส่วนของพระให้เสร็จสรรพก่อนจึงส่งต่อสีผึ้งให้อาจารย์ฆราวาสอาคมสูงเสกในส่วนเสน่ห์ทางโลก หลวงปู่โป๊ะท่านจะเชิญพระเกจิสายเมตตา มาเสกซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ ทั้งหลวงปู่เจียม วัดบ้านกะมอล หลวงปู่สรวงเทวดาเล่นดิน หลวงพ่อคูณวัดโคกโพน และอาจารย์ฆราวาสมากมายเสกเป็นพรรษา จึงนำออกให้ญาติโยมนำไปใช้ สีผึ้งชนิดนี้ว่ากันว่ามีเทวดาอารักษ์ เจรจาพาที แข่งขันชิงชัยใดๆล้วนประสบความสำเร็จ ชีวิตผู้ครอบครองบูชาเต็มไปด้วยความสุขสำราญ บริหารเสน่ห์ให้เป็นเท่านั้นเป็นพอ พ่อค้า ข้าราชการ ชอบนักสีผึ้งชนิดนี้

๔.สีผึ้งเมียมาก
          สีผึ้งชนิดนี้คือสีผึ้งเสน่ห์จันทร์ที่เพิ่มมวลสารว่านเสน่ห์ที่อาจารย์กอบชัยท่านนำมาให้หลวงปู่โป๊ะเลี้ยงไว้ที่หน้ากุฏิท่านหลายชนิด(ปัจจุบันที่กุฏิท่านไม่มีแล้ว) เพื่อใช้หุงสีผึ้งโดยเฉพาะ ว่านเหล่านี้มีชื่อไทยว่า รักนิรันดร์ ตามคำแปลมาจากภาษาเขมร ส่วนชื่อในภาษาเขมรครูบาอาจารย์ท่านให้ปิดไว้ วิธีการใช้ว่านชนิดนี้ก็ไม่เหมือนกับการใช้ว่านชนิดอื่นท่านให้ใช้ว่านสด ไม่ได้ตากแห้งแล้วบดเป็นผงใส่ลงไปเหมือนตำราอื่น ท่านว่าต้องการยางของว่านให้ผสมลงไปในเนื้อสีผึ้ง เนื้อสีผึ้งชนิดนี้จึงมีวรรณะเหลืองอมเขียว ไม่เหมือนสีผึ้งเสน่ห์จันทร์แต่ดั้งเดิม เรื่องคุณวิเศษนั้นไม่ต้องบอก เรื่องเสน่ห์โลกีย์นั้นเป็นที่หนึ่ง ข้าพเจ้าเคยสัมผัสมาแล้วในหลายกรณี แต่ที่เป็นกรณีศึกษาคือกรณีของหมอนวดชาวบ้านชื่อนางแก้ว ชาวสุรินทร์ ที่นำสีผึ้งชนิดนี้ไปใช้แล้วเกิดพลิกฟื้นธุรกิจนวดแผนไทยจนมีผู้คนแห่จองคิวนวดกันข้ามเดือนข้ามปี ว่ากันว่า นางแก้วใช้เนื้อสีผึ้งชนิดนี้ปะปนไปกับยานวดที่ใช้ประจำในร้าน ลูกค้าจึงเข้ามาใช้บริการกันมากมายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ และเป็นที่ร่ำลือถึงคุณวิเศษของสีผึ้งชนิดนี้

๕.สีผึ้งปรกพล
          ผึ้งปรกพลนี้เป็นสีผึ้งตําราเก่าแก่มาตั้งแต่โบราณ มีประวัติอยู่คู่เมืองขุขันธ์มาแต่อดีต ตามประวัติกล่าวเอาไว้ว่า ท่านพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ 9 เมื่อครั้งไปปราบเชียงยงค์(เสือยงค์) เมื่อ๑๐๐ก่วาปีก่อนผู้เฒ่าผู้แก่ที่เกิดทันได้เล่าให้ฟังว่าเสือยงค์นั้นเป็นผู้มีวิชาอาคมสูง ตัวเจ้าเมืองศรีสะเกษปราบไม่ได้ เจ้าเมืองสุรินทร์ก็ปราบไม่ได้ ท่านพระยาขุขันธ์ต้องไปปราบเอง ก่อนออกเดินทางท่านได้ผูกเครื่องรางสำคัญที่คอช้างคือสีผึ้งปรกพล ทั้งสองฝ่ายขี่ช้างยิงกัน กระสุนจากปืนคาบศิลาของเสือยงค์ยิงมาเท่าไหร่ก็ไม่ถูก ไม่โดนแม้กระทั่งช้างเชือกใหญ่ที่พระยาขุขันธ์นั่ง สุดท้ายเสือยงค์ถูกพระยาขุขันธ์ยิงตายด้วยปืนคาบศิลาในการต่อสู้กันในครั้งนั้น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติท่าน วัดกลางขุขันธ์ได้ปั้นรูปพระยาขุขันธ์นั่งบนคอช้างผูกเครื่องรางสีผึ้งปรกพลเอาไว้ที่คอช้างตั้งอยู่ที่หน้าพระอุโบสถจนถึงปัจจุบัน ที่อําเภอขุขันธ์ได้มีการสืบทอดวิชานี้ต่อกันมาหลายรุ่น เท่าที่ปรากฏชัดเจน คือ พระหลักคำอุด วัดสะอาง (เจ้าคณะจังหวัดขุขันธ์) และ หลวงปู่เสา วัดกุดเวียน จน หลวงปู่สาย วัดตะเคียนราม และ หลวงปู่โป๊ะเขมิโย ท่านได้สืบทอดวิชานี้ต่อมาและได้ส่งต่อมายัง หลวงพ่อทองดีวัดกระต่ายดอน อ.ปรางค์กู่ และคุณนพคุณ ศรีสุภาพ อ.ขุขันธ์ จนถึงปัจจุบัน

          สีผึ้งปรกพลนี้เป็นวิชาชั้นสูงที่ครูบาอาจารย์ไม่ยอมถ่ายทอดให้ใครโดยง่ายถ้าไม่ใช่สายโลหิตหรือศิษย์สืบสายพุทธาคม ด้วยสีผึ้งปรกพลนี้มีอิทธิฤทธิ์คุ้มกันไพร่พลและบริวารได้ถึง ๑๒๐ คน ที่อยู่ในอาณาบริเวณจึงเป็นสีผึ้งที่แม่ทัพนายกองและเจ้าเมืองในอดีตมักอัญเชิญคุ้มครองตนเองและบริวารเสมอ แม้นในยามศึกสงครามก็จะอัญเชิญสีผึ้งชนิดนี้เป็นเครื่องมงคลหลักประจำกองทัพและอัญเชิญอีกหนึ่งตลับไว้ติดเรือนชาน เกิดข้าศึกมาแบ่งกองทัพมาหลายสายก็มิอาจเห็นบ้านเรือนและลูกเมียตลอดจนทั้งบริวารของเหล่าทหารกล้าได้

          ทั้งนี้ตำราสีผึ้งปรกพลนั้นเป็นของชาวขอมโบราณที่มีประวัติอันยิ่งใหญ่สืบต่อมาเป็นพันปีแล้ว เดิมทีจังหวัดศรีสะเกษนั้นเป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยขอม แต่ต่อมาขอมได้เสื่อมอำนาจลงในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงอพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวาประมาณปีพ.ศ. 2256 และได้มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโคกลำดวนในปี พ.ศ. 2306 สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้โปรดเกล้าฯยกบ้านโคกลำดวนหรือบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนขึ้นเป็นเมือง และโปรดเกล้าฯให้ตากะจะ หรือหลวงแก้วสุวรรณ หรือ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน อันเป็นต้นตระกูลเจ้าเมืองคนที่ 1 ต่อมาเมืองนี้ได้ชื่อว่า “เมืองขุขันธ์” พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เดิมชื่อว่า ตากะจะ หรือตาไกร เป็นหัวหน้าชาวเขมรป่าดงบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน พ.ศ.2302 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา พญาช้างเผือกมงคลแตกโรงหนีเข้าป่า ไปรวมอยู่กับโขลงช้างป่าในเทือกเขาพนมดงรัก ตากะจะหรือตาไกร และเชียงขัน พร้อมด้วยหัวหน้าชาวเขมรป่าดง รับอาสาตามจับพญาช้างเผือกได้และตามคณะนำส่งถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยความชอบในครั้งนี้จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ ตากะจะหรือตาไกร เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ตำแหน่งหัวหน้านายกองปกครองหมู่บ้าน และท่านได้สร้างความดีความชอบมาโดยตลอดและมีครั้งหนึ่งท่านได้จัดส่งเครื่องบรรณาการถวายพระเจ้าเอกทัศน์ที่กรุงศรีอยุธยาจนเป็นที่พอพระทัยเป็นอย่างมาก ได้รับความดีความชอบจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนในที่สุด ของบรรณาการที่ทางตากะจะจัดส่งไปถวายนั้นมีสีผึ้งปรกพลเป็นของมงคลสำคัญรวมอยู่ในเครื่องบรรณาการนั้นด้วยเช่นกัน

คาถาบูชาหลวงปู่โป๊ะวัดบ้านบิง
(ตั้งนะโม ๓ จบ) โอม ปิยะเขมิโย เมตตาคุณณัง อะระหังเมตตา นะชาลีติ พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ
คาถาบูชาสีผึ้งหลวงปู่โป๊ะวัดบ้านบิง

โอม สะแหนะ มหา สะแหนะ เจิ่งหลาย สะแหนะจันทร์ สะแหนะมนต์ สะแหนะเมี๊ยะ
สะแหนะเมิ๊งเทิงประเจี๊ยะ สะแหนะเมี๊ยะ เปี๊ยก เอน เอน เปี๊ยก โกม สะเหนะยมบ่อฮาว
โอม สะแหนะเจ้า สะแหนะเหย มัวจุ่มอันเจย สะแหนะตู๊ยยย
อันตุมเปงกะมอมบานเจย สะแหนะโธม โอยมัวรัวอายเจี๊ยะ ครูบาเจื้อย เอหิ มาบีมา ออมสะหอมสิทธิ์ (๗ จบ)

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox