โดย อ.สมาน คลองสาม
อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
สวัสดีครับท่านผู้อ่านพระเครื่องอภินิหาร กระผมขออัญเชิญพระที่เป็นที่นิยมสูงสุดหรือเรียกได้ว่าเป็นยอดจักรพรรดิของพระเครื่อง คือ พระสมเด็จ กรุวัดบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย ที่มีความสวยงามยิ่งและเป็นพิเศษ เพราะพระสมเด็จพิมพ์เส้นด้ายองค์นี้ได้มีการลงรักปิดทองเดิมมาจากในกรุ พระที่มีลงรักปิดทองนี้นักสะสมรุ่นอาวุโส (รุ่นเก่า) จะเรียกกันว่าพระคะแนน จะมีราคาเช่าซื้อแพงกว่าพระที่พิมพ์ธรรมดากว่าเกือบหนึ่งเท่าเลยทีเดียวครับ
กระผมจะเล่าความเป็นมาของพระสมเด็จกรุวัดบางขุนพรหมพิมพ์เส้นด้ายองค์นี้ว่าได้มาอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อประมาณปลายปี 2554 ในปีนั้นได้มีอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้คนและชาวบ้านมีความเดือดร้อนกันไปทั่ว หวังว่าทุกคนคงยังจำเหตุการณ์นี้ได้ ต่อมาในช่วงที่น้ำได้ลดลงมาจนเป็นปกติดแล้วชาวบ้านจึงได้มีการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ชำรุดเสียหายกันแทบทุกครัวเรือน
ในตอนนั้นกระผมได้นั่งเขียนคอลัมน์ให้กับหนังสือเล่มหนึ่ง ในเรื่องของพระสมเด็จ กรุวัดบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย และเรื่องของตกพระ (บางท่านเรียกว่าตกเบ็ด) เพื่อลักลอบนำพระออกมาจากกรุที่อยู่ในพระเจดีย์องค์ใหญ่ออกมา เพื่อไว้บูชาหรือให้เช่าต่อก็แล้วแต่บางคนที่ตกได้ก็ตาม กระผมได้นั่งเขียนเรื่องนี้จนใกล้จะจบคือได้ครึ่งเรื่องกว่าๆจะเป็นด้วยความบังเอิญ หรือจะเป็นด้วยอภินิหารของพระสมเด็จบางขุนพรหมก็ไม่อาจทราบได้ครับท่านผู้อ่าน ได้มีผู้ชายท่านหนึ่งที่มีอายุประมาณ 20 กว่า ได้นำพระสมเด็จพระุวัดบางขุนพรหมมาเสนอขายให้กับกระผมหนึ่งองค์ เป็นสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย ลงรักปิดทองเดิมในกรุ มีสภาพสมบูรณ์มากองค์หนึ่ง เพราะพระองค์นี้ยังมีผิวดินของกรุติดอยู่เดิมยังไม่ได้ผ่านการล้างมาก่อนเลย
จากการที่กระผมได้นั่งคุยกับหลานผู้นั้นที่นำพระสมเด็จบางขุนพหรมองค์ดังกล่าวได้เล่าให้กระผมฟังว่า ในสมัยคุณตาได้ไปพักอยู่แถววัดบางขุนพรหมในสมัยนั้นพอดี พอยามว่างตอนกลางคืนก็ได้ไปทำการตกพระกับเขาบ้าง
ในคราวแรกๆ คุณตาเล่าว่าคราวแรกการตกพระนั้นได้ง่ายมาก คุณตาของเขาเล่าให้ฟังว่า คุณตาได้ตั้งจิตอธิษฐานของพระต่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จขอให้ตกพระได้จะเอามาให้ลูกหลานไว้ใช้ติดตัวและเป็นสมบัติต่อไป จากนั้นคุณตาก็เริ่มไปตกได้พระสมเด็จพิมพ์เส้นด้ายแต่หักสองท่อน ส่วนครั้งที่สองนั้นเป็นพระพิมพ์เส้นด้ายเช่นกันแต่สมบูรณ์
ต่อมาก็ได้มอบให้กับลูกสาวคนเล็ก คือ องค์ที่ให้ลูกชายนำมาให้กระผมได้เช่าซื้อไว้เพราะว่าต้องนำเงินไปซ่อมบ้านที่น้ำท่วมเสียหาย เมื่อน้องชายเล่าให้ฟังจนจบกระผมจึงถามว่าแล้วน้องเอาเท่าไหร่ หลายชายได้ตอบว่าคุณแม่สั่งมาว่าแล้วแต่ลุงสมานจะให้เท่าไหร่ บอกลุงด้วยว่าให้พอสมควร จากนั้นกระผมจึงให้หลานลงไปเอาเงินที่ธนาคาร ชั้นสองของห้างเป็นเงินก้อนโตจึงต้องโอนใส่บัญชีของคุณแม่ แล้วกระผมจึงถามอีกว่าพระอีกองค์หนึ่งที่คุณตาได้เป็นพระพิมพ์อะไร หลานตอบว่ากระผมไม่รู้เพราะว่าลุงเอาไปกระผมจึงบอกว่าลองไปตามมาดู แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้เจอกันอีกเลย
ส่วนตำหนิและวิธีการดูพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย มีวิธีดูอย่างไร และมีจุดที่ควรสังเกตุที่สำคัญมีดังนี้
1.พุทธลักษณะโดยรวมของพระทั้งองค์ คล้ายกับพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ แต่เส้นของซุ้มและของพระรวมทั้งเส้นของฐานจะเล็ก ตามชื่อของพิมพ์ที่นักเล่นพระผู้อาวุโสได้ตั้งไว้ว่าชื่อพระสมเด็จกรุบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย
2.ใบหน้าของพระพิมพ์เส้นด้ายจะเล็กเรียว เกศจะกลมเป็นเส้น ใบหน้าและเกศของพระจะสูงกว่าซุ้มครอบแก้ว
3.ลำแขนด้านซ้ายของพระที่กางออกจะมีลักษณะคล้ายพระพิมพ์ใหญ่คือวงแขนจะแคบกว่าด้านขวาของพระคือซ้ายมือเราเวลานำพระมาดูบนมือ
4.จุดนี้เป็นจุดสำคัญของการดูพระสมเด็จพิมพ์เส้นด้าย คือบริเวณพื้นตรงหัวเข่าและหัวเข่าของพระด้านซ้ายจะยกสูงขึ้นกว่าทุกส่วนของพิมพ์พระ จะมองดูเด่นอย่างเห็นได้ชัดเหมือนพระนั่งเอียงมาทางซ้ายมือเราเวลาดูพระบนมือ
5.ลักษณะของฐานบนใต้หน้าตักลงมา ปลายฐานด้านซ้ายจะมีลักษณะต่ำลงและจะห่างกว่าด้านขวามือ
6.ลักษณะของฐานชั้นกลางถ้าเราสังเกตุให้ดีจะเห็นเป็นรูปของฐานคมขวาน คล้ายพระพิมพ์ใหญ่แต่ตื้นกว่าเท่านั้น
7.ลักษณะของฐานชั้นล่างจะเป็นลักษณะของฐานหมอนตรงกลางจะเป็นแอ่งลงไปเล็กน้อย ด้านขอบบนและล่างจะมีเส้นขนานกัน ส่วนหัวของฐานจะมีเส้นปิดหัวฐานทั้งสองข้าง เพราะตรงกลางที่พื้นที่ของหัวฐานจะสุงขึ้นมาจนปิดล่องของฐานจนเต็มครับ
8.บริเวณขอบของพระจะมีเส้นนูนขึ้นมาแทบทุกองค์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งเรียกว่าเส้นบังคับพิมพ์
9.ด้านหลังของพระสมเด็จกรุบางขุนพรหม ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นรอยแยกของเนื้อพระ ตามขอบด้านข้างและตรงมุมของพระเป็นบางมุม เพราะรอยปาดหลังของพระเนื้อผงที่ผสมเนื้อที่แห้งพอปั้นได้ หรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้าน (ว่าเนื้อกำลังมาดพอดี)
การเขียนของกระผมเขียนด้วยประสบการณ์ วิธีดูที่ผ่านมาเท่านั้น ขอให้ท่านผู้อ่านหรือดูตำหนิของพิมพ์พระเพิ่มเติมอีกด้วยตัวเอง ก็จะดูพระได้ดียิ่งขึ้นครับ …สวัสดีครับ
คัดลอกจากนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร ฉบับ 214