โจ้ มหาเฮง ประธานฝ่ายประสานงานสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด
- จุดเริ่มต้นทำให้สนใจพระเครื่อง
“ก่อนจะมาเล่นพระ ผมเป็นพนักงานโรงงานมาก่อน ในช่วงวัยสักประมาณ 15-16 ปี มีโอกาสเห็นรุ่นพี่ๆ เขาขายพระหน้าโรงงาน ด้วยความที่ตัวเราอยากมีรายได้เสริมก็เลยเข้าไปสอบถาม แล้วลองไปหัดนั่งขายพระ
เหมือนพี่ๆ เขา นี่คือจุดเริ่มต้นที่สนใจพระเครื่องครับ”
“ซึ่งทีแรกที่ผมมาขายพระ ผมก็ไม่ได้ศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจังนะครับ พระแท้หรือไม่แท้ก็ไม่รู้ เน้นซื้อขายพระตามกระแส เหมือนยุคจตุคาม ได้มามีกำไลก็พอแล้ว เรียกง่ายๆ ก็คือเข้ามาแบบพ่อค้าครับ ขอแค่ขายได้วันละ 200-300 ก็ถือเป็นกำไรแล้ว”
- อะไรคือจุดเปลี่ยนให้ศึกษาพระเครื่องจริงจัง
“ผมมาเริ่มสนใจศึกษาพระเครื่องจริงๆ จังๆ น่าจะตอนอายุประมาณ 20 ปีครับ ตอนนั้นได้รู้จักกับ พี่นัย ไอยรา แกเป็นคนบ้านเดียวกันคือจังหวัดอุบล แกเลยแนะนำว่า ให้ศึกษาใหม่ เปลี่ยนวิธีการเล่นใหม่ เพราะสิ่งที่เราดำเนินอยู่มันผิดหลัก โจ้เล่นพระแท้ที่เป็นมาตรฐานสากลนิยมดีกว่า พอผมฟังก็คิดว่าก่อนหน้านั้นผมเล่นพระมาผิดทางจริงๆ จึงล้มกระดาน เริ่มต้นใหม่ด้วยการล้างหน้าไพ่ตัวเองใหม่ทั้งหมด ลบวิธีการเก่าๆ ล้างออกไปแล้วมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยศึกษาจากพระในจังหวัดก่อนเพราะเป็นพระใกล้ตัว เช่น พระกริ่งจอมสุรินทร์ พระกริ่งศรีอุบล เหรียญหลวงปู่ญาท่านสวน เหรียญหลวงปู่ทา รุ่นแรก และเหรียญพระครูวิโรจน์ รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง โดยเริ่มศึกษาจากองค์ประกอบพระก่อน เฮีย(นัย ไอยรา) ก็ ให้เราซื้อพระแท้มาศึกษา คอยชี้แนะผมว่าเหรียญแท้เป็นแบบนี้นะอะไรแบบนั้นครับ พอเราได้ความรู้แล้วก็ปล่อยออกไปโดยการแบ่งปันพระแท้ ซึ่งเราอาจจะปล่อยได้เท่าทุนเสมอบ้าง ขาดทุนบ้างแต่เราได้ความรู้ นี่คือการแนะนำที่ผมคิดว่าเป็นวิธีการที่ถูกหลักสามารถมาประยุคใช้ได้กับนักศึกษาพระใหม่ได้เลยครับ เพราะการที่เราซื้อพระแท้ ก็เหมือนกับเราซื้อตำรา 1 เล่มครับ เมื่อศึกษาจากสิ่งที่ถูกต้องเราก็จะไม่หลงทางไม่หลงผิด นี่คือจุดเปลี่ยนและเป็นจุดสตาร์ทเริ่มต้น เข้ามาศึกษาพระเก่าของผม โดยเริ่มจากพระบ้านเกิดแล้วมีผู้หลักผู้ใหญ่คอยแนะนำ คอยเป็นครูให้เราอีกครั้งหนึ่งครับ”
- เข้าสู่เส้นทางของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
พอศึกษาพระเก่าไปได้สักระยะ พี่นัย ไอยรา แนะนำให้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ เพราะพี่เค้าเป็นคนที่ค่อนข้างกว้างขวางในวงการท่านหนึ่ง ตอนนั้นผมศรัทธาพระเกจิอยู่รูปหนึ่ง คือ หลวงปู่เฮง ปภาโส จังหวัดสุรินทร์ แล้วมีความคิดว่าอยากสร้างวัตถุมงคลของท่านมารุ่นหนึ่ง ให้คณะศิษย์ที่ศรัทธาได้สะสม ได้มีวัตถุมงคลสวยๆ เก็บบูชา ผมอยากนำวัตถุมงคลรุ่นนั้นเปิดสั่งจองที่บนห้างพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน โดยประสานไปทางพี่นัย ไอยรา พี่เหน่ง มรดกไทย ซึ่ง ณ ตอนนั้นผมยังไมได้สนิทกับพี่เหน่ง มรดกไทย และพี่นี สะพานใหม่ อีกท่าน ที่ช่วยได้ประสานงานให้ผมได้ไปเปิดสั่งจองวัตถุมงคล รุ่นเจ้าสัว หลวงปู่เฮง ที่นั่น ซึ่งการจองพระครั้งนั้นถือว่าจุดพีคมากเป็นรุ่นแจ้งเกิด โจ้ มหาเฮง ทำให้ได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมฯ และได้เข้ามาสู่บ้านหลังใหญ่ที่อบอุ่นภายใต้ร่มของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ผมใฝ่ฝันอยากจะเข้าร่วมเป็นบุคลากรของสมาคมฯ เพราะสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบุชาไทย เป็นองค์กรที่มีเกียรติ เซียนพระทั้งในประเทศและต่างประเทศให้การยอมรับ ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งภายหลังจากครั้งนั้น ผมก็ได้ทำงานร่วมกับพี่นี สะพานใหม่ พี่เหน่ง มรดกไทย หลายครั้ง จนเริ่มสนิทกัน กระทั่งเดินมาถึงฝันคือๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ที่มีป๋าพยัพ คำพันธุ์ เป็นนายกสมาคมฯ ครับ”
- ความรู้สึกหลังจากได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
“ต้องบอกว่าอบอุ่นมากๆ ครับ ในงานประกวดพระทุกครั้ง เราจะเห็นพี่น้องเรา เดินทางไปช่วยงานประมูล และเป็นกรรมการตัดสินพระ รวมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น โต๊ะแดง แผงจรยุทธ หรือคนเล่นพระก็จะมารวมกันเยอะถือเป็นภาพที่หาดูยากมากครับ ที่จะรวมคนชื่นชอบพระเครื่องจากทั่วประเทศไว้ในหนึ่งงาน ต้องยอมรับว่าสมาคมฯ การจัดงานแต่ละจังหวัดเป็นมาตรฐานสากลมากถึงมีผู้ให้การตอบรับมากขนาดนี้”
- เข้ารับตำแหน่ง
“ผมเริ่มรับตำแหน่งแรก คือเป็นคณะกรรมการรับและตัดสินพระประจำโต๊ะหลวงปู่เฮง ปภาโส ก่อนครับ เวลามีงานประกวดพระฯ ก็จะเข้ารับพระตัดสินพระ ไปช่วยงานแบบนี้มาราวๆ 5-6 ปี ผู้หลักผู้ใหญ่ก็เห็นความสามารถ และสนับสนุนให้เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดจะเป็นงานประกวดพระที่เชียงใหม่จัดโดย พี่โจ๊ก ลำพูน คณะผู้บริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย โดยการนำของ ป๋าพยัพ คำพันธุ์ ได้ประกาศแต่งตั้งให้ผมเป็นประธานฝ่ายประสานงานสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอน ล่าง ดูแลร่วมกับ พี่ศิลป์ เมืองทอง ซึ่งมี 20 จังหวัด ป๋าได้เมตตาแบ่งให้ผมดูแล 10 จังหวัด กับพี่ศิลป์ เมืองทองครับ”
“และไม่นานนี้ พี่ศิลป์ เมืองทอง ก็เติบโตขึ้นไปรับตำแหน่งอุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย มีตำแหน่งว่าง ป๋าพยัพ คำพันธุ์, ป๋าต้อย เมืองนนท์, พี่โอ๋ กันตนา คณะผู้บริหารสมาคมฯ ทุกท่าน ผู้หลักผู้ใหญ่ ร่วมถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ชาววงการพระหลายคน ก็ได้เป็นกำลังหลักเป็นแรงเชียร์ ให้ผมก้าวขึ้นมาเป็น ประธานฝ่ายประสานงานสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดูแลครอบคลุมหมดทั้ง 20 จังหวัดครับ ซึ่งผมก็รับปากว่าจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดครับ”
- มีอะไรแนะนำให้เล่นพระ
ต้องแบ่งเป็น 2 ช้อยส์ ช้อยแรกสำหรับเซียนพระเก่า ในยุคตั้งแต่ 2500 ขึ้นไป ผมอยากแนะนำว่าให้เราเลือกจากที่เราศรัทธา แล้วซื้อพระแท้มาศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เราจะไม่ถูกหลอก ตาจะไม่เพี้ยน และเราจะได้ไม่เดินผิดเส้นทางแต่แรกเริ่มครับ ง่ายๆ
อีกช้อยส์คือการศึกษาพระใหม่ ผมอยากแนะนำคนที่กำลังจะก้าวเข้ามาเล่นพระใหม่ว่า ปัจจุบันมีตัวเลือกมากครับ ถ้าคนที่อยากเข้ามาเพื่อสร้างรายได้ พระใหม่คือคำตอบในยุคนี้เพราะเล่นง่าย ทันยุค ศึกษาสะสมได้ง่ายมากกว่าพระยุคเก่า ให้เริ่มจากสิ่งที่เราปรารถนาอย่างตั้งใจ อย่างสมมติของผม ทุกวันนี้ผมศรัทธาพระอาจารย์ต้อม ผมก็จะเข้าไปศึกษาพระเครื่องของพระอาจารย์ต้อม ในแต่ละยุคแต่ละรุ่นมีอะไรบ้าง แล้วนำมาหาข้อมูลเรียนรู้ว่าวัตถุมงคลแต่ละรุ่นมีตำหนิ และพิมพ์ทรงเป็นอย่างไรบ้าง ศึกษาจากตัวเราเอง ศึกษาจากวัตถุมงคล ศึกษาจากพระเครื่องที่แท้”
- สร้างพระเครื่องของพระอาจารย์ต้อม วัดท่าสะแบง
“ผมมีโอกาสได้ถวายงานท่านจากความศรัทธาเป็นจุดเริ่มครับ ตอนนั้นประมาณปี 61-62 ผมเล่นเฟสแล้วไปเจอเหรียญจักราของท่าน ซึ่งน้องแมนชัย สมปรารถนา โพสไว้ในเฟส เห็นรอยจารเต็มเหรียญและตัวเล็กมากๆ ก็สงสัยว่า มนุษย์เราสามารถจารอักขระได้แบบพิถีพิถันละตัวเล็กมากจริงเหรอ? ก็เลยสอบถามว่าท่านเป็นใคร? น้องเขาก็บอกว่าเป็นพระอาจารย์ผมเองครับพี่โจ้ ชื่อพระอาจารย์ต้อม อยู่ที่ท่าสะแบง จังหวัดร้อยเอ็ด จากนั้นมาเราก็เกิดความศรัทธาเดินทางไปหาท่านที่วัด เข้าไปช่วงแรกท่านไม่เปิดตัวเลย ไม่ให้ถ่ายรูปไม่ให้มีสื่อออกเลย ท่านปิดตัวเองมากในช่วงแรก ทุกอย่างท่านจะระวังตัวอยู่ตลอด ท่านบอกว่าท่านไม่อยากวุ่นวาย จนไปบ่อยๆ ก็รู้สึกคุ้นเคยจนสนิทกัน ท่านถึงยอมให้เราถวายงานท่าน จึงเป็นที่มาในการสร้างวัตถุมงคลของพระอาจารย์ต้อม มาเผยแพร่บารมีที่ส่วนกลางคือห้างพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน ซึ่งตอนที่ผมสร้างเหรียญท่าน ผมทำเหรียญหล่อ รศ.240 ทิพมลรุ่นแรกเอามาเปิดจอง พี่ๆ บนห้าง บนสมาคมฯ ก็งงว่าไปสร้างได้ยังไง พระหนุ่มก็หนุ่ม ยังไม่เป็นที่รู้จักและยังไม่มีกระแสในสื่อโซเชียลด้วยซ้ำ”
“แต่ปรากกฎว่า พอผมเปิดสั่งจองก็ได้รับการตอบรับมาก หลังจากนั้นมาท่านก็เป็นที่รู้จักคนก็เริ่มสนใจเพราะเหรียญที่ท่านจารนั้น จารมือเองและตัวเล็กมาก แล้วพระเครื่องของท่านก็เข้าสู่งานประกวดพระ งานประมูลพระ ทุกคนต่างพูดถึงพระอาจารย์ต้อมกันอย่างกว้างขวาง และเร็วๆ นี้พระอาจารย์ต้อม ท่านก็เมตตากับทางสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย โดยการจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นหนึ่งขึ้นมา เพื่อมอบให้กับทางสมาคมฯ เป็นรางวัลในงานประกวดที่จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2568 จัดที่กรุงเทพฯ ครับ แต่ก่อนจะมีงานสมาคมฯ ก็จะเป็นงานประกวดพระฯ ที่ผมเป็นประธานดำเนินงานก่อน ซึ่งผมก็คอยช่วยงานเพื่อนพ้องน้องพี่มาตลอดระยะเวลาจะ 10 ปี ก็อยากจะจัดงานประกวดพระขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์พระเก่า และเผยแพร่พระใหม่ จึงจัดงาปนระกวดพระขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2567 เชิญชวนพี่ๆ น้องๆ แล้วก็พี่น้องชาววงการพระเครื่องทุกท่านช่วยเป็นกำลังใจให้ด้วย แล้วก็ไปส่งพระกันเยอะๆ นะครับ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด สาเกตฮออล์ ศูนย์แสดงสินค้าของจังหวัดร้อยเอ็ดครับ”
ก่อนจากกันท้ายนี้ โจ้ มหาเฮง ได้ฝากถึง รุ่นน้องที่อยากจะประสบความสำเร็จในแวดวงพระเครื่อง ว่า “ความจริงใจและมีความตั้งใจคือหัวใจสำคัญของเซียนพระ ขอให้ใช้ใจนำทางแล้วลงมือทำ หัวใจเท่านั้นครับ ที่จะสามารถนำท่านสู่ความสำเร็จ”