เปิดเกร็ดชีวิตคนดังวงการพระ…ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย…ที่คนรุ่นใหม่ควรอ่าน!!
หากพูดถึงงานประกวดพระฯ อีกหนึ่งขุมกำลังของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ที่คอยช่วยเหลืองานประกวดพระอยู่ตลอดแทบไม่ขาด ไม่ว่าจะงานเล็กงานใหญ่พี่คนนี้ต้องเข้าไปช่วยอยู่เสมอ บุคคลดัง!! ที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้นั้นก็…คือ
ปัญญวัฒน์ นิ่มสง่า (อาท เมืองน่าน)
รองผู้ช่วยเลขานุการ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
✍จุดเริ่มต้นในการสนใจพระเครื่อง
จุดเริ่มต้นของผมเริ่มตั้งแต่เด็กๆ เลย คือ คุณพ่อชอบสะสมพระเครื่อง ผมมักจะติดสอยห้อยตามคุณพ่อไปด้วย สนามพระท่าพระจันทร์ วัดมหาธาตุ วัดราชนัดดา นี่ไปประจำ เจอนักเล่นพระรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับคุณพ่อเป็นประจำ เช่น ลุงปรีชา ดวงวิชัย, คุณสนาน กฤษณะเศรณี, ลุงจุ้ง, ตัง ชลบุรี, ลุงพล ที่อยู่ริมแม่น้ำท่าพระจันทร์ (พ่อเจ๊ติ๋ม ท่าพระจันทร์) ฯลฯ เคยมีโอกาสตามคุณพ่อไปประกวดพระครั้งแรกในชีวิตตั้งแต่เด็กๆ ช่วงปี2524 ที่สวนอัมพร สมัยนั้นเวลาพระได้รางวัลที่ 1-4 จะใช้โบว์ที่สมัยนี้เราใช้เป็นโบว์ผู้ติดตาม ติดหมายเลข 1-4 แล้ววางคู่พระ สำหรับพระที่ได้รับรางวัล สมัยก่อนนานทีปีหนจะมีงานประกวด เพราะกว่าจะจัดได้งานๆ หนึ่งยากครับ
จนปี 2528 คุณพ่อซึ่งเป็นทหารก็ย้ายมาปราบคอมมิวนิสต์ที่ จ.น่าน ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างมาก เพราะผมเกิดที่ กทม. ที่โรงพยาบาลรามา บ้านพักก็อยู่บ้านหลวง แถวซอยวัดน้อยนพคุณ ไม่เคยไปไหนเลย จังหวัดน่านก็ไม่เคยไปไม่รู้จักว่าอยู่ไหน แต่ก็ต้องย้ายตามคุณพ่อมาในช่วงเรียนประถมปลาย ช่วงนั้นคุณพ่อกับผมห่างพระไปไม่ได้จับเลย ราว 2 ปี จนประมาณ ปี 2530 คุณพ่อเดินผ่านแผงพระเล็กๆ ที่น่านและได้ซื้อพระปิดตาเขาควายแกะองค์เขื่องมาองค์หนึ่ง ไม่รู้ที่ในราคา 50 บาท และด้วยความที่คุณพ่อกับผมอยากหาวัดพระปิดตาองค์นี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลับเข้ามาเล่นพระอีกครั้ง โดยไปตามแผงต่างๆ ที่จังหวัดน่าน เพื่อหาที่พระปิดตาองค์นี้ แต่ก็ไม่มีใครทราบ
จนกระทั่งมาพบเซียนพระภูธรท่านหนึ่ง ที่เดินทางมาเปิดแผงพระที่น่านและที่ต่างๆ เรียกว่าเกือบจะทั่วประเทศในสมัยนั้น บอกผู้สร้างพระปิดตาได้ถูกต้อง ซึ่งก็คือ พระปิดตาเขาควายเผือก หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก ระยอง ปัจจุบันพระองค์นี้ผมก็ยังเก็บไว้ เคยส่งประกวดติดรางวัลที่ 1 ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปี 2540 ได้รางวัลที่ 1 ทุกงาน หลายสิบงานจึงเลิกส่ง ส่วนเซียนพระท่านนั้นคือ คุณสมพร จงจิตรวิมล หรือ คุณชุ้ง สำโรง หรือ คุณชุ้ง รอบโลก นั่นเอง และอาชุ้ง สำโรงนี้นับเป็นครูคนที่สองของผม ที่สอนผมเล่นพระมา สำหรับครูท่านแรกนั้นเป็นเซียนท้องถิ่น ชื่อคุณสมครับ
คุณพ่อผมมักมาประชุมที่กองทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลก ประจำ ผมจึงติดรถมาทุกครั้ง และที่จะขาดไม่ได้คือ ไปเดินแผงพระริมน้ำ ช่วงนั้นผมได้พบกับผู้ที่เป็นอาจารย์คนที่ 3 ในชีวิต ที่สั่งสอนอบรมวิชาการดูพระให้ผม ซึ่งปัจจุบันคือ ร.ต.ต.ดร.สุรเชษฐ์ เชื้อศรี อาเชษฐ์สอนผมดูจนผมไปฟลุ๊คซื้อพระลีลากำแพงขาวเลี่ยมเงินเก่าที่แผงริมน้ำพิษณุโลกในราคา 300 บาท ส่งประกวดติดรางวัลและขายไปสมัยนั้น 13,000 บาท จนเก็บตังซื้อมอเตอร์ไซค์ขี่ไปโรงเรียนตั้งแต่ ม.ต้น ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์ทั้งสามภูมิใจผมมาก พูดและจำกันมาถึงทุกวันนี้
จนช่วงปี 2532 แผงพระติดแอร์ครั้งแรกของวงการเกิดขึ้นที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่าประตูน้ำ ช่วงนั้นการประกวดพระเริ่มบูมมาก มีแทบทุกอาทิตย์ ผมกับคุณพ่อมาเกือบทุกอาทิตย์ถ้าไม่ติดอะไร ถ้าว่างหน่อยก็มาวันศุกร์ ไม่ว่างก็มาเย็นวันเสาร์ ถึงเช้าวันอาทิตย์เข้างาน ประกวดพระเสร็จก็นั่งรถกลับน่าน ถึงเช้าวันจันทร์อาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียนต่อ ชอบการประกวดเป็นชีวิตจิตใจ ชอบเก็บเงินซื้อพระสวยๆ ซึ่งสมัยนั้นพระไม่แพง วัฏจักรชีวิตเป็นแบบนี้จนจบ ม.6 และเข้ามาเรียนรามที่ กทม. จึงเรียกว่าเข้ามาเล่นพระเต็มตัว โดยผมขอเงินทางบ้านเพียง 4 เดือนแรกเท่านั้น หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยรบกวนเงินเรื่องค่าเรียนทางบ้านอีกเลย ผมไปทุกงานประกวด ซื้อเองขายเองจนจบการศึกษา ทำงานหลายอย่าง แต่ก็ไม่เคยทิ้งพระเครื่องเพราะต้องใช้เงินจากพระไปหล่อเลี้ยงงานอื่นที่ทำ
✍เหตุที่มาอยู่ที่บ้าน ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
ตามที่เรียนแล้วว่าผมไปซื้อขายพระเกือบทุกสนาม ไปทุกงานประกวดรู้จักคนพอสมควร มีทหารที่เป็นลูกน้องคุณพ่อหลายคนมาเปิดแผงที่ห้างบางลำพู งามวงศ์วาน ชั้น 4 ซึ่งบริหารงานโดยหม่อมฐิติสาร สุริยง ปัจจุบันคือ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน นี่เอง ต่อมาก็มีชมรมพระเครื่องมรดกไทย ชั้น 3 พอมาปี 42 มีการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฯ ขึ้นมา ผมมีโอกาสรู้จักกับ พี่นี สะพานใหม่, พี่แป๋ว มรดกไทย ได้ช่วยงานพี่ทั้งสองมาตั้งแต่ปลายปี 42 โดยพี่นีและพี่แป๋วก็เมตตาสอนงานจากที่ไม่เป็นอะไรเลย จนพูดได้ว่าเป็นทั้งผู้มีพระคุณ เป็นครูผู้สอนงาน เป็นพี่ เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้คอยประคับประคองผมมาตลอด ผมก็อยู่บ้านหลังนี้มากับพี่ทั้งสองมาตั้งแต่นั้นมา ในฐานะเจ้าหน้าที่สมาคมฯ และกรรมการรับ-ตัดสินพระเนื้อดิน
จนกระทั่งผมได้รับเมตตาและความไว้วางใจจากสมาคมฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารสมาคมฯ ในตำแหน่งรองผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมาก เพราะความคิดส่วนตัวผมคือ ผมเป็นเพียงเด็กคนหนึ่ง ที่เล่นพระหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เดินออกจากบ้านกับพ่อมากันสองคนพ่อลูก ก็ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ วันที่ได้รับเกียรติสูงสุดของถนนสายพระเครื่อง วันที่สมาคมฯ และพี่ๆ เมตตาให้โอกาส
✍พระเครื่องที่ถนัดและชื่นชอบ
ผมชื่นชอบและถนัดพระกรุครับ รักและชอบพระกรุ โดยเฉพาะพระกรุเนื้อดินเป็นชีวิตจิตใจ พระประเภทอื่นๆ ที่รองลงมา นอกจากนี้ผมก็นับถือในสายพ่อครูฤาษีของเหล่าศิลปินเป็นชีวิตจิตใจ เพราะผมโชคดีได้รับโองการไหว้ครูโขนละครหลวง โองการไหว้ครูสายสาขาศิลปะการแสดงลิเกมา ชอบสะสมหัวโขนเก่า จนปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ส่วนตัว เก็บสะสมหัวโขนเก่า หัวโขนช่างหลวง ช่างฝีมือดี ช่างฝีมือต่างๆ ไว้พอสมควร รอเวลาที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ให้เด็กรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
✍หลักในการทำงานและดำเนินชีวิต ของ อาท เมืองน่าน
ในด้านหลักการทำงานนั้น เนื่องจากผมเรียนกฎหมายมา และมาทำงานที่สมาคมฯ ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ ผมจึงยึดหลักว่าการทำงานในคนหมู่มากต้องมีกฎ มีระเบียบ ขององค์กรและสังคมนั้นๆ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย สอดคล้องกับหลักการดำเนินชีวิตของผมคือ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถ้าเราทำถูกต้อง ไม่ต้องไปกลัวอะไร วันนี้คนไม่รู้ พรุ่งนี้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่เป็นอะไร”
✍ฝากถึงน้องๆ รุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้าวงการ
ให้น้องๆ ใจเย็นๆ เล่นพระด้วยใจรักก่อน ธุรกิจมาทีหลัง ค่อยๆ เดิน ค่อยเป็นค่อยไปอย่าวู่วาม ให้เคารพผู้อาวุโส ทั้งเคารพในด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิ ดังแล้วมีเงินแล้วอย่าเปลี่ยนแปลง “หัวโขนไว้สวมหัวคน อย่าสัปดนคิดว่าตนเป็นโขน หัวโขนสวมได้ต้องถอดเป็น”
หากใครอยากจะพบปะพูดคุยกับผม พบได้ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และตามงานประกวดพระทุกงาน หรือถ้าคิดว่าผมสามารถให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือสิ่งใดๆ ได้ ผมยินดีครับ โทรมาก็ได้ เบอร์ผมหาไม่ยากเพราะเป็นเบอร์คนสาธารณะอยู่แล้วครับ
by…จุ๋ม ศิริพร