โดย… อ.สมาน คลองสาม
พระวัดพลับ หรือชื่อว่าตามที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “วัดราชสิทธาราม” นั้นเป็นพระเนื้อผงที่บรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องต่างรู้จักและยอมรับกันมานาน เป็นสุดยอดพระเนื้อผงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่หลายท่านให้ความเห็นว่ามีสูตรเนื้อหาใกล้เคียงกับพระสมเด็จมากที่สุด
พระวัดพลับนั้นได้รับความนิยมอย่างสูง จัดเป็นหนึ่งในสุดยอดตระกูลพระเนื้อผงของเมืองไทย ซึ่งตามคำบอกเล่าสืบทอดต่อกันมา กล่าวว่าพระวัดพลับมีการสร้างขึ้นประมาณปีพ.ศ. 2380 (สมัย ร .3) โดยพระทั้งหมดผู้สร้างได้แจกญาติโยมไปบ้างเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ได้บรรจุกรุไว้ในเจดีย์ข้างพระอุโบสถ ต่อมาปี พ.ศ. 2470 พระวัดพลับที่บรรจุในเจดีย์ดังกล่าวได้แตกกรุออกมาจำนวนมากมาย ซึ่งนักสะสมได้จำแนกแยกย่อยเป็นพิมพ์ต่างๆได้ถึง 8 พิมพ์ด้วยกัน คือ 1.พิมพ์ยืนถือดอกบัว 2.พิมพ์ตุ๊กตาทรงชลูด 3.พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่-ต้อ 4.พิมพ์สมาธิใหญ่-เล็ก 5.พิมพ์เข่ากว้างใหญ่-เล็ก 6.พิมพ์พุงป่องใหญ่-เล็ก 7.พิมพ์ปิดตา 8.พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก 2 หน้าหรือที่นักสะสมพระชุดเล็กเรียกว่าพิมพ์ไข่จิ้งจก
พระวัดพลับเป็นพระเนื้อผงสร้างจากเนื้อผงพุทธคุณผสมเกสรดอกไม้และมวลสาร อื่นๆที่เป็นมงคล พร้อมด้วยผงปูนเปลือกหอยบดละเอียดผสมกับน้ำมันตังอิ๊วพอหมาด และหยิบมาปั้นแปะกับแม่พิมพ์แล้วกด ลักษณะเป็นหลังเบี้ยโค้งนูนเล็กน้อย
ดูตามลักษณะการกดพระลงในพิมพ์วัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์น่าจะแกะจากหินลับมีดโกนในสมัยนั้น เพราะหินมีดโกนที่เหลือจากการใช้ตามวัดในสมัยก่อนเหลือกองไว้มากมาย จึงน่าจะนำมาใช้แกะแม่พิมพ์ของพระดังกล่าว
พระวัดพลับนั้นบางท่านว่าสร้างโดยพระภิกษุชาวมอญชื่อหลวงตาจัน แต่ในความคิดของผู้เขียนคิดว่าหลวงตาจันนั้นคงได้แค่แกะแม่พิมพ์ แล้วนำมาถวายให้กับเจ้าอาวาสชื่อสุกในสมัยนั้น ภายหลังเจ้าอาวาสสุกได้ย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุและได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในเวลาต่อมา
สมเด็จพระสังฆราชท่านนี้เป็นผู้มีวิชาอาคมเข้มขลัง ถึงขนาดเสกข้าวก้นบาตรแล้วโปรยให้ไก่ป่าและนกที่ปราดเปรียวให้เชื่อง ถึงขนาดบินมาจิกข้าวในมือของท่านด้วยความมหัศจรรย์ยิ่งนัก จนชาวบ้านขนานนามท่านว่าสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน
จากชื่อเสียงและคำร่ำลือในความเมตตาของท่านรู้ถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ท่านจึงได้มาฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาวิชาการทำผงอิทธิเจ ผงพุทธคุณ พร้อมส่วนผสมของเนื้อพระ ฉะนั้นในความคิดของผู้เขียนและเหตุผลที่ได้ฟังคำบอกเล่ามาติดต่อกัน พระวัดพลับต้องเป็นการสร้างของสมเด็จพระสังฆราชสุกอย่างแน่นอน
จุดสังเกตและแนวทางการพิจารณาเอกลักษณ์พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิใหญ่
1. พระพักตร์เป็นรูปวงรีคล้ายไข่
2. พระกรรณทางด้านขวามือเราจะใหญ่และแบนสวยงามในขณะที่ทางด้านซ้ายเราจะเล็กและสั้นกว่าด้านขวา
3. พระศอหรือคอกลมกว่าทุกพิมพ์ของพระวัดพลับ
4. มีเนื้อเกินบนฝ่าพระบาท (พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิใหญ่ทุกองค์ต้องมี)
5. แขนด้านขวามือเราจะทอดลงมาและต่ำลงมาติดกับแขนด้านซ้ายมือเรา
6. บริเวณข้อศอกซ้ายมือจะมีเนื้อเกินเป็นตุ่มแหลมเหมือนข้อศอก
7. ถ้าพระองค์ใดกดได้เต็มพิมพ์จะมีเส้นด้านข้างทุกองค์
8. พื้นผิวขององค์พระจะเป็นรอยเหนอะคล้ายตัวหนอน