“จริงๆ ผมเริ่มสนใจพระเครื่องมาตั้งแต่ ป.6 แล้วครับ สมัยก่อนที่บ้านมักจะได้ยินเรื่องเล่าว่ามีคนโดนยิงไม่เข้าแล้ว ผมก็ถามปู่ว่าทำไมกำนันโดนยิงไม่เข้า ผู้ใหญ่บ้านโดนยิงไม่ตาย ปู่ก็บอกเขาห้อยหลวงพ่อเงิน ก็เลย เอ้…ทำไมหลวงพ่อเงินเก่งจัง ในความคิดเด็กๆ ตอนนั้นนะ ทำไมใครที่ห้อยถึงยิงไม่ตายอะไรประมาณนี้ ก็อยากรู้อยากเห็นตามวิถีเด็กๆ และด้วยความที่บ้านz,อยู่ห้วยขวาง โพทะเล พิจิตร ญาติพี่น้องก็มีพระเครื่อง มีเรื่องเล่านั่นนี่ เลยมีโอกาสศึกษาจากจุดเล็กๆ ในเรื่องของพุทธคุณ อิทธิปาฏิหาริย์นี่ล่ะครับ”
ไก่ ตะพานหิน หรือชื่อจริง วิษณุ แย้มฤทธิ์ เล่าให้นักข่าวนิตยสารพระเครื่องอภินิหารฟัง จากที่ถูกถามถึงเรื่องราวที่เป็นมูลเหตุให้เริ่มเข้าสู่เส้นทางสายพระเครื่องเต็มตัว จนบัดนี้เป็นที่รู้จักจากนักนิยมสะสมพระเครื่องทั่วประเทศ นักส่งพระเข้าประกวดต่างคุ้นหน้าคุ้นตามักประจำจุดรับพระโต๊ะรูปหล่อยอดนิยม และพระเครื่องจังหวัดพิจิตรทุกงานประกวด
ไก่ ตะพานหิน ปัจจุบันเป็นเซียนพระที่มีความชำนาญพระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ทั้งยังเป็นคณะกรรมการรับและตัดสินพระโต๊ะรูปหล่อยอดนิยมของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ก่อนจะมาเป็นเซียนที่มีชื่อเสียงได้นั้นต้องสั่งสมความรู้ วิชาความสามารถ รวมทั้งลองผิดลองถูกมามากมาย สร้างชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับ ซึ่งเส้นทางสายพระเครื่องของไก่ ตะพานหิน จะเป็นอย่างไรนั้น อ่านในบทสัมภาษณ์ได้เลยค่ะ
“พระเครื่องที่เริ่มศึกษาเลยคือ พระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานครับ ถามว่าเริ่มจริงๆ นั้นตอนไหน… ถ้าให้นึกย้อนกันจริงๆ ละก็ คงเป็นตั้งแต่ตอน ป.6 โน่นเลยครับ ด้วยความเป็นเด็กวัดขวาง โพทะเล พิจิตร ก็ได้ยินเรื่องหลวงพ่อเงินมาอยู่ตลอด แต่ตอนนั้นเป็นเพียงการอยากรู้ทั่วไปก่อนว่าทำไมหลวงพ่อเงินถึงดัง ถึงเป็นที่รู้จัก ตกเย็นเลิกเรียนเด็กคนอื่นเขาไปปั่นจักรยานเที่ยวเล่น ผมก็คอยติดสอยห้อยตามปู่ไปตามบ้านญาติที่เขามักเอาพระเครื่องมาอวดกัน มาคุยกันก็ไปฟังผู้ใหญ่คุยกัน ถามบ้างส่องดูบ้างไปเรื่อยครับ จนเมื่อโตขึ้นมาสักหน่อยทีนี้ก็เริ่มมีหนังสือ ก็เอาพระของปู่ของญาตินั่นล่ะมานั่งดูเทียบกับหนังสือ ก็เรายังเด็กทุนทรัพย์จะซื้อพระมาดูเองก็ไม่มีก็ต้องใช้วิธีนี้ละครับ”
“ศึกษาแบบนี้มาจวบจนเรียนจบช่างก่อสร้าง ก็ไปทำงานออกแบบเขียนแบบ เปิดร้านป้ายโฆษณา ทีนี้เราเริ่มมีทุนแล้ว ก็เริ่มซื้อพระมาดูมาศึกษาครับ ซึ่งการเอามาศึกษาของผมนี่ก็ใช้วิธีซื้อพระมา เทียบจากหนังสือเหมือนเดิมก่อน ช่วงแรกจะเป็นแบบนี้ก่อน แล้วก็ลองเอาไปขาย จากนั้นก็ขยับมาซื้อมาส่องแล้วขายเป็นอยู่แบบนี้จนได้เดินตลาดพระตามงานประกวด เห็นว่าสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยเขามีงานประกวดพระซึ่งจะมีเซียนพระทำหน้าที่คอยรับและตัดสินอยู่ ก็ลองเอาพระไปเข้าประกวด จนมีโอกาสได้รู้จักกับพี่ใจ ตะพานหิน เราอยากเป็นพระ อยากเป็นเซียน อยากเป็นคณะกรรมการ ผมก็บอกพี่ใจไปตรงๆ เลย พี่ใจก็เลยชวนให้มาลองเดินตามเขาดู ดูว่าเขาดูพระยังไง เล่นยังไง รับพระแบบไหน ตามอยู่แบบนั้นนานหลายปีทีเดียว น่าจะราวๆ 3-4 ปีโน่นล่ะ ถึงได้รับความไว้วางใจให้เรามาเป็นคณะกรรมการรับและตัดสินพระเครื่อง โต๊ะรูปหล่อยอดนิยม จนทุกวันนี้ ผมยังจำงานแรกที่เป็นกรรมการได้เลย งานนั้นจัดที่ระยองจากวันนั้นจนวันนี้ก็ 6-7 ปีแล้วครับแต่จำไม่เคยลืม”
เมื่อถามถึงหลักในการศึกษาพระเครื่อง ของไก่ ตะพานหิน ว่าใช้วิธีศึกษาอย่างไร เซียนหนุ่มยิ้มง่ายก็บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า
“หลักในการศึกษาแรกๆ ง่ายๆ ของผมเลยนะ หนังสือพระนี่แหละครับ แต่หนังสือเนี่ยพอเราดูแล้วไม่ใช่ว่าจะสามารถซื้อขายหรือดูขาดชี้เก๊-แท้ได้เลยนะ จะเป็นพระต้องดูองค์จริงดูเนื้อดูผิวร่วมด้วย หนังสือนั้นเอามาเป็นหลักได้เป็นเพียงบางส่วนไกด์ไลน์ให้เรา จากนั้นก็ซื้อครับ ซื้อพระองค์จริงซึ่งตรงนี้ขอย้ำเลยว่าต้องแท้นะ พระที่ซื้อมาดูให้แท้แต่ครั้งแรกเลยอย่าเพิ่งไปซื้อสะเปะสะปะเอามาศึกษา ไปหาซื้อจากเซียนพระที่เขาชำนาญชอบสายไหนไปหาคนนั้นเลย แล้วบูชามาแพงหน่อยแต่ชัวร์ เอามาส่องเอามาดู… ดูให้ชินตาจดจำให้ดี เพราะคนที่จะเล่นพระความจำต้องดี ต้องรู้จักสังเกต ถ้าจะเป็นเซียนจำไม่ได้คือพลาดเลยนะครับ”
“พอได้ระยะเวลาหนึ่งที่เริ่มมั่นใจก็ลองไปลองหาซื้อตามบ้าน หรือเดินตลาดพระดูเพื่อเป็นการทดสอบภูมิความรู้เทสว่าเรามีความชำนาญมากน้อยแค่ไหนทดสอบตัวเอง ลองเฟ้นหาจากในกองที่เขาวางขายนั่นล่ะ ที่เขาเรียกกันว่าหาของฟลุ๊คของหลงนั่นล่ะ แต่คนที่จะได้ของฟลุ๊คได้นั้นคือคุณต้องเก่งพระในระดับหนึ่งเลย เพราว่าในกองเอาง่ายๆ น้อยๆ ก่อน สมมติมีพระอยู่ 10-20 องค์ แต่มีองค์แท้เพียงองค์เดียวในนั้น ถ้าเราไม่เก่งจริงก็ไม่สามารถหยิบเอาองค์แท้ออกจากกองได้ ซึ่งถ้าเราไม่ชำนาญแน่นอนว่าตาร้ายก็เสีย… แต่อย่าตกใจไปใครๆ เขาก็เคยครับ เซียนหลายคนทุกคนเคยผ่านเรื่องแบบนี้มาทั้งนั้น ไม่มีใครหรอกที่ช่วงศึกษาไม่เจอของเก๊ เจอกันหมดแหละครับ แต่พอเราโดนเก๊แล้วนั้นถอดใจไหมหรือจะสู้ต่อ ถ้าสู้ต่อก็เอาองค์เก๊นั่นล่ะมาเป็นเครื่องย้ำเตือนว่าต่อไปต้องศึกษาให้มากกว่านี้ ก็กลับไปวนลูปเหมือนเดิมที่ซื้อพระจากเซียนนี่ล่ะ เอามาส่องเอามาดูอีก”
“การซื้อพระเซียนนี่ผมอยากจะบอกให้เลยว่า ถ้าคุณอยากเป็นพระอย่าไปเสียดายเงิน อย่าไปคิดเรื่องซื้อขายก่อนให้คิดไว้เลยว่าการซื้อพระมาศึกษากำไรคือความรู้ที่คุณจะได้จากพระองค์นี้ อย่าไปคิดว่าซื้อเซียนต้องแพง แน่นอนซื้อเซียนพระแพงแน่นอน แต่แพงของเขานี่มีที่มาครับ หนึ่งเซียนพระเขาต้องศึกษา สั่งสมความรู้สร้างตัวตนสร้างเครดิตซึ่งระยะเวลานี่ไม่ใช่น้อยๆ อีกอย่างพระจากเซียนถ้าคุณเอามาส่องจบแล้วอยากขายคืนเขาก็รับซื้อหักเปอร์เซ็นยังไงก็แล้วแต่จะตกลงกัน หรือจะไปขายที่อื่นก็ได้ บางทีก็อาจจะได้ราคามากกว่าตอนซื้อไปส่องไปดูอีก นอกจากนี้นะครับผมจะบอกให้เลยซื้อกับเซียนพระเขามีการันตีให้คุณ การันตียังไงคือถ้าสมมติเอาพระที่ซื้อจากเขาไปเช็คกับสมาคมฯ ถูกตีกลับมาว่าเก๊ เซียนเขายอมคืนเงินให้คุณนะครับ ความแพงของเขาก็มาจากจุดนี้ คุณไปซื้อคนทั่วไปเขายอมคืนเงินให้ไหม? ขายคืนเขาซื้อคืนหรือเปล่า? นี่ล่ะคือเหตุผลว่าทำไมซื้อพระจากเซียนถึงแพง ทุกอย่างมีราคาครับความรู้ก็เช่นกัน อยากเป็นพระแต่ไม่ซื้อพระแท้มาดูเลยก็ไม่ได้ จะดุจากโซเชียลจากหนังสือมันไม่ทำให้เราเป็นไวหรือชำนาญเท่ากับเอาพระองค์จริงๆ มาดูหรอกครับ”
“อ้ออีกอย่างพระที่ซื้อจากเซียนนี่ก็ต้องดูที่ว่าเป็นเซียนจริงๆ นะครับ หมายถึงว่าต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือ มีการการันตี ถ้าให้แนะนำก็ซื้อกับกรรมการรับและตัดสินพระของสมาคมฯ ก็ได้ครับ เพราะสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยนั้นเป็นสากล คนที่จะเป็นกรรมการจะต้องเล่นพระตามหลักสากล ได้รับการยอมรับ ซื้อขายเป็นมาตรฐาน พระแท้ต่อให้ขายที่ไหนก็ต้องมีคนซื้อ ไม่ใช่ซื้อจากเขามาแล้วไปขายที่อื่นไม่รับ พอมาขายคืนก็ไม่รับซื้อคืน แบบนี้ก็ไม่ได้นะครับ เงินแท้พระก็ต้องแท้ ซื้อกับเซียนพระมาตรฐาน พระแท้ต้องมีคนซื้อ เซียนที่ดีก็ต้องกล้าการันตีด้วยจำไว้”
“อีกอย่างบางคนที่เข้าวงการพระเพื่อซื้อขายอย่างเดียว เห็นเม็ดเงินก็อยากจะเข้ามาลองเล่นหาซื้อขาย ยังไม่ทันได้ศึกษาให้ถ่องแท้ หรือมีพระในมือเก๊แท้ไม่รู้ แต่ที่บ้านเก็บไว้นานแล้วก็จะขายในราคาสูงๆ ยิ่งในโซเชียลสมัยนี้คนลงราคาเท่านั้นเท่านี้ ทีนี้เราได้มาอยากจะขายราคาเท่าเซียนเลยมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าหนึ่งเซียนเขามีความรู้ มีมาตรฐาน มีการการันตี แล้วคุณขายเขาคุณกล้าประกันเขาไหม ประกันแท้ถ้าเกิดเก๊คืนเงินเต็มนะแบบนี้กล้าไหม อย่างพระองค์เป็นล้านเขาซื้อคุณไปแล้วเอาไปเซอร์ไม่ผ่านคุณกล้าคืนเขาเลยไหม เพราะเขายังกล้าซื้อคุณราคาเต็ม เพราะคนที่ซื้อเขาอาจจะไม่ชำนาญพอ แต่อยากได้พระแท้ไปบูชา ถ้าเขาตรวจแล้วเป็นพระเก๊คุณกล้าคืนเขาไหม คนที่ซื้อเพราะเห็นถูกว่าและอาจจะฟังเขาเล่ามาว่าซื้อเซียนแพงอย่าไปซื้อ ผมจึงอยากจะอธิบายให้เห็นชัดเจนครับ นอกจากนี้เซียนเวลาซื้อพระเข้ามานี่พลาดคือพลาดเลยนะครับ ไปขอเงินคืนจากคนที่เราซื้อไม่ได้นะ สมมติซื้อหลวงพ่อเงินของชาวบ้านมาในราคา 2ล้าน 5 คนขายไม่มีใครการันตีให้เราเลยนะ เราต้องใช้ความสามารถของเราซื้อมาถ้าพลาดคือบอกใครไม่ได้เลยนะ ตั้ง 2 ล้าน 5 คือหายไปกับตาเลย… แต่ซื้อกับเซียนคือเจอเก๊คืนพระคืนเงิน มันก็ต่างกันเห็นได้ชัดครับ”
“ทีนี้มาว่ากันต่อที่ศึกษา จากหนังสือ มาเริ่มซื้อพระองค์ครู เริ่มทดสอบตัวเอง ทีนี้ก็เพิ่มพูนความรู้ครับ คุณศรัทธาใคร คนไหนเป็นไอดอลก็เข้าไปหาเลย อยากเป็นพระใจต้องกล้า เข้าไปหา ไปพูดคุย ซื้อพระเขามาศึกษาก่อนก็ได้ สำคัญเลยนะครับ เน้นเลยว่าต้องใจกว้าง เปิดรับฟังอย่าไปดื้อดึงตะบี้ตะบัน มันก็มีนะที่หลายคนเอาไปประกวดงานอื่นมาที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย มีใบประกาศการันตีเลยนะว่าแท้ แต่พอเอามาประกวดในงานสมาคมฯ กรรมการเขาดันออก พอถามเราก็ตอบแต่ไม่รับฟังดึงดันก็ทะเลาะกันมีหลายครั้ง ไม่ยอมรับ ไม่รับฟัง เพราะฉะนั้นจะเล่นพระให้เป็นมาตรฐานสากลคุณต้องใจกว้างยอมรับด้วย ถ้าคุณไม่เชื่อแล้วเอามาประกวดจะด่าเซียนอย่างเดียวไม่ได้ ฟังด้วย… ถ้ามั่นใจไม่เชื่อเซียนก็ลองเอากลับไปขายให้คนที่เขาบอกคุณว่าแท้ดู เขาซื้อไหม? ถ้าไม่ซื้อก็น่าคิดนะครับ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ที่มีป๋าพยัพ คำพันธุ์ เป็นนายกสมาคมฯ นี่ เป็นมาตรฐานสากลสุดแล้วครับ เอามาเซอร์หรือมาประกวดฯ ถ้าจะขายในงานก็มีคนซื้อกันในวันนั้นเลยก็มี”
“ผมจึงอยากฝากเรื่องใจกว้าง เพราะว่าผมเคยมีประสบการณ์ทั้งในมุมคนเอามาประกวดพระฯ และในมุมของคนรับพระเข้าประกวดฯ ไม่เคยบอกที่ไหนเลยนะครับบอกที่นิตยสารพระเครื่องอภินิหารที่เดียว คือช่วงที่เล่นพระใหม่ๆ ผมไปเช่าหลวงพ่อเงินมาองค์หนึ่ง ก็มั่นใจตัวเองในระดับหนึ่งเลย เอาไปประกวดในงานของสมาคมฯ โดยมีพี่ใจ ตะพานหิน นี่ล่ะเป็นคนรับพระ ตอนนั้นคือยังไม่รู้จักพี่เค้า รู้แค่ว่าเป็นกรรมการรับพระเข้าประกวด ส่งไปปุ๊บพี่ใจส่งคืนบอกไม่แท้ ผมนี่แบบไม่แท้ตรงไหน มันใช่เหรอ กรรมการคนนี้เค้าดูพระเราไม่แท้ได้ยังไง ตอนนั้นนะมันมีความรู้สึกนี้จริงๆ ผมเชื่อว่าเป็นทุกคนแหละตอนที่ถูกตีกลับมาแล้วบอกไม่แท้ หน้าชา…พระตั้งหลายตังค์ ถามพี่ใจตอนนั้นฟังนะครับแต่เรามั่นใจตัวเองไง ก็ยังคงสงสัยอยู่จนเมื่อเวลาผ่านไปได้รู้จักพี่ใจอีกครั้งก็ลองถามด้วยใจที่เปิดรับ จนเราย้อนกลับไปดูพระองค์เดิมอีกครั้ง คือรู้เลยว่าพระนี่เก๊ดูง่ายมาก แทบไม่ต้องส่องเลย… เลยต้องกลับคำว่ากรรมการคนนั้นคือพี่ใจ ตะพานหินนี่โคตรเก่งเลย”
“ ส่วนในมุมคนรับพระเองล่าสุด… มีคนมาส่งพระที่โต๊ะรูปหล่อยอดนิยมนี่ล่ะ ผมเห็นแล้วก็ส่งคืนบอกเขาว่ามันไม่ใช่นะครับ เขาก็ไม่เชื่อพออธิบายก็ไม่รับฟังจนต้องให้เซียนพระรุ่นพี่หลายคนมาดู มาช่วยกันอธิบายอีกก็พระไม่แท้ดูกี่ตามันก็ไม่แท้ครับ ถ้าแท้ยังไงก็แท้… คือก็อธิบายกันอยู่นานไม่รู้เขาจะฟังไหมนะครับ เปิดใจครับถ้าคิดจะเล่นพระเป็นสากลต้องใจเย็น ใจกว้างเข้าไว้ครับอย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว นอกจากคุณจะอารมณ์เสียแล้ว ตอนที่เซียนเขาอธิบายคุณอาจจะมีทิฐิแทนที่จะได้รับความรู้กลับก็ไม่ได้อะไรเลยครับ”
นี่คือบทสัมภาษณ์ ไก่ ตะพานหิน ที่ทางทีมงานนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร ได้มีโอกาสพูดคุยกันพอหอมปากหอมคอ ให้ได้เห็นวิธีการศึกษาพระเครื่อง การเดินทางเข้าสู่วงการพระ ที่แตกต่างกันของเซียนแต่ละคน เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางให้กับคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจร่วมกันศึกษา อนุรักษ์พระเครื่องพระบูชาชาเครื่องรางของไทยมากขึ้น
สุดท้ายนี้สำหรับใครที่อยากจะพูดคุยเรื่องพระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน รูปหล่อยอดนิยม ก็สามารถติดต่อ ไก่ ตะพานหิน ได้โดยตรง ที่ 094-830-9653 หรือเฟสบุ๊ค ไก่ ตะพานหิน ค้นหากันได้เลย หรือถ้าอยากจะพบตัวจริงๆ ก็สามารถไปหาได้ที่ ร้านไก่ ตะพานหิน โพทะเล พิจิตร โทรนัดกันตามเบอร์เลยค่ะ หรือถ้าเจอกันที่งานประกวดพระ เซียนไก่ บอกว่าเข้ามาทักทายพูดคุยได้เลย พร้อมให้คำแนะนำ… ซึ่งจากที่ผู้สัมภาษณ์ได้ร่วมนั่งคุยกันพักใหญ่ เซียนไก่ ตะพานหิน อัธยาศัยดี ยิ้มง่าย เป็นกันเองมากค่ะ เข้าหาได้ไม่ยากค่ะ