หลวงปู่บุญยอ ขันติโก วัดเทพนัดดา ตำบล นาหนาด อำเภอ ธาตุพนม จังหวัด นครพนม อริยเวทย์รูปสุดท้ายแห่งสำนักหลวงปู่ญาถ่านหลักคำ
หลวงปู่บุญยอ ขันติโก , หรือท่านพระครูโสภิตพุทธิคุณ ขันติโก พระเถราจารย์ผู้มากด้วยเวทย์คาถาแห่งลุ่มแม่น้ำก่ำ ที่มีประวัติเล่าขานมาอย่างยาวนานถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน จนคนทั่วสารทิศที่มาขอพึ่งบารมีท่าน เกริ่นนามท่านว่า “ญาคูยอเทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำก่ำ” แต่ชาวบ้านในพื้นที่ขนานนามท่านสั้นๆว่า “ญาคูยอผีย้าน” พระผู้มากด้วยไสยเวทย์แห่งลุ่ม “ แม่น้ำก่ำ ” แม่น้ำสายวัฒนธรรมพันปีที่เชื่อมต่อทอดยาวลงสู่ “ แม่น้ำแม่โขง ” แม่น้ำแห่งอาถรรพ์คนอิสาน
หลวงปู่ยอ ขันติโก ถือเป็นผู้สืบทอดสรรพวิชาโบราณรูปสุดท้ายแห่งสำนักวิปัสนากรรมฐานอันเก่าแก่เลื่องชื่อในสมัยโบราณของที่นี่ นั้นคือ “ สำนักที่พักสงฆ์เทพนัดดา ” ที่ “ตาเทพ” ซึ่งเป็นชาวไทลาวได้พากลุ่มคนกลุ่มหนึ่งละทิ้งถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนจาก “เมืองวังอ่างทอง”ประเทศลาว นำพาคณะอพยพย้ายถิ่นข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งรกรากที่นี่เมื่อ 200 กว่าปีที่ล่วงมา จนแผ่ลูกออกหลานกลายเป็นชาวบ้าน “นานากหรือนาหนาด” เขตอำเภอ ธาตุพนม ในปัจจุบัน ตาเทพถือเป็นผู้นำชนเผ่าหรือถ้าภาษาบ้านก็คือ “หมอธรรม” ของลาวนั่นเอง ตาเทพได้นำพาคณะมาจับจองอาณาบริเวณ ณ เขตนี้ ส่วนตาเทพน้นค่อนข้างมีพื้นที่เยอะพอสมควร จึงได้มอบที่ดินส่วนหนึ่งของตนเป็นที่พักสงฆ์ต่อมาจึงมีชือว่า “เทพนัดดา” และค่อยๆพัฒนามาเรื่อยๆจนตำแหน่งทางสงฆ์อันเป็นตำแหน่งสูงสุดก่อเกิดขึ้นครั้งแรกที่นี่นั้นคือ “หลวงปู่ญาถ่านหลักคำ” องค์แรกของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์เกิดขึ้นที่นี้และสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าอาวาสเรื่อยมา จนกระทั่งยุคแห่งความเฟื่องฟูของเวทย์คาถาอันโด่งดังในละแวกนี้กับการมีปราฏิหารย์ต่างๆของวัตถุมงคลต่างๆของหลวงปู่ทองคำเจ้าอาวาสองค์ก่อนที่หลวงปู่ยอตอนนั้นท่านยังเป็นเด็กตัวเล็กๆและมาศัยเที่ยวเล่นในวัดเป็นประจำซึ่งหลวงปู่ก็มีศักดิ์เป็นหลานของท่านด้วย “พระอธิการทองคำ กัลยาโน” กล่าวได้ว่าเป็นผู้มากด้วยเวทย์พุทธอาคมองค์หนึ่งในยุคสมัยนั้นและเป็นผู้สืบสายสรรพวิชาโดยตรงจากหลวงปู่หลักคำองค์ เจ้าอาวาสองค์ก่อน และ ท่านยังมีศักดิ์เป็น “หลวงลุง” ของ หลวงปู่ บุญยอ ขันติโก นั่นเอง
“หลวงปู่ญาถ่าน หลักคำ อริยเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” ผู้สืบทอดสรรพวิชาสาย หลวงปู่ญาคูขี้หอม หรือพระครูโพนสะเม็ก เกจิเรืองเวทย์ฝั่งประเทศลาวที่ข้ามมาบูรณะพระธาตุพนม หลวงปู่ญาถ่านหลักคำ ท่านคือบุคคลสำคัญที่นำความเปลี่ยนแปลงมายังพื้นที่แห่งนี้ และพลิกผืนดินของที่นี้ ให้กลับมาน้อมศรัทธาพระพุทธศาสนาอีกครั้ง “หลวงปู่ญาถ่านหลักคำ” เป็นเพียงชื่อที่เรียกตามยศของพระสงฆ์ที่มีบรรดาศักดิ์สูงในสมัยนั้นเท่านั้น สอบถามหลวงปูบุญยอก็ได้ความว่าชื่อจริงๆนั้น ท่านชื่อหลวงปู่ปัฐา และท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้พร้อมด้วยไสยเวทย์คาถาที่ต่างเป็นที่ยอมรับในสองฝากฝั่งแม่น้ำโขง อันได้แก่เมืองพระธาตุพนมหรือเมืองมรุกขนครในสมัยโบราณกับหัวเมืองริมแนวชายโขง เป็นต้นว่าท่าแขก แขวงคำม่วน และสะหวันนะเขต ในสมัยนั้นท่านก็ไม่น้อยด้อยวิชาไปกว่าผู้ใดเลย ท่านเป็นชาวบ้านแห่งหนตำบลใดไม่ได้มีการกล่าวไว้ เพียงแต่ท่านเป็นผู้นำสรรพวิชาต่างๆมายังถิ่นหนตำบลนี้เป็นองค์แรกไล่ไกล้เคียงกับหลวงปู่ญาคูขี้หอมที่เข้ามาบูรณะวัดพระธาตุพนมเมื่อเกือบสามร้อยปีที่ผ่านมา และได้เผยแผ่สอนวิชาให้ชาวบ้านได้ป้องกันตัวเองในสมัยยามเกิดสงคราม ความไม่สงบในบ้านเมือง ชาวบ้านจึงยกย่องเคารพศรัทธาอย่างมาก จนเป็นที่มาของหลวงปู่หลักคำ คือสมณะศักดิ์ขั้นสูงในสมัยโบราณเทียบได้กับ พระเจ้าแผ่นดิน ของทางโลกนั่นเอง
หลวงปู่ ยอ เดิมท่านชื่อ บุญยอ นามสกุล จันทะวัง เกิดเมื่อวันที่ 13 เดือน ตุลาคม พศ.2473 ที่บ้าน นาหนาด ตำบล ฝั่งแดง(ขณะนั้นยังคงขึ้นตรงกับตำบลฝั่งแดง)อำเภอ ธาตุพนม จังหวัด นครพนม บิดาของท่านชื่อ นาย ชาย จันทะวัง และมารดาท่านชื่อ นาง จอม จันทะวัง เป็นชาวบ้านในตำบล นาหนาด อำเภอ ธาตุพนม ในปัจจุบัน เดิมทีบิดาท่านนั้นเป็นชาวลาวที่อพยพข้ามเข้ามาในประเทศไทยพร้อมๆกับตาเทพ และได้บวชจนถึงได้ขั้นที่ชาวบ้าน เรียก ท่านว่า “จารย์” สำหรับคำว่าจารย์ตามความหมายของคนพื้นถิ่นสมัยนั้นนั่นคือ เป็นผู้มีวิชาอาคมไสยเวทย์ประมาณหนึ่งที่ชาวบ้านให้การยอมรับ จึงจะได้คำว่า จารย์ หรืออาจหมายถึงอีกนัยหนึ่งคือ เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสในจริยวัตรและข้อปฏิบัติอย่างมากของคนพื้นที่จึงได้ตั้งฉายาให้ท่าน ท่านบวชมานานเท่าใดหลวงปู่ยอก็ไม่ได้กล่าวไว้ ทราบเพียงแต่ว่าท่านอพยพข้ามมาจากฝั่งเมืองวังอ่างทองพร้อมตาเทพ ประเทศลาว เรื่องการเรียนอักขระอักษร ขอม ลาว ภาษาธรรมต่างๆที่ท่านอ่านออกเขียนได้ก็ด้วยมาจากบิดาท่านแทบทั้งสิ้นที่ถ่ายทอดให้ท่านสมัยยังมีชีวิตอยู่
คำว่า “ ยอ” ในภาษาถิ่นอิสาน รูปนาม แปล ว่า “ ยกขึ้น” ส่วน “ยอ” รูปกิริยา แปลกว่า “เชิดชู ชมชอบ” สาเหตุที่บิดาของท่านตั้งชื่อให้คำว่า บุญยอ ก็ด้วยว่าหากบุตรชายได้เดินทางโลกก็ขอให้ได้เป็นพ่อค้าม้าค้าควายให้ร่ำรวยเป็นคนมีชื่อเสียงในสังคม แต่หากบังเอิญได้ใฝ่ทางธรรมก็ขอให้หลวงปู่เป็นที่นับหน้าถือตา ในร่มพระบวรศาสนาสืบไป
ดช.บุญยอ จันทะวัง ในสมัยวัยเด็กนั้นถือว่าเกิดในครอบครัวมีฐานะปานกลางมิได้ขัดสนยากจนอะไรมากนัก ทางบ้านยังพอมีการค้าการขายเล็กๆน้อยๆ อาศัยการแลกเปลี่ยนสินค้า หาพืชพรรณธรรมชาติแลกเปลี่ยนซื้อขายตามฤดูหลวงปู่ในวัยเด็กมีนิสัยชอบทำการค้าแต่เด็ก ผิดจากเด็กวัยเดียวกันที่เอาแต่วิ่งเล่นวิ่งซนกันไปวันๆไม่ได้สนใจเรื่องค้าขายแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นเรื่องของคนโตเขา ไว้ค่อยทำเอาตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่สาย ส่วนหลวงปู่นั้นใฝ่และต้งใจเก็บหอมรอมริบอยากเก็บเงินเก็บทองไว้ต่อทุนไปเรื่อยๆ อาทิว่า ไปหาซื้อหาเก็บมะพร้าวมาแกะขาย ช่วยพ่อแม่ทำมาค้าขาย หลวงปู่มักไปตามวัดต่างๆเพราะมีมะพร้าวเยอะหลายต้น จึงค่อนข้างผูกพันกับวัดแต่เด็ก
ดช.บุญยอ จันทะวัง มีความผูกพันธ์กับวัดเทพนัดดาตั้งแต่คราวยังเด็ก ย้อนกลับไปแต่จำความได้ท่านก็ได้เล่าว่า “เมื่อเด็กๆนั้น ก็มาซื้อมะพร้าวที่วัดเทพนัดดานี้แหละบ่อย เพราะต้นมะพร้าวเยอะมาก กว่าจะซื้อหมดวัดก็ใช้เวลาไปหลายวัน” ซึ่งขณะนั้นที่วัดแห่งนี้ ได้มีเจ้าอาวาสที่เป็นหลวงลุงของท่านเอง เป็นเจ้าสำนักสืบทอดจากหลวงปู่ ญาถ่านหลักคำ นั่นคือ “พระอธิการทองคำ กัลยาโน” หรือชาวบ้านมักเรียกท่านว่า “ญาคูทองคำ” ผู้เลื่องชื่อในอำเภอธาตุพนมในขณะนั้น โดยเฉพาะ “ ตะกรุด-ครอบจักรวาล ” ที่มีประสบการณ์เมตตามหาอุตต์และเมตตามหานิยมมากมายมาแล้ว
ในวัยเด็กของเด็กชายบุญยอ จันทะวัง ถือว่าท่านเป็นเด็กฉลาดมากเรียนรู้และท่องจำได้เร็วกว่าเพื่อนๆในวัยเดียวกัน สอบก็ได้อันดับต้นๆเรื่อยมา แม้ท่านจะมีปฏิญาณไหวพริบดีแต่ท่านก็เลือกจบเส้นทางการศึกษาของท่านลงเพียงประถม 4 เท่านั้น แล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน ทำนาตามประสาเด็กในต่างจังหวัด จนท่านได้ย้ายตามพ่อแม่ท่านไปยังต่างอำเภอแล้วก็ย้อนย้ายกลับมายังอำเภอธาตุพนมเช่นดังเดิม
ก้าวย่างเข้าสู่ชีวิตวัยหนุ่มช่วงอายุ 16-17 ปี ท่านก็ได้มีโอกาสไปค้าขายต่างเมืองคือได้มีส่วนไปเปิดหูเปิดตาในอาชีพติดตามนายห้อย ไล่ต้อนวัวควายหรือติดตามรับซื้อไปกับกลุ่มพ่อค้าในละแวกหมู่บ้าน ค่ำใหนนอนนั้นบางทีไปไกลถึงเมืองปราจีนบุรีก็มี เมื่อก่อนสภาพแวดล้อมในสมัยนั้นต้องยอมรับกันทีเดียวว่ามีแต่ป่ารกทึบ ทุ่งก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยหญ้าเขียวขจีไม่เหมือนสมัยนี้ ผิดหูผิดตาไปเยอะ และด้วยที่ท่านต้องเดินทางไปนั้นไปนี่ไกลๆบ่อยๆท่านจึงมีความสนใจในทางด้านไสยเวทย์และคาถาต่างๆ เพราะสมัยนั้นเรื่องพวกนี้มีให้ศึกษาค่อนข้างเยอะ จึงได้เทียวเข้าไปหาหมอธรรมพื้นบ้านหมอไล่ผีตามหมู่บ้านต่างๆในสมัยนั้น ตามความคึกคะนองของวัยรุ่นชนบทที่ชอบเรียนนั่นเรียนนี้ไว้ป้องกันตัว หาเรื่องความคงกระพันบ้างเมตตามหานิยมให้สาวๆหลงบ้าง ท่านเองก็ไม่แพ้หนุ่มๆวัยเดียวกัน ที่เที่ยวไปตามวัย แต่ก็แปลกอยู่อย่างแม้ท่านจะคึกคะนองเพียงใดในชีวิตที่ผ่านมาท่านไม่เคยออกครองเรือนเป็นจริงเป็นจังเลย ท่านได้ติดตามไล่ต้อนวัวควายระยะหนึ่งจึงได้ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเดินทางสู่เมืองอุบลราชธานี เพื่อไปร่ำเรียนหาอาชีพกับเพื่อนฝูงด้วยกันสมัยนั้น ท่านก็ได้อาชีพขับรถเป็นอาชีพทำมาหากินในวัยหนุ่ม จนกระทั่งวันหนึ่งท่านได้มีโอกาสพบ “พ่อขาว หรือหมอธรรมพื้นบ้าน” ที่วัดแห่งหนึ่งท่านเองก็นึกชื่อวัดไม่ได้ ท่านเล่าว่า วันนั้นก็บังเอิญพบพ่อขาวหรือหมอธรรมนี้แหละ ไปกับเพื่อนหลายคน พ่อขาวก็ถามก็ถามว่า “เอามั้ยไอ้หนุ่มของดี” หลวงปู่ก็ไม่ได้รีรอที่จะตอบ “เอาครับ” ตอบไปทันทีแบบนั้นเลย งั้นมามารับครูก่อนแล้วจะสอนให้ ส่วนเพื่อนๆที่ไปด้วยกันนั้นไม่มีใครสนใจเพราะไม่มีใครใฝ่ทางนี้อยู่แล้ว พ่อขาวคนนั้นได้สอนหลวงปู่คือ บารมี 30 ทัศน์ ซึ่งหลวงปู่บอกถือเป็นการเรียนคาถาครั้งแรกของท่านก่อนท่านบวชเลยก็ว่าได้
ความผกผันให้หลวงปู่มาสู่ร่มกาสาวพัฒน์ใต้บวรแห่งพุทธศาสนา กล่าวคือย้อนกลับไปต้นเหตุที่กลับมาอยู่ภูมิลำเนาบ้านเกิดท่านอีกครั้ง วันหนึ่งท่านไปกับเพื่อนของท่านก็ไม่ได้ไกลจากที่พักเท่าไหร่นัก สถานที่นั้นก็เป็นบริเวณคล้ายๆศาลปู่ศาลเจ้าอะไรชักอย่างที่ชาวบ้านนับถือ ตัวท่านและเพื่อนๆเดินผ่านก็ไปเจอ งู ตัวใหญ่มาก นอนขดไข่หรืออะไรชักอย่างแล้วอยู่ข้างริมทางที่ท่านและเพื่อนๆเดินผ่าน แผ่คอชูหัวตะหง่านเหมือนเฝ้าอะไรไว้ชักอย่าง ลักษณะงูยาวและลำตัวใหญ่มากถ้าวัดก็น่าจะมีสองเมตรขึ้น แปลกอยู่อย่างคืองูประเภทนี้เวลาเห็นคนมันต้องรีบเลื้อยหนีแต่ตัวนี้ไม่ใช่กลับชูคอแผ่แม่เบี้ยฟ่อๆตรงนั้น เพื่อนๆท่านเห็นแบบนั้นก็ไม่ได้รีรออะไรเลยหาหยิบไม้บริเวณใกล้ๆนั้นเข้าไปฟาดสามสี่ทีเป็นอันว่าได้อาหารกับแกล้มอันโอชะยามเย็นเป็นแท้มื้อนี้ แต่กับกันหลวงปู่ได้แต่ส่ายหัวว่าไม่น่าทำมันเลย มันก็ไม่ได้ทำอันตรายใดๆแม้ขณะท่านจะปรามห้ามเพื่อนๆแล้ว แต่คงถึงฆาตงูใหญ่ตัวนี้แล้ว ตกเย็นก็ตามที่คะเนไว้ลอกหนังต้มแซ่บงูอย่างอร่อยปาก แต่หลวงปู่ไม่ร่วมวงในมื้อนี้ด้วยเลย แล้วเมื่อชาวบ้านละแวกนั้นทราบเรื่อง ก็บอกกล่าวว่า นั่นมันงูเจ้าที่ทำไมไปทำอย่างนั้น ไม่นานหลังจากนั้น ก็มีเหตุให้เพื่อนๆที่ร่วมวงในวันนั้นแตกคอทะเลาะเบาะแว้งแตกกันไปคนละทิศละทาง และหลวงปู่ก็ได้กลับมาภูมิลำเนาอีกครั้ง และเมื่อท่านมาพักที่บ้านท่านเพื่อรอเข้าไปหางานขับรถทำในกรุงเทพ ก็มีเหตุให้ท่านได้เข้าสู่การครองผ้าเหลืองเสียก่อน เมื่อญาติผู้ใหญ่ท่านมีงานบุญแจกข้าวหาลุงของท่าน บิดามารดาของท่านจึงให้ท่านบวชเข้ากองบุญชัก 15 วัน และเป็นการบวชแทนคุณพ่อแม่ไปในคราวเดียวกันเลย
ไม่มีอะไรแน่ในชีวิตมนุษย์ไม่มีอะไรจะถาวรตลอดไป ไม่มีอะไรจะยั่งยืนเท่าความดี หลวงปู่ตั้งใจแน่วแน่ว่าการบวชครั้งนี้จะบวชแค่เพียง 15 วันเท่านั้น แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างคิด คงมีเหตุปัจจัยในอดีตให้ท่านผกผันสู่ห้วงแห่งแดนพุทธธรรมในวัยหนุ่มเช่นนี้ คือช่วงที่ท่านได้บวชนั้น ได้มีพระอาจารย์ที่เป็นอาจารย์สอนพระปริยัติ ที่วัดพระพุทธบาท บ้านหนองหอย ตำบล พุ่มแก จังหวัด นครพนม ได้ชักชวนให้ท่านอย่าเพิ่งรีบสึก ให้ศึกษาพระวินัยดูก่อนแล้วลองสอบนักธรรมตรี ดูก่อนเผือจะได้เป็นมหาจะได้เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้านและวงศ์ตระกูลก็จะเป็นเกียรติอีกด้วย
หลวงปู่บุญยอ ขันติโก ท่านบรรพชาบวช ณ วัดบ้านหนองหอย ซึ่งอยู่ในอำเภอ นาแก ตำบล พุ่มแก จังหวัด นครพนม ซึ่ง ณ ขณะนั้น “ หลวงปู่ คำพันธ์ โฆษปันโญ “ เปิดสอนพระปริยัติและสอนกรรมฐานแก่พระเณรที่บ้านหนองหอยอยู่ในขณะนั้น “ พระ บุญยอ ขันติโก” จึงได้รู้จัก “หลวงปู่ คำพันธ์ โฆษปันโญ” เกจิที่มีจริวัตรและข้อปฏิบัติงดงามรุปหนึ่งของนครพนม และของประเทศไทยสายหลวงปู่มั่น ก่อนที่หลวงปู่คำพันธ์ จะย้ายไปจำวัดที่วัดธาตุมหาชัยถาวร
ในช่วงนั้นที่ “ พระบุญยอ ขันติโก ” จำวัดที่วันพระพุทธบาทนั้น ชาวบ้านในตำบล นาหนาด ได้เหมารถยนต์ไปสองคันรถ เพื่อไปนิมนต์ท่านกลับมาจำวัดที่วัดบ้านเกิดของท่าน ก็เป็นช่วงประจวบเหมาะที่ท่านกำลังลังเลอยู่เช่นกันว่า จะหนีไปจากวัดนี้หรือจะสึกออกไปแต่งงาน!!! เพราะช่วงนั้นมีสาวหมายปองท่านอยู่และรอให้ท่านลาสิกขา สุดท้ายความสว่างไสวแห่งร่มบวรพุทธศาสนาสว่างเจิดจ้าในห้วงจิตของท่าน จึงตัดกิเลสทั้งมวลแห่งกามคุณย้ายกลับมาจำวัดที่วัดเทพนัดดาในปี พศ.2502 ตามที่ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านมาและแต่งตั้งท่านเป็นเจ้าอาวาสทันที ต่อจากเจ้าอาวาสองค์ก่อนคือหลวงปู่กินรี
เมื่อท่านย้ายกลับมายังบ้านเกิดและเข้ามาดูแลวัดเทพนัดดาตามความประสงค์ชาวบ้าน ท่านก็นำความเจริญกลับมายังวัดแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงนั้นท่านได้มีโอกาสเป็นภิกษุอุปฐากพระเทพรัตนโมลีหรือเจ้าคุณแก้ว อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ท่านได้ทุ่มเทช่วยงานทางวัดพระธาตุพนมอย่างมาก ไม่ว่าจะด้านการประชาสัมพันธ์ต่างๆรวมถึงการเป็นอาจารย์คุมสอบให้แก่สามเณรทั่วไปที่เข้าสอบ โดยเจ้าคุณแก้วให้ความไว้วางใจท่านเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆแทนท่านตลอดมาในช่วงนั้น จนท่านต้องเสียโอกาสสำคัญอย่างที่ท่านตั้งใจไว้ในคราวแรกนั่นคือการสอบนักธรรม ท่านไม่มีเวลาอ่านหนังสือไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ท่านจึงไม่ได้ทำตามความตั้งใจทีแรกของท่านในครั้งนั้น
เมื่อท่านเกิดความเบื่อหน่ายกับการที่ต้องไปนั่นนี่ท่านเลยย้อนกลับหาความต้องการปลีกวิเวก ด้วยการชวนพระรุ่นพี่รูปหนึ่งของท่านออกท่องเที่ยวแต่นั้นมา หลวงปู่ท่านก็ไปนั่นไปนี่บางไปเป็นเดือนก็กลับบ้างก็สองสามเดือนค่อยกลับมา ท่องเที่ยวไปเรื่อยตามประสาพระหนุ่มที่ตั้งใจ เดินรอยตามครูบาอาจารย์ทั้งหลายในห้วงแห่งความเจริญทางพุทธศาสนาเจริญงอกงามในเขตแดนอิสานขณะนั้น
การร่ำเรียนสายวิชาต่างๆ ด้วยโชคชะตาวาสนาผลักท่านให้กลับมาพัฒนาวัดบ้านเกิดของท่าน เพราะที่วัดเทพนัดดาแห่งนี้ หลังจากสิ้นหลวงลุงท่าน คือ พระอธิการ ทองคำ กัลยาโณ ไปก็ไม่ได้มีเจ้าอาวาสองค์ใดอยู่ทนคงอยู่นานได้ชักรูปหนึ่ง ชาวบ้านเห็นว่าท่านเป็นลูกหลานผู้สืบทอดทางสายเลือดหลวงลุงท่าน ก็คงคิดว่าท่านบัดนี้ได้บวชมาในร่มบวรพุทธศาสนาแล้ว ก็อยากให้ท่านกลับมาพัฒนาวัดบูรณะสิ่งต่างๆ และให้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรสืบทอดจาก หลวงลุงของท่าน และท่านคงจะบวชไม่สึกเหมือนหลวงลุงท่าน จึงได้นิมนต์ท่านกลับมา
วัดเทพนัดดา เป็นที่ตั้งสำนักเก่าแก่โบราณที่มีชื่อเสียงในเรื่องวิชาโบราณต่างๆ และบูรพจารย์ที่โด่งดังที่นี้คือ หลวงปู่ ญาถ่าน หลักคำ ผู้สืบสายวิชาสองฝั่งโขงจากหลวงปู่ญาคู ขี้หอม หรือชาวบ้านตั้งชื่อท่านว่า พระครูโพนสะแม็ก ตำนานผู้บูรณะองค์พระธาตุพนม และ “หลวงปู่ หลักคำ” นี้แหละ คือ “พระอุปัชฌาย์ หลวงตาหมี” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม พระครูศิลาภิรัต (หมี)อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมและเจ้าคณะอำเภอธาตุพนมรูปแรกพ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๗๙ คำว่า “หลวงปู่หลักคำ” นี้ ชาวบ้านเรียกติดปากมาตั้งแต่สมัยปู่สมัยย่า เพราะว่าสมณะศักดิ์นี้ถือเป็นสมณะศักดิ์ขั้นสูงของวงการสงฆ์ในสมัยโบราณ ต้องเป็นที่ยอมรับทั่วไปในหัวเมืองเขตปกครองดูแลต่างๆจึงได้มีพิธีฮดสงฆ์ ตั้งแต่ หลาบเงิน หลาบคำ และหลาบคำนี่แหละคือที่สุดของสมณะในสมัยนั้น ผู้ที่ได้ตำแหน่งนี้มาจึงมิใช่ได้มาง่ายๆและต้องมิใช่พระธรรมดา ต้องพร้อมด้วยจริยวัตรข้อปฏิบัติต่างๆร่วมถึงต้องช่วยปัดเป่าชาวบ้านได้และเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวบ้านเคย มีลูกศิษย์จากสำนักวัดแห่งนี้ได้มีวิชาดีติดตัวไปหลายต่อหลายท่าน ในช่วงสมัยก่อนนั้น วัตถุมงคลของที่นี้ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากก็เห็นจะเป็น ทางด้านตะกรุด ผ้ายันต์ และของดีเมตตามหานิยม จนมีเรื่องเล่าจากชาวบ้านหลายๆท่านที่นำของดีวัตถุมงคลที่ของสำนักนี้ไปใช้บูชาติดตัว แคล้วคลาดกับมานักต่อนัก ยิ่งช่วงสมัยสงครามอินโดจีนปี 2508ก็ประจักษ์แก่ชาวบ้านมาแล้วนักต่อนัก
หลวงปู่ บุญยอ ขันติโก ได้รับทรัพย์สมบัติอย่างมหาศาลที่มิใช่เงินทองจากสำนักแห่งนี้ ไม่ว่าจะตำรามนต์คาถาโบราณต่างๆที่เป็นมรดกตกทอดจากบูรพาจารย์ที่ท่านทิ้งไว้ให้ เมื่อหลวงปู่หลักคำมรณะในปี พ.ศ ๒๔๑๑ ท่านก็ไม่ได้ไปเปล่า ท่านก็ทิ้งผู้สืบทอดท่านไว้ อย่าง พระอธิการ ทองคำ กัลยาโณ หลวงลุง ของหลวงปู่ยอ ขันติโก นั่นเอง พระอธิการ ทองคำ มีชื่อเสียงและโด่งดังอย่างมากในยุคนั้นในพื้นที่อำเภอ ธาตุพนม ลูกศิษย์ของท่านต่างเข้ามากราบไหว้แวะแวะให้ท่านช่วยปัดเป่าเคราะห์เข็ญไม่ขาดสาย สืบเนื่องที่ท่านเป็นผู้สืบสรรพวิชาโดยตรงจากหลวงปู่ญาถ่านหลักคำ อดีตเจ้าสำนักองค์ก่อน ที่ชาวบ้านศรัทธาท่านอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว เมื่อท่านยังอยู่ก็ช่วยชาวบ้านแห่งหนตำบลนี้และละแวกใกล้เคียงโดยถึงช่วยทะนุบำรุงศาสนาไม่เคยขาด อาทิเช่นวัดพระธาตุพนมในยุคนั้น แม้หลวงปู่ญาถ่านหลักคำและหลวงพระอธิการ ทองคำ จะมรณภาพไป แต่ สรรพวิชาต่างๆนั้นก็ยังมิได้สูญไปกับท่านทั้งสองแต่อย่างใด ท่านยังมี ศิษย์ท่านองค์หนึ่งได้รับสรรพวิชาต่างๆมาสืบทอดสืบสายและถือเป็นรูปสุดท้าย นั่นคือ หลวงปู่ บุญยอ ขันติโก อริยเวทย์มากอาคมอีกรูปหนึ่งและถือว่าท่านเป็นรูปสุดท้ายแล้วในปัจจุบัน
หลวงปู่ถือเป็นพระหนุ่มที่มีความสนใจทางด้านเวทมนต์ไสยศาสตร์ต่างๆเป็นทุนตั้งแต่หนุ่มๆอยู่แล้ว พอท่านเข้ามาสู่ร่มกาสาวพัฒน์ยิ่งมีโอกาสศึกษาค้นขว้าตำรา หรือเดินทางไปศึกษากับพระอาจารย์ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเดินทางข้างฝั่งประเทศลาวเพื่อไปขอศึกษาสายวิชาในสมัยนั้นกับสายสมเด็จลุน อย่างตำรับวิชามูลกัจจาย
หลวงปู่ช่วงที่ท่านแข็งแรงท่านมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่งคือ ชอบท่องเที่ยวไปตามธรรมชาติปลีกวิเวกชอบเสาะหาหมอธรรม เกจิอาจารย์ ที่ใหนมีวิชาดีหลวงปู่มักดั้นดนไปศึกษา ไปดูก่อนว่าใช่มั้ย จริงมั้ยแล้วค่อยฝากฝังตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ท่านมีสหายธรรมท่านหนึ่งเป็นพระผู้พี่ ท่านทั้งสองชอบชวนกันทิ้งวัดออกธุดงค์ เดินธุดงค์ไปจำที่นั่นที่นี้ ที่ผีดุๆท่านยิ่งชอบไปพิสูจน์ หัวไร่ปลายนา ในป่าช้า ท่านชอบลองของตามประสาพระหนุ่ม เขาแถบ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร หรือแม้แต่ผั่งลาวเลาะชายโขง แขวงคำม่วน สะหวัน หรือลึกกว่านั้นท่านก็เคยไปมาหมดแล้ว ถามลาวตรงใหนท่านตอบได้หมดไม่มีติดขัดเลย บางทีเข้าถ้ำเข้าป่าลึกๆก็ยังไปเห็นพระในถ้ำเยอะแยะมาก ไม่รุ้ใครเอาไปไว้ก็แปลกอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยนำออกมาจากถ้ำเจ้าของเขาหวง สหายธรรมที่หลวงปู่ชอบเดินทางไปด้วยบ่อยๆนั้นต้องยอมรับว่ามีอาคมกล้าเช่นกัน ท่านหนังเหนียวนะ ครั้งหนึ่งมีโจรไปดักปล้นท่านแย่งย่ามท่านไป ท่านไม่ยอมโจรมันก็ใช้มีดที่เตรียมมาเฉือนเข้าที่คอหอย 3-4 ทีนะ ไม่เป็นอะไรเลยมีแค่เพียงรอยถลอกเท่านั้น โจรมันเห็นทำอะไรท่านไม่ได้ตกใจพากันวิ่งหนีกระเจิงไป
ท่องเที่ยวลงใต้ท่านท่องเที่ยวธรรมชาติลงทางใต้ก็ลงไปทาง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พังงา หาดใหญ่ ลัดเลาะไปเรื่อยๆจนถึงมาเลเชียท่านก็ไป บ้างก็ไปพบเกจิชื่อดังเมืองไทยด้วยท่านหนึ่งแต่ท่านนึกชื่อไม่ออกบอกว่าตอนนั้นพระรูปนั้นไปสร้างวัดที่มาเลเชีย ท่านธุดงค์ไปทางใต้อยุ่ประมาณสองสามครั้ง แต่ข้ามไปมาเลย์แค่สองครั้ง ท่านลงไปทางนั้นได้เหล็กไหลติดกลับมาส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้มอบให้เขาไปหมดแล้ว บ้างก็ให้ฟรีบ้างก็มาขอบูชาบ้าง ส่วนตัวท่านให้ความสนใจในเหล็กไหลเป็นพิเศษ
ธุดงค์ขึ้นเหนือท่านลัดเลาะไปกับสหายธรรมท่องเที่ยวธรรมชาติไปเรื่อยท่านชอบแสวงหาความสงบไปเรื่อย ท่านบอกก่อนนั้นก็เริ่มแถวๆเราลัดเลาะไปสกล หนองคาย เลย แล้วก็เลาะโขงไปเรื่อยๆจนไปถึงเชียงใหม่โน่นล่ะ ตอนนั้นก็ว่าจะไปกราบหลวงปู่แหวนไปขอเรียนกัมฐาน แต่ท่านมรณาพก่อนหน้าแล้วเลยได้แต่ไปกราบสักการะท่านเท่านั้น หลังจากนั้นก็ท่องเที่ยวไปเรื่อยก็ไปหลายที่มากมายแต่ตอนนี้ลืม มันไปมามากมายแก่แล้วความจำก็ไม่ค่อยดีเหมือนเก่าเจอเกจิต่างๆเยอะแยะจนไม่รู้ใครเป็นใคร มันนึกชื่อไม่ออก มันติดที่ปากนี่แหละ หลวงปู่กล่าว
สรรพวิชาที่โดดเด่นของหลวงปู่ที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมตตา มหานิยม รักษาอาการคนวิกลตกจริต ผีเข้าผีสิง หรือไล่ผีตีปอบนั้น เป็นที่ยอมรับในวงกว้างอย่างมาก ท่านบอกว่าท่านเล่าเรียนกับอาจารย์มาหลายที่ ท่านหนึ่งก็เรียนกับหลวงปู่ที่วัดนาคำ บ้านนาคำ ตำบล น้ำก่ำนี่แหละ ท่านเป็นเกจิอาจารย์ฝั่งลาวมาจำวัดที่นั่นใครๆก็ไปกราบท่านสมัยนั้นท่านเก่งมาก บทมนต์คาถาแปลกๆท่านเยอะมาก หลวงปูบอกว่าไปขอเป็นศิษย์ตั้งหลายหนกว่าท่านจะะรับ และท่านก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับอีกหลวงปู่ท่านหนึ่งเรื่องการทำตะกุดเพิ่มเติมซึ่งขณะนั้นหลวงปู่ท่านนั้นเป็นพระทางอำเภอดงหลวง มีชื่อเสียงเรื่องตะกรุดอย่างมากเช่นกัน ชนิดที่ ทหารนำไปใช้ปืนยิงปืนลองกี่กระบอกก็ไม่ออกซึ่งน่าอัศจรรย์มาก บางครั้งก็จำได้บางครั้งก็ลืมชื่อแต่ละท่านแก่แล้วจำอะไรไม่ค่อยได้
กัมฐาน ที่ปฏิบัติธรรมเหล่าโพนค้อ หลวงปู่ช่วงต้นๆนั้นท่านได้ไปฝึกปฏิบัติกรรมฐานที่ วัดเหล่าโพนค้อ บ้านโพนค้อ กับอาจารย์สอนกัมฐานที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นซึ่งท่านก็จำได้ว่าชือพระอาจารย์ จันลี ท่านไปเข้ากรรมฐานที่นั้น สถานที่ท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์นั้นคล้ายๆเป็นป่าช้า เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมบรรยากาศน่ากลัวมากสำหรับคนทั่วไป แต่กลับไปที่ร่มรื่นสงบกับพระนักปฏิบัติที่ไปฝึกกรรมฐานที่นั่น ความเงียบสงบของที่นี้ในยามค่ำคืนนั้นต้องบอกว่าเต็มไปด้วยสัมภเวสีเร่รอนมากมาย ยามที่นั่งภาวนาอยู่นั้น บางทีก็เห็นเป็นนุ่งขาวหุ่มขาวออกมาบ้าง บ้างก็โผล่จากเสาร์ศาลาบ้าง บ้างก็ทำให้ท่านตกอยู่ในอีกโลกหนึ่งบ้าง บางทีท่านเดินจงกลมอยู่ดีๆ ถูกบิดข้อเท้าอย่างแรงดึงขากลับไปข้างหลังชนิดที่ล้มทั้งยืนร้องโอดโอยเพื่อนนักปฏิบัติต่างละที่นั่งเดินมาดูด้วยความเป็นห่วงก็มี จนอาจารย์จันลี ต้องออกมาเป่ามนต์คลายข้อเท้าหักให้ หลวงปู่ยังจำเหตุการณ์วันนั้นได้อย่างดี เพราะโดนผีแกล้งหนักที่สุดก็หนนั้นล้มหน้าคะมำข้อเท้าแพลงจนปวดทรมาน พออาจารย์จันลีมาดูแหละท่องมนต์พึมพัมๆเป่าใส่ข้อเท้าเท่านั้นล่ะ หายเป็นปลิดทิ้งทีเดียว อาจารย์ จันลี ท่านมีพุทธอาคมสูง ท่าน จึงได้ฉายาว่า “จันลีผีกลัว” บารมีของท่านแม้สถานที่นั้นจะเต็มไปด้วยสิ่งเร้นลับต่างๆที่มองไม่เห็นแต่ท่านก็ดูแลเหล่าลูกศิษย์ได้ไม่มีอันตรายใดๆเกิดขึ้น พระอาจารย์ จันลี ท่านก็เป็นหนึ่งในเกจิผู้เรืองเวทย์ในเขตอำเภอ โคกศรีสุพรรณ จังหวัด สกลนคร ท่านหนึ่งเช่นกันแต่ไม่แน่ชัดว่าท่านเป็นศิษย์สายหลวงปู่มั่นด้วยหรือไม่ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ถูกทิ้งร้างไป และท่านก็เป็นหนึ่งในอาจารย์สอนกรรมฐานสำคัญและสรรพวิชาให้หลวงปู่ บุญโย ขันติโก อีกท่านเช่นกัน
การรักษาไล่ผีตีปอบ ย้อนกลับไปเมื่อสมัยหลวงปู่ยังแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดีหลวงปู่มีชื่อเสียงอย่างมากในการขับไล่ภูตผีต่างๆ ไม่ว่าบ้านใกล้เรือนเคียงหรือจังหวัดอื่นๆยังต้องมาขอพึ่งใบบุญขอให้หลวงปู่ช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยต่างๆ รวมถึงสะเดาะเคราะห์เสียเข็ญทุกร้อนต่างๆก็ต้องมาให้หลวงปู่อาบน้ำมนต์ให้ประจำ เรื่องการตรวจดวงชะตาหลวงปู่ก็ช่วยให้ชาวบ้านได้เป็นที่พึ่งยามทุกข์เนื้อร้อนใจ แม้หลวงปู่จะมีคาถาอาคมช่วยชาวบ้าน แต่หลวงปู่ก็ไม่ได้ถือโอกาสหากินกับความทุกร้อนของคนอื่น ก็แล้วแต่ศรัทธาค่าครูนิดๆหน่อยๆ เรื่องราวต่างๆจึงไม่ใช่การเล่ามาโดยที่ไม่มีมูลแต่อย่างใด ชาวบ้านต่างขนานนามตามที่เห็น “ญาคูยอผีปอบย้าน” ปัจจุบันหลวงปู่ก็ยังคงมีชื่อเสียงทางนี้อยู่เพียงแต่ท่านนั้นเหนื่อยและมีโรคประจำตัวคือชรามากแล้วจึงลดทางนี้เพื่อที่จะได้รักษาธาตุขันธ์และพักผ่อนเพราะท่านเหนื่อย แม้ปัจจุบันท่านจะอายุ94แล้วก็ตามแต่ร่างกายท่ายยังคงแข็งแรงมาก สายตาท่านดีมาก งานจักสานต่างๆท่านยังคงมีสมาธิทำอยู่เช่นเดิมเหมือนที่เคยมา บ้างก็ทำตะกรุดไว้ให้ชาวบ้านที่ต่างการจริงๆไว้นำไปใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
วัตถุมงคลของท่านส่วนใหญ่แล้วท่านจะทำออกมาในรูปตะกรุด ไม่ได้มีให้บูชา ท่านจะทำไว้ให้เฉพาะคนที่เคยไปขอให้ท่านปัดเป่าให้เท่านั้น ก็อาจมีบ้างของค้าขายต่างๆที่ศิษย์ให้ท่านปลุกเสกให้ ประสบการณ์ต่างๆของวัตถุมงคลของท่าน ก็แล้วแต่การนำไปใช้ของศิษย์ แคล้วคลาดปลอดภัย เมตามหานิยม
บูรพาจารย์
-หลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ วัดธาตุมหาชัย
-หลวงปู่สนธ์ คัมภีรญาณ วัดบ้านนาโสก อำเภอ นาแก
-หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กทม.
-หลวงปู่ทองคำ กัลยาโณ
-อาจารย์อื่นๆอีกมากมายหลายท่านที่ทางหลวงปู่เองนึกไม่ออกเพราะผ่านมาหลายสิบปี อีกทั้งปัจจุบันท่านก็ชราภาพความจำก็หลงๆลืมๆไม่เหมือนสมัยหนุ่มๆที่ความจำเป็นเลิศ แต่ก็แปลกอักขระทุกตัวท่านยังจำได้แม่นนัก
หากจะทราบลึกไปอีกกว่านี้ก็ให้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านละแวกนั้นก็จะได้ความไปความมาที่ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะรุ่นปู่รุ่นตาที่ทันสมัยหลวงปู่ทันช่วยปัดเป่าคนนั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ไม่น้อย ซึ่งได้มีโอกาสพูดคุยแล้วเรื่องราวของหลวงปู่บุญยอ ขันติโก น่าสนใจมากทีเดียว “ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น “ หรือสนใจในวัตถุมงคลของหลวงปู่ท่านได้ที่ FACKBOOK หลวงปู่บุญยอ ขันติโก กลุ่มศึกษาแลกเปลี่ยนวัตถุมงคล