เกร็ดชีวิตคนดัง

คุณพิศาล เตชะวิภาค (อ.ต้อย เมืองนนท์) รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย

%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%a8%e0%b8%b2%e0%b8%a5-%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%8a%e0%b8%b0%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%84-%e0%b8%ad-%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad

คุณพิศาล เตชะวิภาค (อ.ต้อย เมืองนนท์)
รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย

บทสัมภาษณ์ เมื่อเดือนเมษายน 2543 โดย จ่าโกวิท แย้มวงษ์

          คุณพิศาล เตชะวิภาค หรืออาจารย์ต้อย เมืองนนท์ เกิดวันที่ 22 เดือนเมษายน 2493 ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยคนที่ 1

          อาจารย์ต้อยเคยเล่าให้จ่าโกวิท แย้มวงษ์ ฟังว่า ท่านชอบพระมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กอายุประมาณ 7-8 ขวบ เพราะนั่งดูคุณพ่อและเพื่อนๆพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ คุณพ่อและเพื่อนคุณพ่อเป็นข้าราชการจะนำพระกรุต่างๆมาแลกเปลี่ยนกัน กว่าจะแลกกันได้แต่ละองค์นั่งตกลงพูดคุยกันเป็นกลุ่มๆเลย จึงทำให้อาจารย์ต้อยเกิดความรู้สึกว่าได้คลุกคลีกับพระมาตั้งแต่เด็ก คิดและฝังใจมาโดยตลอดว่าพระกรุนี้หายากมาก
อาจารย์ต้อยได้เริ่มเข้าสนามพระเครื่องตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียนเลยเมื่อประมาณปี 2506 ถึง 2507 ช่วงนั้นอายุประมาณ 13-14 ขวบเท่านั้น พอโรงเรียนเลิกแล้วเพื่อนๆ อ.ต้อยส่วนมาก จะเข้าไปดูหนังกันต่อแต่อาจารย์ต้อยไม่ไปกลับเข้าไปในสนามพระเครื่องแทนเพื่อไปดูพระเครื่องต่างๆ พอได้เห็นก็เกิดความรักและประทับใจจนขอเขาดูบ้าง แอบยืนดูเฉยๆบ้าง แล้วก็มีเพื่อนอยู่กลุ่มหนึ่งเหมือนกันที่ชอบการเล่นพระเครื่องก็จะเอาพระมาดูมาอวดคุยกันแต่เรื่องพระเครื่อง

          ชีวิตที่เริ่มต้นเข้าสู่วงการพระของอาจารย์ต้อยเมืองนนท์นั้นก็เริ่มต้นซื้อเก็บสะสมพระกรุตามคุณพ่อ แต่ที่ซื้อขายเริ่มต้นจากพระวัดปากน้ำ สมัยนั้นองค์ละ 100-200 บาทซื้ออย่างเดียวซื้อเก็บไว้เรื่อยๆจนกระทั่งมีคนมาขอแบ่งให้ราคาองค์ละ 300 บาทก็เลยแบ่งให้ไป อ.ต้อยบอกว่าตอนนั้นรู้สึกมีความภูมิใจและดีใจที่ซื้อเอาไว้แล้วขายออกไปได้กำรี้กำไร

          อาจารย์ต้อยเล่าว่าการเข้าสู่สนามพระเครื่องยุคนั้นต้องมีครูบาอาจารย์ เพราะหนังสือพระเครื่องยังไม่มีมากมายเหมือนยุคสมัยนี้ อาจารย์ต้อยมีครูบาอาจารย์หลายคนที่มอบความรู้ให้ที่พอจำได้ก็คือ อาจารย์ช่วย (เสียชีวิตนานแล้ว) อาจารย์นิกร ธรรมรัตน์ (เสียชีวิตแล้ว) และหลังสุดที่ได้พบได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้เป็นอย่างมากก็คือ อาจารย์ปรีชา ดวงวิชัย อดีตนายกสมาคมพระบูชาพระเครื่องเหรียญศิลปะวัตถุโบราณคนแรกของไทย ท่านเสียชีวิตไปนานแล้วเช่นกัน จริงๆแล้วอาจารย์ต้อยบอกว่ามีอาจารย์นับ 10 คนแต่จำชื่อไม่ได้แล้วเพราะท่านเหล่านั้นเห็นว่าเป็นเด็กหนุ่มเลยถ่ายทอดวิชาให้ด้วยความเมตตา

          ถามว่าในชีวิตจริงชอบพระประเภทไหนอาจารย์ต้อยก็ตอบกลับมาเหมือนเดิมว่า จริงๆแล้วเริ่มต้นจากพระกรุจากการที่ได้คลุกคลีและเห็นคุณพ่อสะสมแลกเปลี่ยนพระกรุอยู่ทุกวี่วัน ได้หยิบได้ดูเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นพระกำแพงทั้งเนื้อดินและเนื้อชิน จึงทำให้ชอบพระกรุและมีความสนใจศึกษาพระกรุจนชำนาญมากที่สุด ตามด้วยพระยอดนิยมเบญจภาคีซึ่งก็มีความชำนาญไม่แพ้กัน ส่วนที่ไม่ค่อยถนัดก็คือเหรียญและพระกริ่งเพราะไม่ค่อยได้คลุกคลีมากนักจึงไม่ค่อยแม่นเหมือนพระกรุและพระชุดเบญจภาคี

          อาจารย์ต้อย เมืองนนท์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ถึง น้องๆรุ่นหลังๆที่จะเข้าสู่วงการพระเครื่องว่า ถ้าต้องการเข้าสู่วงการพระตอนนี้มีศูนย์พระที่เป็นมาตรฐานมีเยอะต้องเข้ามาสัมผัสกับเขา หาคนที่พอจะคุ้นๆมาพูดคุยกันให้เขาช่วยแนะนำ รวมถึงตอนนี้ก็มีสื่อดีๆหนังสือพระนิตยสารต่างๆตอนนี้ใช้ได้หลายเล่มศึกษาก่อนว่าพิมพ์พระที่เราชอบเป็นอย่างไร พิมพ์ทรงอย่างไร เรียกชื่อว่าอะไร ศึกษาให้ดีเสียก่อนและควรมีเวลาศึกษามากพอสมควร

การเล่นพระอย่าไปเล่นคนเดียวเล่นพระต้องเล่นตามหลักสากล ดูว่าวงการพระเขาเล่นอย่างไรไม่ใช่ว่าเราจะเล่นตามแบบเราชอบอยู่คนเดียว เราต้องดูด้วยว่าพระที่เราชอบนี้เขาเล่นไหมวงการเขาเล่นกันไหม เข้าหลักสากลไหม เขาเล่นกันอย่างนี้ไหม ไม่ใช่ว่าทั่วไปเขาเล่นกันอีกแบบหนึ่งแต่ตัวเองมีอีกแบบหนึ่งก็ว่าของตัวเองดี ขอให้ยึดหลักสากลเอาไว้เป็นการดีที่สุดในการเล่นหาสะสมพระเครื่อง

          นี่ก็เป็นคำแนะนำเล็กๆน้อยๆจากอาจารย์ต้อย เมืองนนท์ รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ที่เคยสัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2543 ซึ่งปัจจุบันเซียนพระรุ่นหลังๆ ได้ยึดท่านเป็นแบบอย่าง หลายคนที่เคยได้ใกล้ชิดท่านต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า อาจารย์ต้อย เมืองนนท์ คือบุคคลต้นแบบในแวดวงพระเครื่องอย่างแท้จริง!

0 Comments

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*

WordPress Image Lightbox