เกร็ดชีวิตคนดัง
%e0%b9%83%e0%b8%88%e0%b8%8b%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad-%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%aa%e0%b8%b0%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%94-%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93%e0%b8%84

          “คมสัน ชาญชัยวรวิทย์” หรือ พี่น้องวงการพระเครื่องรู้จักกันดีในนาม “หน่อย ศรีราชา” เป็นคนศรีราชา จ.ชลบุรี เกิดวันที่ 22 มีนาคม 2504 ปัจจุบันอายุ 58 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรรัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต (รป.ม.) มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี (รุ่น 1) รุ่นเดียวกับคุณสนธยา คุณปลื้ม (อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา) เริ่มเล่นการเมืองท้องถิ่น เพราะคุณสมพงษ์ สมวงษ์ (ญาติผู้ใหญ่) ให้การสนับสนุน ชีวิตการเมืองท้องถิ่นผมเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2533 – ปัจจุบัน รวมแล้วก็ประมาณ 28 ปี เคยเป็นทั้งสมาชิกสภา , เทศมนตรี , รองนายกเทศมนตรี หลายสมัย รวมทั้งเป็นสมาชิกสภาฝ่ายค้าน ปัจจุบันรักษาการสมาชิกสภาเทศบาลเมืองศรีราชา

          สาเหตุที่เข้าสู่วงการพระเครื่อง คือ ช่วงปี พ.ศ. 2538 คุณฉัตรชัย ทิมกระจ่าง (นายกปื๊ด) นายกเทศมนตรีในสมัยนั้น มีดำริอยากให้ศรีราชามีการจัดงานประกวดพระเครื่อง เพื่อให้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงานประเพณีกองข้าว จึงได้มอบหมายให้ผมซึ่งเป็นเทศมนตรีในสมัยนั้น ดูแลจัดการเรื่องการจัดงานประกวดพระเครื่องให้แล้วเสร็จ

          แต่เนื่องจากเมื่อก่อนผมยังไม่รู้จักใครในสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ห้างพันทิพย์ งามวงศ์วาน เล่นสะสมพระเครื่องก็แค่พระท้องถิ่นเล็กๆ น้อยๆ ตามพรรคพวก จะหาข้อมูลหรือคุยกับใครก็ดูจะไม่ได้เรื่อง เนื่องจากสังคมพระเครื่องในพื้นที่ศรีราชานั้นยังแคบ ผมจึงนำเรื่องไปปรึกษาคุณสมพงษ์ สมวงษ์ ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพนับถือ และรู้จักเซียนพระเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยหลายท่าน แล้วคุณสมพงษ์ยังเป็นนักสะสมพระอันดับต้นๆ ของศรีราชาอีกด้วย

          หลังจากนั้นไม่กี่วันคุณสมพงษ์ ก็ได้พาผมเข้าไปพบท่านไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ (โป๊ยเสี่ย) ที่บ้านพัก (ศรีราชา) เพื่อขอคำชี้แนะ เพราะท่านไชยทัศน์เป็นนายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และเป็นผู้ใหญ่ที่คนในวงการพระเครื่องให้ความเคารพนับถือ พอผมเล่ารายละเอียดให้ท่านไชยทัศน์ฟัง ท่านก็บอกว่าจะไปยากอะไร ? วันไหนว่างๆ ก็เข้าไปที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย บนห้างพันทิพย์ งามวงศ์วานกัน เข้าไปปรึกษาท่านนายก (ป๋ายัพ) ว่าถ้าเราจะจัดงานประกวดพระต้องทำอย่างไรบ้าง ?

          พอถึงวันนัดผมกับคุณสมพงษ์ ก็ขึ้นไปพบท่านไชยทัศน์ที่สมาคมฯ บนห้างพันทิพย์งามวงศ์วาน ไปถึงก็พบท่านไชยทัศน์นั่งคุยอยู่กับท่านนายก (ป๋ายัพ) มีพี่ป๋อง สุพรรณ และอาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ อยู่ด้วย ซึ่งช่วงนั้นพี่ป๋องกับอาจารย์ราม เป็นคนดังจากรายการแฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง ของคุณปัญญา นิรันดร์กุล

          ท่านไชยทัศน์ให้ผมพูดคุยกับท่านนายก (ป๋ายัพ) ถึงเรื่องการจะขอจัดงานประกวดพระ และวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ท่านนายก (ป๋ายัพ) ก็บอก พี่ป๋อง กับ อ.ราม ว่าช่วยเป็นธุระให้นาย (ท่านไชยทัศน์) เขาหน่อย ทุกอย่างจึงราบรื่น ทุกวันนี้ผมไม่เคยลืมบุญคุณของท่านไชยทัศน์ (โป๊ยเสี่ย) , ท่านนายกพยัพ (ป๋ายัพ) , อาสมพงษ์ , พี่ป๋อง และอาจารย์ราม ที่ให้ความกรุณาผม

          นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (ปี พ.ศ. 2538) ผมก็อยู่ในวงการพระเครื่องมาตลอด รวมแล้วก็ประมาณ 23 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีงานประกวดพระเครื่องที่ไหน ผมจะพยายามไปร่วมงานและร่วมบริจาคเงินทุกครั้ง เว้นแต่บางงานที่ผมติดภารกิจสำคัญจึงไม่สามารถไปร่วมงานได้
ต่อมาท่านนายก (ป๋ายัพ) เห็นความตั้งใจจริงของผมจึงได้แต่งตั้งให้เป็นประธานบริหารสมาคมฯ ภาคตะวันออก เขต 2 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย สาขาจังหวัดชลบุรี เขต 1 ดูแลประสานงานกับพี่น้องวงการพระในพื้นที่ อ. เมืองชลบุรี – อ. พนัสนิคม – อ. บ้านบึง – อ. บ่อทอง – อ. พานทอง – อ. ศรีราชา (6 อำเภอ)

          แรกๆ ผมก็เหมือนนักสะสมพระคนอื่นๆ เช่าบูชาพระท้องถิ่น ชลบุรี เช่น เหรียญหลวงพ่อทันใจ วัดศรีมหาราชา ปี ๒๕๑๓ (ท่านเจ้าคุณนรฯ อธิษฐานจิต) , พระเพชรหลีก – พระปิดตา หลวงปู่ศรี (พระวิสุทธิสมาจาร) วัดอ่างศิลา , พระปิดตาหลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า , พระสรงน้ำ วัดเขาบางทราย และ ขณะเดียวกันก็เก็บพระใหม่ตามสมัยนิยม (กระแส) แต่จะเน้นไปทางเนื้อทองคำเป็นส่วนใหญ่ เช่น หลวงพ่อโสธร ๘๐ ปี กรมตำรวจ เนื้อทองคำ , เหรียญทองคำหลวงปู่ฮก วัดราษฏร์เรืองสุข หรือวัดมาบลำบิด และเหรียญทองคำหลวงหลวงปู่ บัวเกตุ ปทุมสิโร วัดปางกึ๊ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รุ่นสร้างอาคารผู้ป่วยโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เป็นต้น

          ภายหลังได้มีโอกาสไปร่วมงานประกวดพระเครื่องบ่อยๆ ก็ทำให้ผมรู้จักคนมากขึ้น ฟังผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้คุยถึงพระหลัก ก็เริ่มสนใจเก็บกับเขาบ้าง โดยยึดหลักจะเช่ากับเซียนใหญ่ หรือสายตรง ซึ่งมีหลักการค้ำประกันที่ชัดเจน เช่าถูก เช่าแพง ไม่ใช่สาระสำหรับผม ข้อสำคัญต้องเป็นพระแท้ดูง่าย เพราะพระเครื่องทุกองค์ที่ผมเช่า คือองค์ครูที่ผมเก็บไว้ศึกษานั่นเอง

          การที่เราได้มีโอกาสส่องพระแท้บ่อยๆ นั้น จึงทำให้ผมดูพระเครื่องเป็นโดยอัตโนมัติ แต่ต้องตรวจเช็คให้ดีก่อนนะครับ ว่าพระที่เป็นองค์ครูเป็นของแท้ ทุกวันนี้ยามว่างผมจะนำพระสมเด็จบางขุนพรหม , พระสมเด็จเกศไชโย , พระสมเด็จอรหัง , พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ เนื้อทองคำ , พระกริ่งไพรีพินาศ – พระชัยวัฒน์ ปี พ.ศ. 2495 วัดบวรฯ , เหรียญเงินท่านเจ้าคุณนร หลังพระแก้วมรกต , เหรียญหลวงพ่อโสธรสองหน้า 57-57 ปี 2497 , เหรียญหลวงพ่อโสธร 2498 , หรียญหลวงพ่อโสธรธรรมจักร ปี 2494 , พระพุทธชินราช อินโดจีน 2485 , เหรียญหลวงพ่ออี๋ (รุ่นสร้างโรงพยาบาล) 2483 , เหรียญนั่งพานหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ และพระขุนแผนบล็อกสองหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ฯ มาส่องเสมอๆ เพื่อไม่ให้ลืม

          ผมเชื่อว่าการได้เรียนรู้จากพระเครื่ององค์จริงนั้นเรียนรู้ได้ไว และถ้าได้คำชี้แนะจากผู้รู้ยิ่งดีใหญ่ เพราะการเรียนรู้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด กลุ่มคนผลิตพระเครื่องเก๊ก็ไม่เคยหยุดพัฒนาเช่นกัน ถ้าคิดจะเดินบนเส้นทางนี้ต้องหมั่นศึกษาจากผู้รู้บ่อยๆ และจะปลอดภัยจากพระเก๊ (ของเทียมเรียนแบบ)

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox