พระเก่าที่น่าเก็บ

ตำหนิและจุดสังเกต พระนางพญา พิมพ์ใหญเข่าโค้ง

%e0%b8%95%e0%b8%b3%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b8%b0%e0%b8%88%e0%b8%b8%e0%b8%94%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%95-%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%99%e0%b8%b2

          สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่ติดตามนิตยสารพระเครื่องอภินิหารทุกท่าน ช่วงที่ผ่านมากระผมได้เขียนถึงพระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่ให้ท่านผู้อ่านคอลัมน์ของกระผมได้รู้ถึงเทคนิคและวิธีการดูตามจุดต่างๆ ที่พอสังเกตได้ ในครั้งนี้ที่กระผมจะเขียนคือ “พระนางพญาพิมพ์ใหญ่เข่าโค้ง” ซึ่งถือว่าเป็นพระที่มีความนิยมเป็นอันดับ 1 ของพระอยู่ในกรุของวัดนางพญาและวัดราชบูรณะแห่งเมืองพิษณุโลก

          ด้วยความสวยงามของแม่พิมพ์ที่เป็นศิลปะของจังหวัดพิษณุโลกโดยตรง เพราะมีหน้าตักที่โค้งนอนสวยงามคล้ายกับพระพุทธรูปของสมัยสุโขทัย จึงไม่เหมือนกับพระนางพญาพิมพ์อื่นที่กระผมได้เขียนมาแล้วข้างต้นที่ผ่านมาถึง 4 พิมพ์ด้วยกันคือ 1.พิมพ์เล็กอกนูนเล็ก 2.พิมพ์เทวดา 3.พิมพ์สังฆาฏิ 4.พิมพ์อกนูนใหญ่ ในพระทั้ง 4 พิมพ์นั้นจะเป็นพิมพ์ที่มีหน้าตักที่เป็นลักษณะของการนั่งขัดสมาธิราบไม่ยกเข่าตึงโดยเป็นเส้นตรง ซึ่งเป็นแบบของพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาดังเช่นพระมงคลบพิตรและพระบูชาในสมัยอยุธยาที่เราพบเห็นอยู่บ่อยๆตามวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั่วไป

          ด้วยความพิเศษของพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้งนั้นนอกจากจะมีหน้าตักที่โค้งงอนแล้วทั่วทั้งองค์ยังมองดูเหมือนมีศิลปะอันอ่อนช้อยละม้ายคล้ายพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ถึงแม้จะเป็นพระพิษณุโลกก็ตามเพราะท่านผู้ชำนาญในพุทธรูปบูชาจะเรียกพระที่มีศิลปะแบบนี้ว่าศิลปะสุโขทัย แต่จัดอยู่ในหมวดพิษณุโลก

          ด้วยความนิยมสูงสุดของพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง ทำให้ท่านที่ศึกษาทางด้านศิลปะพระเครื่องทุกท่านที่อยู่ในวงการพระเครื่อง ต้องยอมรับว่าจัดพระชุดเบญจภาคีได้อย่างลงตัวที่สุดคือ “ท่านตรียัมปวาย” เป็นนามปากกาของท่าน คือพันเอกพิเศษ ผจญ กิตติ ประวัติ ผู้เขียนตำราและสารคดีพระเครื่องที่มีคุณค่าต่อวงการพระหลายเล่ม อีกท่านได้จัดประชุมไตรภาคีขึ้นมาก่อนตั้งแต่ปี 2495 มีอยู่ด้วยกัน 3 องค์เท่านั้นคือ

          1.พระสมเด็จวัดระฆังฯ ซึ่งสร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงธนบุรี ซึ่งมีพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดจากภยันตรายอันตรายทั้งปวง ด้วยพระคาถาชินบัญชรของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต

          2.พระรอดกรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน ที่สร้างโดยพระนางจามเทวีผู้ครองนครหริภุญชัย ที่มีพระพุทธคุณที่โด่งดังและโดดเด่นทางด้านแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง

          3.พระนางพญา ส่วนพระพุทธคุณของพระนางพญานั้น กระผมได้เคยคุยกับนักเล่นพระอาวุโสท่านหนึ่งที่มีความชำนาญในเรื่องการดูพระนางพญา และได้เช่าพระนางพญามากที่สุดคือ ท่านอาจารย์จำลอง สุริโย ท่านเป็นนักเล่นพระอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านได้เล่าถึงเมื่อคราวที่พระนางพญาได้แต่กรุออกมาครั้งแรกในคืนวันหนึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเดือนอะไร แต่เป็นเดือนที่มีน้ำหลากจากแม่น้ำน่านล้นตลิ่งขึ้นมาท่วมเจดีย์ จึงทำให้เจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐแดงสอดด้วยปูนขาวผสมทรายละเอียดที่มีอายุเก่า เมื่อได้รับความชื้นจากน้ำที่หลากมาท่วมฐานทำให้เกิดความชื้นประจวบกับคืนนั้นได้มีพายุฝนตกอย่างหนักพร้อมกับลมที่พัดแรงจนต้นมะพร้าวที่อยู่ในบริเวณวัดถูกลมพายพัดคนเป็นจำนวนมาก ส่วนเจดีย์ที่เก่าก็ทนแรงลมไม่ไหวจึงพังโคนลงมา จึงทำให้พระนางพญาจำนวนหนึ่งที่บรรจุไว้ที่เจดีย์ด้านบนหล่นลงมาจนเกลื่อนพื้นดินบริเวณรอบองค์พระเจดีย์ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครสนใจ บางองค์ก็จมน้ำจมดินก็มีเป็นบางส่วน

          ต่อมาได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งเห็นว่าพระที่ร่วงอยู่ลานวัดท่านกลัวคนจะเหยียบย่ำจะเป็นบาปเสียเปล่า ท่านจึงได้เก็บไปกองไว้ที่กองอิฐที่พังลงมาที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าในสมัยก่อนนั้นพระเนื้อดินไม่ค่อยมีคนสนใจและไม่มีราคา เพราะนักขุดพระรุ่นเก่าจะขุดเอาแต่พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องทองและเครื่องสังคโลกเท่านั้น ส่วนพระนางพญาจึงได้กองไว้ที่ฐานของเจดีย์

          ต่อมาได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ามาตีเมืองไทยเพื่อสู้รบกับฝ่ายพันธมิตร อาจารย์จำลองยังเล่าให้ผมฟังอีกว่า ในคืนวันหนึ่งได้มีเครื่องบินจากญี่ปุ่นมาทิ้งระเบิดถึง 6 เที่ยวที่สะพานหน้าวัดพระพุทธชินราช ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดนางพญา ทำให้ต้องดับไฟเมื่อได้ยินเสียงของเครื่องบินและต่างคนต่างวิ่งหนีเอาตัวรอด มีหลายคนที่วิ่งไปที่เนินฐานของเจดีย์ในวัดนางพญาด้วยความกลัวในความมืดได้กำเอาก้อนอิฐบ้างก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วได้กำเอาพระนางพญามาไว้ในมือโดยไม่รู้ตัวว่าพระหรือกระเบื้องที่แตกของหลังคาวัดเอามากำไว้กับหน้าอก แล้วภาวนาขอให้ปลอดภัย เมื่อเสียงของเครื่องบินทิ้งระเบิดได้สงบลงสักพักหนึ่งไฟก็เปิดสว่างขึ้น เมื่อแบมือออกมาถึงรู้ว่าในมือที่เรากำไว้แล้วอธิษฐานขอให้ปลอดภัยนั้นคือพระนางพญา

          จากคำร่ำลือนี้เองทำให้พระนางพญาพอจะมีราคาขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่แพงเพราะพระเนื้อดินยังไม่มีคนนิยม ส่วนที่นิยมในสมัยนั้นต้องพระเนื้อชินเงินเท่านั้น กระผมได้เขียนประวัติของพระนางพญาและความเป็นมาของการแตกกรุกันพอสมควรแล้ว เรากลับมากล่าวถึงวิธีการดูรูปทรงของพระและจุดตำหนิที่ควรรู้ของพระนางพญาพิมพ์ใหญ่เข่าโค้งว่ามีกี่จุดที่ต้องสังเกตอย่างไรบ้าง

1.ถ้าท่านมองดูพระโดยรวมทั้งองค์และใช้ความสังเกตให้ดีแล้ว จะเห็นว่าพุทธลักษณะของพระนางพญาพิมพ์ใหญ่เข่าโค้งนี้มีพุทธลักษณะคล้ายกับพระบูชาสมัยสุโขทัยที่ไม่มีฐาน

2.ให้ดูที่เกศของพระพิมพ์เข่าโค้งจะเล็กและเรียวยาวคล้ายเกศ มีลักษณะเป็นรูปเปลวไม่เหมือนพระนางพญาทั้ง 4 พิมพ์ที่กระผมได้เขียนไปแล้วนั้น เกศของพระจะเป็นรูปปลีทรงคล้ายเจดีย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3.เส้นไรพระศกของพระนางพญาพิมพ์ใหญ่เข่าโค้ง จะมีลักษณะเรียบร้อยสวยงาม ให้ท่านสังเกตดูในร่องระหว่างเส้นไรพระศกกับใบหน้า ด้านซ้ายของพระจะชิดกับใบหน้าที่มีเนื้อเกินเชื่อมติดกับเส้นไรพระศก ส่วนตรงปลายเส้นจะหายไปตรงระหว่างหูข้างซ้าย แล้วเส้นจะโค้งมาทางด้านขวายกสูงขึ้นและใหญ่ขึ้น แล้วร่องระหว่างไรพระศกกับใบหน้าก็จะกว้างขึ้นด้วย ตรงปลายของเส้นไรพระศกด้านขวาจะมาจรดตรงระหว่างใบหน้ากับใบหูด้านขวาของพระ

4.ใบหูทั้งสองข้างเป็นเส้นเล็กเรียวงามตรงปลายงอนออกเล็กน้อย มองดูอ่อนช้อยเหมือนพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ใบหูด้านบนทางขวาของพระชิดกับใบหน้า ส่วนใบหูด้านซ้ายจะห่างกว่าตรงปลายใบหูจะยาวลงมาจรดบ่าทั้ง 2 ข้าง

5.ลักษณะของใบหน้าจะเป็นรูปถ่ายตรงหน้าผากของพระจะราดตามลงไปหาร่องของเส้นไรพระศก แล้วค่อยสูงขึ้นจนถึงกลางใบหน้าและตรงคางของพระจะยกสูงขึ้น จนมองดูคล้ายกับพระพุทธรูปที่นั่งแอ่นหลังแล้วเงยหน้าขึ้นเล็กน้อยตามแบบอย่างของพระพุทธรูปศิลปะพิษณุโลก

6.จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญคือ ตรงคางของพระจะมีรอยครูดของแม่พิมพ์ที่ใต้คางและที่ลำคอจะมีเส้นมองดูเหมือนคนมีเครา ส่วนสองข้างของลำคอจะมีเส้นคอทั้งสองข้างและส่วนใหญ่แล้วพระพิมพ์เข่าโค้งนี้ตรงคอจะมีรอยปริแทบทุกองค์

7.หัวไหล่ทั้งสองจะมีลักษณะยกขึ้นเล็กน้อยพองาม ให้สังเกตตรงหัวไหล่ขวาของพระด้านนอกถ้าพระองค์ไหนตัดเหลือปีกจะมีเนื้อเกินออกมาจากหัวไหล่เป็นมุมแหลมจึงทำให้พื้นตรงเนื้อเกินสูงกว่าพื้นของพระ

8.ทางด้านบ่าซ้ายของพระจะมีเส้นชายจีวรจากใต้คางพาดเฉียงลงมาผ่านหน้าอกและลำตัวแล้วก็หายไปในช่องแขนขวา บนบ่าซ้ายจะมีเส้นของสังฆาฏิเป็นพื้นพาดจากบ่าลงมาถึงกลางลำตัว ให้สังเกตตรงปลายสังฆาฏิจะมีหลุมลึกให้เห็น พระที่ห่มจีวรแบบนี้เรียกว่าพระห่มเฉียง คือคลุมบ่าซ้ายแล้วเปิดบ่าขวาลักษณะของการห่มผ้าจีวรแบบนี้สำหรับพระที่อยู่ในวัดหรืออยู่ในที่มีหลังคาเช่นในบ้านโยมที่อยู่ในเวลานานๆเท่านั้น

9.ร่องของช่องแขนด้านขวาจะสูงกว่าด้านซ้าย เพราะช่องแขนด้านซ้ายนั้นมีจีวรและสังฆาฏิปิดอยู่ ส่วนลำตัวของพระจะเอนซ้ายจึงทำให้ช่องแขนกับลำตัวนั้นแคบกว่าด้านขวาอย่างเห็นได้ชัด

10.ให้สังเกตลำแขนซ้ายท่อนบนตรงกลางจะมีลักษณะโอนหนีบเข้าหาลำตัว ส่วนลำแขนขวาท่อนบนด้านในจะมีเนื้อเกินเป็นเส้นปื้นยาวตลอดลำแขนให้เห็นแล้วเอนเข้ามาตามลำตัว

11.ลำแขนท่อนล่างด้านซ้ายและมือจะวางพาดลงมาบนหน้าตักตรงใต้ข้อศอกจะมีเส้นเนื้อเกินลงมาเชื่อมติดกับเข่าซ้าย ส่วนลำแขนซ้ายและมือที่วางพาดบนหน้าตักลำแขนด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นสันมีเหลี่ยมคมชัด ถ้าพระที่สวยและติดพิมพ์ดี ส่วนใต้ลำแขนและมือที่วางพาดบนหน้าตักจะมีเนื้อเกินลาดลงมาเป็นปื้นให้เห็นชัด ลักษณะของแขนตรงปลายจะเป็นรอยคอด เป็นท่อนทำให้มองดูเหมือนหักข้อมือและนิ้ว

12.เรามาดูบริเวณหน้าตักของพระจะเป็นแบบขัดสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้ายแล้วใช้มือขวาวางลงบนเข่าขวา ท่านั่งแบบนี้เรียกว่าปางมารวิชัยเขานอก หมายความว่าหัวเข่ายื่นออกมาเลยมือข้างขวา จุดสังเกตคือให้ดูตรงเข่าขวาด้านนอกจะมีเนื้อเกินขึ้นสูงจากพื้นของพระเป็นแนวยาวจากเข่าจนถึงหลังแขนท่อนบน

13.ให้สังเกตที่ร่องของขา และขาขวาที่วางทับอยู่ข้างบนเวลาเราสังเกตจะเห็นเป็นรูปเท้าที่หงายขึ้นแล้วต่อมาก็เป็นรูปของข้อเท้าจะมีเนื้อเชื่อมติดกัน เลยจากนั้นก็จะเป็นรูปหน้าแข้งและขาท่อนบนแล้วหายไปตรงมือขวาด้านในที่มีลักษณะเป็นตุ่มทั้งคนขาและหัวเข่าที่อยู่ด้านนอกของมือ

ครั้งหน้าพบกันใหม่จะเป็นเรื่องของพระอะไรขอให้ท่านติดตามคอลัมน์ของกระผมในนิตยสารพระเครื่องอภินิหารและติดตามกับผมได้ใน YouTube โดยพิมพ์ไปที่ “ตามเซียนส่องพระ” ก็จะพบกับกระผมอาจารย์สมาน คลองสาม พร้อมกับวิธีดูพระเครื่องอีกมากมายขอให้โชคดีทุกๆ ท่านสวัสดีครับ

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox