สวัสดีครับท่านที่อ่านทุกท่านครับ ในครั้งนี้กระผมจะเขียนเรื่องของพระสมเด็จวัดเกศไชโยอีกพิมพ์หนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยด้อยไปกว่าพระพิมพ์แข้งหมอนเล็กเลยนะครับ คือพระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์เจ็ดชั้นหูประบ่า
พระสมเด็จพิมพ์เจ็ดชั้นหูประบ่านั้นมีพุทธลักษณะของแม่พิมพ์พระนั้นเหมือนกับพระสมเด็จพิมพ์เจ็ดชั้นนิยมแทบจะทุกอย่างผิดกันตรงที่ใบหน้าและหูทั้งสองข้างเท่านั้นจะสังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือลักษณะของหูทั้งสองข้างจะยาวกว่าทุกพิมพ์ใบหูด้านล่างจะยาวลงมาถึงบ่าหรือหัวไหล่ใบหูจะอ่อนช้อยสวยงามใบหน้าจะใหญ่มองดูคล้ายผลมะตูม
ส่วนตำหนิของแม่พิมพ์หรือวิธีการดูกระผมจะคุยในตอนท้าย กล่าวถึงประวัติการสร้างพระนั่งองค์ใหญ่ของพระสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ปฐมเหตุด้วยนักองค์ด้วงเจ้าแผ่นดินกัมพูชาขอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวทรงส่งพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ไปถวายธรรมเทศนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ส่งสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ไปถวายธรรมเทศนาตามที่เจ้าแผ่นดินกัมพูชาขอมา และสมเด็จพระพุฒาจารย์โตได้กำหนดหัวข้อการเทศนาได้ถูกต้องและถูกพระทัยนักองค์ด้วงยิ่งนัก ในครั้งนั้นกล่าวกันว่าเป็นการเทศนากัณฑ์แรกในพระราชวังของกรุงกัมพูชาที่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ทุกพระองค์ต่างพากันพอพระทัยและเป็นที่ปลื้มปีติยิ่งนัก ทำให้สมเด็จโตได้รับคำสรรเสริญเป็นการแสดงออกถึงซึ่งความเป็นนักปราชญ์ของท่านก็คือสามารถเทศน์เป็นภาษาเขมรได้อย่างคล่องแคล่วฉะฉานยิ่งนัก ทำให้พระราชมารดาของนักองค์ด้วงมีพระทัยศรัทธาเป็นที่สุดถึงกับสละพระราชบุตร และพระราชธิดาอีกทั้งจัตตุปัจจัยเป็นแก้วแหวนเงินทองอีกมากมายเป็นเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์แด่สมเด็จพระพุฒาจารย์โตอีกด้วย
เมื่อครั้นกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว สมเด็จโตก็ได้นำสิ่งของที่ได้รับมาจากการติดกัณฑ์เทศน์ทั้งหมด ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งทูลรายงานความสำเร็จในการเป็นพระธรรมฑูตทุกประการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยในความสามารถในภารกิจของสมเด็จโตยิ่งนัก แล้วพระองค์ก็ได้ถวายเครื่องติดกัณฑ์เทศน์ทั้งหมดให้สมเด็จโตกลับไปและยังทรงแสดงพระราชปณิธานปรารถนาว่าหากสมเด็จโตจะปรารถนาอะไรจากท่านแล้ว พระองค์พร้อมจะถวายด้วยความเต็มพระราชหฤทัยในทุกสิ่งที่ปรารถนา
ในกาลต่อมาสมเด็จโตปรารถนาจะสร้างพระนั่งขนาดใหญ่ ณ วัดเกศไชโย จึงกราบถวายบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการที่ขอแปลสภาพเครื่องกัณฑ์เทศน์จากกรุงกัมพูชามาเป็นเงินเพื่อเป็นทุนสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วัดเกศไชโยนี้ สมเด็จโตทรงสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่านเองอย่างแท้จริง ครั้นเมื่อข่าวกระจายออกไปก็มีพระบรมวงศานุวงศ์และชาวบ้าน พ่อค้า คหบดี ได้นำเงินมาถวายร่วมด้วยอีกมากมายโดยมิได้ขอร้องแต่อย่างใด
สมเด็จโตสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ถึงสองครั้งสองคราว คราวแรกสร้างโดยใช้วิธีก่ออิฐสอดินเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาก อยู่มาในคืนหนึ่งได้มีพายุฝนตกหนักพร้อมด้วยลมแรงเกิดน้ำท่วมมาก จึงทำให้พระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งใช้ก่อด้วยอิฐสอดินทนความชื้นไม่ไหวได้พังลงมา
ต่อมาในคราวที่ 2 ด้วยความตั้งใจและความมานะพยายามของท่านได้ทำการสร้างขึ้นมาอีกแต่ลดขนาดให้เล็กลงกว่าเดิมทั้งความสูงและหน้าตัก แต่ก็นับว่ายังใหญ่อยู่นั่นเอง เป็นพระที่มีได้ลงรักปิดทองนั่งอยู่กลางแจ้งมองเห็นแต่ไกล ทั้งคนเดินเท้าและนั่งเรือผ่านไปมา ท่านได้พยายามสร้างพระองค์ใหญ่นี้ใช้เวลาเกือบ 3 ปี จึงสำเร็จในการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ครั้งที่ 2 นี้เองที่ท่านสร้างพระเครื่องบรรจุไว้ในองค์โต ณ วัดเกศไชโย ซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นิยมของคนทั่วไปที่เรียกกันว่าพระสมเด็จวัดเกศไชโย
ในการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ครั้งแรกนั้นท่านก็ได้สร้างพระเครื่องขึ้นมาจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้ใส่ไปในพระองค์ใหญ่ พระที่สร้างครั้งแรกนั้นผู้ที่ทำการแกะแม่พิมพ์น่าจะเป็นช่างชาวบ้านหรือไม่ก็เป็นพระสงฆ์ที่พอมีฝีมืออยู่บ้างได้ทำการแกะแม่พิมพ์จึงไม่ค่อยมีความสวยงามนัก ในการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในครั้งที่ 2 ท่านก็ได้สร้างพระเครื่องขึ้นมาอีก
การสร้างพระเครื่องครั้งที่ 2 นี้ท่านจึงได้ช่างฝีมือดีที่เราเรียกกันว่าช่างหลวงคือพระสมเด็จพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม พระพิมพ์เจ็ดชั้นหูประบ่า พระพิมพ์หกชั้นอกตัน และพระพิมพ์หกชั้นอกตลอด เมื่อท่านได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ครั้งที่ 2 สำเร็จประมาณ พ.ศ. 2406 ท่านจึงได้นำเอาพระสมเด็จแบบยกขอบกระจกอันเป็นเอกลักษณ์ของพระสมเด็จวัดเกศไชโย พร้อมด้วยพระสมเด็จวัดระฆังที่ท่านเก็บไว้จำนวนหนึ่งใส่ลงไปที่องค์พระองค์ใหญ่ทั้งหมดเรื่องราวยังมีต่อกระผมจะเขียนให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามในฉบับหน้าครับ
กลับมาคุยถึงเรื่องของพระสมเด็จพิมพ์เจ็ดชั้นหูประบ่านี้ ตามที่กระผมและนักเล่นพระสมัยเก่าหลายท่าน อาทิเช่น อาจารย์อ้า สุพรรณ หรือ อาจารย์โกวิท จิตตั้งมั่น ได้บอกกระผมว่าพระพิมพ์เจ็ดชั้นหูประบ่านี้ ต้องเป็นพระที่ใช้แม่พิมพ์ของพระสมเด็จเจ็ดชั้นนิยมอย่างแน่นอน เหตุเพราะว่าตามรูปของพิมพ์เจ็ดชั้นหูประบ่านั้นมีรูปลักษณะเหมือนกับพระสมเด็จพิมพ์เจ็ดชั้นนิยมมาก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของขอบกระจกหรือซุ้มครอบแก้ว ลำตัวของพระแม้แต่วงแขนหรือเส้นของฐานทั้งเจ็ดชั้นเหมือนกันและตรงกันทุกเส้น ผิดกันตรงใบหน้าและหูทั้งสองข้างเท่านั้น
เรามาดูตำหนิในพิมพ์ของพระทั้งสององค์ สองพิมพ์กันดีกว่าว่าส่วนไหนที่ไม่เหมือนกันและส่วนไหนที่เหมือนกันครับ
1.ขอบข้างของพระจะมีรอยการแต่งเพื่อลบเหลี่ยมให้มนทุกองค์เหมือนพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม
2.เส้นขอบกระจกด้านบนจะมีลักษณะโค้งตรงกลาง ตรงมุมด้านขวามือจะยกสุงเด่นแล้วค่อยลาดลงมาหาซุ้มครอบแก้วทั้งสองข้าง เหมือนพระพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม
3.ร่องระหว่างขอบกระจกกับซุ้มครอบแก้ว ตรงบริเวณกลางองค์จะเลือนหายไปเนื่องจากแม่พิมพ์ของพระได้ลึกไปทำให้เส้นร่องรอยหายไปด้วยทั้งสอง ส่วนจุดเนื้อเกินที่เป็นตุ่มในซุ้มครอบแก้วตรงกับหัวฐานชั้นที่สองด้านซ้ายมือเรายังติดเด่นชัดเหมือนพระพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม
4.เรามาดูที่องค์พระจากเกตุของพระจะมีลักษณะเป็นปลียาวไปบนซุ้มเหมือนพระพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม
5.ใบหน้าจะคล้ายผลมะตูม ไม่เหมือนกับพระพิมพ์เจ็ดชั้นนิยมที่มีใบหน้ากลมคล้ายผลมะนาว
6.ลักษณะของใบหูทั้งสองข้างด้านบนจะเป็นแท่งหนา ปลายหูด้านล่างจะเรียวยาวลงมาพาดบ่า ตรงปลายหูทั้งสองข้างจะมีเนื้อเกินของเส้นที่แตกออกไปจากบ่าไปเชื่อมติดกับทางด้านขวามือเรา ส่วนปลายหูด้านล่างทางด้านซ้ายมือเราจะยาวลงไปจรดบ่าพอดี โปรดสังเกตในช่องระหว่างใบหูกับลำคอจะมีเส้นแหลมเฉียงออกไปตรงคางของพระเหมือนพิมพ์เจ็ดชั้นนิยมที่กระผมเรียกว่าอินทธนู
7.หน้าอกของพระจะโย้มาทางซ้ายมือเราเวลาส่องดูเหมือนพระพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม
8.ส่วนลักษณะของเส้นหน้าอกซ้ายของพระตรงกลางจะหนาด้านบนและด้านล่างจะเรียวเล็ก ด้านล่างลงมาจรดมือของพระเหมือนพระพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม
9.ลำแขนซ้ายของพระจะโตกว่าแขนขวา ลักษณะของลำแขนท่องล่างจากข้อศอกลงมาจะหักเป็นท่อนสองท่อนจนถึงมือที่ประสานกันตรงกลาง
10.ลักษณะของหัวเข่าขวามือเราด้านล่างในร่องฐานจะมีเนื้อเกินลงมาเชื่อมติดกับหลังฐานชั้นบนทำให้ร่องระหว่างหัวเข่ากับฐานบนปิดตันดังภาพเป็นอย่างนี้ทุกองค์ ตำหนินี้เหมือนกับพระพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม
11.ลักษณะของฐานชั้นบนมองโดยรวมจะดูคล้ายเรือ หัวฐานด้านขวามือเราเวลาดูพระหัวฐานจะแหลมปลายฐานจะเชิดขึ้น ส่วนปลายฐานด้านซ้ายมือเราเชิดขึ้นแต่น้อยกว่ามองดูโดยรวมเหมือนเรือที่กำลังแล่นไปทางขวามือเรา
12.ในร่องของฐานทั้งสามชั้นตามที่กระผมชี้จะมีเนื้อเกินขึ้นมาทั้งสามร่องให้ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตลักษณะของเส้นฐานจะโค้งคดเป็นธรรมชาติจุดนี้เหมือนกับพระพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม
13.ลักษณะของร่องฐานชั้นล่างในร่องของหัวฐานทั้งซ้ายและขวาจะมีเนื้อเกินขึ้นมาให้เห็นพอสังเกตได้ ส่วนตรงกลางของร่องฐานจะลึกลงไปกว่าร่องฐานทุกชั้น ตรงนี้เหมือนกับพระพิมพ์เจ็ดชั้นนิยม
ถ้าดูภาพที่กระผมได้ชี้ตำหนิไม่ชัดให้ดูจากรูปพระองค์ที่กระผมได้นำมาประกอบที่ติดชัดกว่าเป็นบางที่แล้วจะเข้าใจ พระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์เจ็ดชั้นนิยมกับพระพิมพ์เจ็ดชั้นหูประบ่า เป็นพระที่ใช้แม่พิมพ์เดียวกันอย่างแน่นอน เพราะตำหนิในพิมพ์ของพระทั้งสองพิมพ์นี้มีจุดสังเกตที่ตรงกัน ผิดก็เป็นบางที่เท่านั้น เนื่องจากแม่พิมพ์ได้มีการชำรุดและลึกลงไปดั่งเช่นใบหน้าและใบหูของพระเป็นต้น
โดย อ.สมาน บุญเพ็ญ (คลองสาม) 081-837-7056